วิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 อันเป็นรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพอสรุปประวัติโดยย่อดังนี้ (บุญเกื้อ ควรหาวช, 2545, วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี, ม.ป.ป.)
พ.ศ. 2447 เมื่อห้าง บี.กริม ซึ่งเป็นผู้แทนวิทยุและโทรทัศน์เยอรมัน ชื่อ เทเลฟุงเกน ได้นำเครื่องวิทยุโทรเลข เข้ามาตั้งเครื่องรับส่งวิทยุโทรเลขมาสองชุด โดยทดลองในกรุงเทพฯ และเกาะสีชัง หลังจากนั้นทางราชการกองทัพเรือ และกองทัพบกจึงได้นำเครื่องรับส่งวิทยุโทรเลขขนาดเล็ก มาใช้ราชการในเรือรบและในงานสนาม ในปี พ.ศ. 2456 ทางราชการทหารเรือจัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขถาวรขึ้นที่ตำบลศาลาแดงในกรุงเทพฯ สถานีหนึ่ง และที่ชายทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา อีกแห่งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จมาทรงเปิดสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย ที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2470 พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดี กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ในรัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงนำเครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์ขนาดกำลังส่ง 200 วัตต์ มาตั้งที่วังบ้านดอกไม้ ถนนหลวง ในกรุงเทพฯ ทดลองส่งเสียงพูดและเสียงดนตรีกระจายออกไป ทรงเป็นผู้บุกเบิกและริเริ่มให้มีการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 ก็ทรงมอบหมายให้กรมไปรษณีย์โทรเลข ศึกษาถึงลักษณะของวิทยุกระจายเสียงและทดลองรูปแบบที่สมควรจัดตั้งในสยาม โดยได้สั่งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงกำลังส่ง 200 วัตต์ ขนาดความยาวคลื่น 36.42 เมตร ซึ่งเป็นคลื่นสั้นเข้ามา 1 เครื่องทำการทดลองที่กรมไปรษณีย์โทรเลขที่ปากคลองโอ่งอ่าง และเริ่มส่งวิทยุกระจายเสียงอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 ใช้สัญญาณเรียกงานประจำสถานีวิทยุแห่งนี้ว่า “4 พีเจ” ซึ่งพีเจย่อมาจาก “บุรฉัตรไชยากร” อันเป็นพระนามเดิมของสมเด็จกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน
จากนั้นกองช่างวิทยุกรมไปรษณีย์โทรเลขได้ย้ายสถานีจากปากคลองโอ่งอ่าง ไปตั้งที่ศาลาแดงใช้สัญญาณเรียกว่า ” 2 พีเจ” ช่างวิทยุไทยจึงได้ประกอบเครื่องส่งวิทยุใช้เองอีก 1 เครื่อง ส่งกระจายเสียงโดยใช้สัญญาณเรียกขานว่า ” 11 พีเจ ” (อ่านว่า หนึ่ง หนึ่ง พีเจ) ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 ประชาชนเริ่มมีความตื่นเต้นในการฟังวิทยุกระจายเสียงกันมากและมีการสร้างเครื่องรับวิทยุ ที่เรียกว่า เครื่องแร่กันมากขึ้น
ดังนั้น สมเด็จกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน จึงทรงสั่งเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง ขนาด 2.50 กิโลวัตต์ และขนาดคลื่น 300 เมตรจากบริษัท ฟิลลิปเรดิโอ จากประเทศฮอลแลนด์ ราคา 80,000 บาท เข้ามาอีก 1 เครื่อง พร้อมให้ห้างเกียร์สัน ดำเนินการสร้างห้องส่งกระจายเสียง เพื่อตั้งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกในประเทศไทยในชื่อว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” (Radio Bangkok at Phayatai) ตั้งอยู่ในพระราชวังพญาไท บริเวณทุ่งพญาไท (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) นับว่าประเทศไทยเริ่มตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง หลังจากบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษของสหราชอาณาจักรเป็นเวลาเพียง 7 ปี เครื่องส่งวิทยุโทรเลขครั้งนั้นเป็นแบบประกายไฟฟ้า (Spark) ทำคลื่นวิทยุชนิดคลื่นลด สมัยนั้นยังไม่มีหลอดวิทยุ และยังไม่สามารถทำคลื่นวิทยุชนิดคลื่นต่อเนื่องได้
กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ย้ายกิจการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียง จากตึกกรมไปรษณีย์โทรเลข (เก่า) ปากคลองโอ่งอ่าง หน้าวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ไปดำเนินการที่สถานีวิทยุศาลาแดง และเปลี่ยนใช้ความถี่ประมาณ 10,100 กิโลเฮิรตซ์ (ความยาวคลื่น 29.5 เมตร) มีกำลังส่ง 500 วัตต์ ใช้สัญญาณเรียกขานว่า 2 พี.เจ. และได้ประกอบพิธีเปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงถาวรแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 อันเป็นวันที่ระลึกฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ด้วยการถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัสในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร มีใจความว่า “การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษาการค้าขายและการบันเทิง แก่พ่อค้า ประชาชน เพื่อควบคุมการนี้เราได้ให้แก้ไขพระราชบัญญัติดั่งที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ดั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีมาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป”
โดยที่ปรากฏว่า ประชาชนสนใจและนิยมรับฟังวิทยุกระจายเสียงกันมากขึ้น โดยใช้เครื่องรับชนิดแร่ และชนิดหลอดขนาดเล็ก เพียง 2-3 หลอด กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงถาวรขึ้นที่บริเวณทุ่งพญาไท กรุงเทพ ฯ ตัวอาคารเครื่องส่งอยู่ในบริเวณทุ่งนา หน้าโฮเตล พญาไท (เดิมคือพระราชวังพญาไท) ส่วนห้องส่งกระจายเสียงอยู่บนชั้นสองของโฮเตลพญาไท (ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ของกองทัพบก)
ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 ทางรัฐบาลได้สั่งโอนกิจการวิทยุกระจายเสียง จากกรมไปรษณีย์โทรเลข ไปขึ้นอยู่กับสำนักงานโฆษณาการ สำนักนายกรัฐมนตรี (ภายหลังได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมประชาสัมพันธ์) ดังนั้นการจดทะเบียนเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงกับเครื่องขยายเสียง และการดำเนินงานวิทยุกระจายเสียงภายในประเทศ รวมทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพ ฯ ที่พญาไท จึงไปขึ้นอยู่กับสำนักงานโฆษณาการทั้งหมด
ส่วนการส่งวิทยุกระจายเสียงภาคต่างประเทศด้วยความถี่สูงจากสถานีวิทยุกระจายเสียงทดลอง 8 พี.เจ. ที่ศาลาแดง กรุงเทพ ฯ คงโอนไปแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดรายการวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น งานฝ่ายช่างที่เกี่ยวกับห้องส่งกระจายเสียง และเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงยังคงอยู่กับกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข (ต่อมาทางราชการกองทัพบกต้องการสถานที่ ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไทตั้งอยู่ จึงต้องย้ายเครื่องส่งวิทยุของสถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท กลับมารวมอยู่ที่สถานีวิทยุศาลาแดง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ระหว่างการย้ายก็ได้ใช้เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง 7 พี.เจ. กำลัง 10 กิโลวัตต์ ทำงานแทน ภายหลังเมื่อได้โอนกิจการวิทยุกระจายเสียงไปขึ้นกับสำนักงานโฆษณาการ ซึ่งได้เปลี่ยนฐานะมาเป็นกรมโฆษณาการในภายหลังและกรมโฆษณาการหาที่ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงได้ใหม่ที่ ซอยอารี แขวงสามเสนใน กรุงเทพฯ จึงได้ตั้งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ณ ที่แห่งใหม่นี้)
