วันสถาปนาสภากาชาดไทย

26 เมษายน พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) เป็นวันสถาปนาสภากาชาดไทย

วิกฤตการณ์รศ112-ข้อพิพาท-ฝรั่งเศษ-สยาม

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี

สภากาชาดไทยเดิมเรียก “สภาอุณาโลมแดง” ก่อตั้งขึ้นโดย “ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์” หัวหน้าหญิงไทยสกุลสูงในสมัยนั้น มีภารกิจสำคัญคือ การส่งเวชภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้าและของใช้ให้แก่ทหารในสนามรบในกรณีพิพาทเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในปีนั้น โดยมี “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี” (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง) ทรงเป็น “สภานายิกา” พระองค์แรกแห่งชาติสยาม

 

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี-พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี-พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ความเป็นมาของสภากาชาดไทย

เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) ขณะนั้นเกิดกรณีพิพาทเป็นเหตุให้เกิดการสู้รบกัน เรื่องดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ระหว่างประเทศสยามกับฝรั่งเศส มีทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีองค์การกุศลหลักที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือพยาบาลและบรรเทาทุกข์ “ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์” จึงได้ดำเนินการชักชวน และรวบรวมสตรีอาสาสมัครขึ้น ก่อนจะทำบันทึกกราบบังคมทูล “สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี” (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ

 

 

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ และพระบรมราชานุญาตให้เรี่ยไรได้เงินถึง 443,716 บาท อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทรงเป็น “สภาชนนี” สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง) ทรงเป็น “สภานายิกา” และ “ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์” เป็นเลขานุการิณีสภาอุณาโลมแดง

 

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2449 ได้มีผู้แทนไปร่วมประชุมกาชาดระหว่างประเทศ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อลงนามความตกลงเรื่องการใช้เครื่องหมายกาชาดช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสนามรบ สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “สภากาชาดสยาม” โดยใช้เครื่องหมายกาชาดเป็นสัญลักษณ์นับแต่นั้นมา

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งพระยุพราช) ขณะเสด็จกลับจากศึกษาในประเทศอังกฤษผ่านมาทางประเทศญี่ปุ่น ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงพยาบาลของกาชาดญี่ปุ่น ทรงพระดำริว่าถ้ามีโรงพยาบาลของกาชาดขึ้นในเมืองไทยจะเป็นประโยชน์มาก ภายหลังพระองค์ขึ้นครองราชย์จึงทรงร่วมกับ พระราชภราดาภคินี ทรงบริจาคทรัพย์ รวมกับทุนของสภาอุณาโลมแดงที่มีอยู่ สร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่ดินส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ขนานนามตามพระปรมาภิไธยในพระราชบิดาเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และให้สังกัดสภากาชาดสยามเมื่อ พ.ศ.2457 ในขณะนั้น

สภาอุณาโลมแดง
สภาอุณาโลมแดง

ชื่อ สภาอุณาโลมแดง และ สภากาชาด เรียกปะปนกันตลอดมา เมื่อ พ.ศ.2453 ชื่อเดิมก็สูญไป คงใช้กันแต่ สภากาชาดสยาม หรือ สภากาชาดไทย (ตามการเปลี่ยนชื่อประเทศ) คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ได้รับรอง สภากาชาดไทย เมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2463 ส่วน สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (เดิมคือ สันนิบาตสภากาชาด) รับเข้าเป็นสมาชิก เมื่อ 8 เมษายน พ.ศ.2464

พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย

พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย

พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทยจัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ.2546 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย โดยมีพระราชประสงค์ ให้นำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต (Living Museum) เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ ด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมา ภารกิจหลักของสภาชาดไทย โดยมีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับกาชาดสากล และสภากาชาดไทย ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนภารกิจหน้าที่ด้านต่าง ๆ ตามหลักการกาชาดทั้ง 7 ประการ ซึ่งมุ่งหวังให้พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทยเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเยาวชนควรได้รับการปลูกฝังเรื่องของจิตอาสาและเรื่องของมนุษยธรรมซึ่งเป็นหลักการกาชาดที่สำคัญ


 

https://www.facebook.com/RedCrossFundRaising/

วันสถาปนาสภากาชาดไทย