ครั้นเมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพาในต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เป็นผลให้กรุงเทพฯ ถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเสียหาย ต้องอพยพโยกย้ายที่ทำการรัฐบาลหลายแห่ง รวมทั้งสถานีวิทยุศาลาแดงด้วย การทดลองวิทยุกระจายเสียงจึงต้องระงับไป
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2488 ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ทั้ง 2 แห่งคือ โรงจักรไฟฟ้าวัดเลียบ และโรงจักรไฟฟ้าสามเสน ถูกทิ้งระเบิดเสียหายมาก ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ การส่งวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการจึงต้องหยุดไปหลายวัน ด้วยเหตุนี้ กระทรวงคมนาคมจึงมีคำสั่งให้กรมไปรษณีย์โทรเลขรื้อฟื้นการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงขึ้นใหม่ เพื่อสำรองใช้ในส่วนราชการ ในยามที่สถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการไม่อาจส่งวิทยุกระจายเสียงได้
กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้ตั้งสถานีวิทยุทดลอง 1 ป.ณ. ขึ้นที่แผนกช่างวิทยุ ซึ่งย้ายจากสถานีวิทยุศาลาแดง มาอยู่ที่ตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขเก่า เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า หน้าวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ฝั่งพระนคร และส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ด้วยเครื่องส่งขนาดเล็กใช้ความถี่สูง ภายหลังจึงเพิ่มกำลังส่งเป็น 500 วัตต์ ใช้ความถี่ 4,755 กิโลเฮิรตซ์ 7,022 กิโลเฮิรตซ์ 5,955 กิโลเฮิรตซ์ และ 950 กิโลเฮิรตซ์รวม 4 เครื่อง ส่งวิทยุกระจายเสียงพร้อมกันด้วยรายการเดียวกัน
สถานีวิทยุทดลอง 1 ป.ณ ของกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีโทรเลข จึงเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรก ที่ส่งรายการวิทยุกระจายเสียงคู่กับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ของกรมโฆษณาการ
ในปี พ.ศ.2495 ทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนชื่อกรมโฆษณาการ เป็น กรมประชาสัมพันธ์ และได้ขยายงานสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นลำดับ
[quote font_size=”18″ color=”#ffdf42″ bgcolor=”#ed3c3c” bcolor=”#ffdf42″ arrow=”yes”]วัตถุประสงค์ของการสื่อสารทางวิทยุกระจายเสียง การสื่อสารทางวิทยุกระจายเสียงมีวัตถุประสงค์สำคัญ ดังนี้ (Boonta, 2550)[/quote]
[dropcap font=”Arial” color=”#cc0033″]1[/dropcap]เพื่อเสนอข่าวสารการส่งข่าวสารทางวิทยุกระจายเสียงอันได้แก่ การรายงานสถานการณ์ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม ข่าวอาชญากรรม ข่าวการศึกษา ข่าววัฒนธรรม ข่าวสาธารณสุข ข่าวสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ให้ประชาชนทราบ ในปัจจุบันกิจกรรมสำคัญในยุคข้อมูลข่าวสารและยุคโลกาภิวัฒน์ ดังนั้น จึงมีช่วงเวลาเสนอข่าวสารโดยหน่วยงานของรัฐ คือข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 2 ช่วง คือ ประมาณ 7 นาฬิกา และประมาณ 19 นาฬิกา และในทุกต้นชั่วโมงจะมีการรายงานข่าวโดยหน่วยงานภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังมีการรายงานบทรายงานพิเศษเป็นระยะ ๆ
การเสนอข่าวทางวิทยุกระจายเสียงต้องมีผู้รายงานข่าว ผู้เขียนข่าว เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ และเพิ่มเติมผู้ประกาศข่าว เช่นเดียวกับสื่อมวลชนโทรทัศน์
[dropcap font=”Arial” color=”#ffdf42“]2[/dropcap]เพื่อถ่ายทอดความรู้การถ่ายทอดความรู้ทางวิทยุกระจายเสียงถือเป็นวัตถุประสงค์สำคัญอย่างหนึ่งโดยเฉพาะในยุคโลกไร้พรมแดนเช่นในปัจจุบัน ความรู้ที่ถ่ายทอดผ่านวิทยุกระจายเสียงมีทั้งนำเสนอความรู้โดยตรงและโดยอ้อมที่เสนอความรู้โดยตรง อาทิ รายการวิทยุเพื่อการศึกษาของสถาบันต่าง ๆ ซึ่งจัดให้ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น รายการวิทยุของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รายการวิทยุของมหาวิทยาลัยรามคำแหง รายการวิทยุของกรมการศึกษานอกโรงเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายการวิทยุที่ให้ความรู้ทั่วไปที่ให้ความรู้เฉพาะเรื่อง เช่น การซื้อขายหุ้น การซ่องบำรุงรถยนต์ เป็นต้น รายการข่าว ส่วนที่นำเสนอความรู้โดยอ้อม เช่น รายการบันเทิงที่มีสาระความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ สอดแทรกอยู่ในรายการ เป็นต้น
[dropcap font=”Arial” color=”#cc0033″]3[/dropcap]เพื่อให้ความบันเทิงการเสนอรายการทางวิทยุกระจายเสียงเพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้ฟัง แม้จะมิใช่วัตถุประสงค์หลักแต่ก็มีความสำคัญและมีผู้ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าในวัตถุประสงค์อื่น ๆ ทั้งนี้ เพราะผู้ที่ฟังวิทยุกระจายเสียงจะสนใจรายการวิทยุที่ให้ความบันเทิงอย่างมาก รายการบันเทิงจึงมีจัดดำเนินรายการตลอด 24 ชั่วโมง นอกเหนือจากช่วงเวลาข่าวประจำวัน และข่าวต้นชั่วโมง ผู้จัดรายการที่จัดรายการให้ความบันเทิงจึงมีจำนวนมากมีการแข่งขันสูงเพื่อแย่งผู้ฟัง สถานีวิทยุกระจายเสียงบางสถานีให้ความสำคัญต่อรายการประเภทนี้มากจึงจัดสรรเวลาส่วนใหญ่ให้แก่รายการเหล่านี้ รายการที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ฟัง เช่น รายการเพลง รายการเกมส์ ต่าง ๆ รายการสัมภาษณ์นักแสดง รายการละครวิทยุ เป็นต้น
[dropcap font=”Arial” color=”#ff9900″]4[/dropcap]เพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์การโฆษณาขายสินค้าและบริการ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์องค์กรต่าง ๆ โดยผ่านสื่อมวลชนวิทยุกระจายเสียง กระทำได้อย่างรวดเร็ว เผยแพร่ข้อมูลได้ถึงผู้ฟังจำนวนมาก แต่เสียค่าใช้จ่ายน้อยเมื่อเทียบกับสื่อมวลชนประเภทอื่น ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ผลิตสินค้า ผู้จัดจำหน่ายสินค้า ผู้ดำเนินธุรกิจด้านบริการ ตลอดจนองค์กรต่าง ๆ เผยแพร่ข้อมูลเพื่อโฆษณาสินค้า และบริการทางวิทยุกระจายเสียง ในช่วงเวลาที่ไม่มีการจัดรายการวิทยุ หรือในช่วงพักขณะดำเนินรายการวิทยุหรือให้ผู้จัดรายการวิทยุพูดข้อความโฆษณาเป็นระยะ ๆ ขณะดำเนินรายการ
จุฑารัตน์ โสดาศรี (ม.ป.ป). เรื่อง : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิทยุและโทรทัศน์ และ. วิวัฒนาการวิทยุและโทรทัศน์ไทย. เข้าถึงได้จาก http://www.prd.go.th/download/article/article_20131031170502.pdf
บุญเกื้อ ควรหาเวช. (2545). การผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงวิทยุศึกษาและวิทยุโรงเรียน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (ม.ป.ป.). วิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย. วันที่สืบค้น 2 กุมภาพันธ์ 2560, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย
Boonta. (2550, 17 ตุลาคม). วัตถุประสงค์ของการสื่อสารทางวิทยุกระจายเสียง [เว็บบล็อก]. http://oknation.nationtv.tv/blog/boonta-education/2007/10/17/entry-2