วันจักรี สำคัญอย่างไร วันจักรี หมายถึง วันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปฐมบรมราชวงศ์จักรี เสด็จกรีฑาทัพถึงพระมหานครทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศ
[quote font_size=”18″ color=”#ffdf42″ bgcolor=”#339933″ bcolor=”#ffdf42″ arrow=”yes”]ประวัติวันจักรี[/quote]
เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1) เสด็จปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงของไทย มาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ (ร.1 – ร.4) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ มา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมสักการะ โดยเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และ พระที่นั่งศิวาลัยปราสาท เป็นต้น
ในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น โปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 4 ( ร.1 – ร.4 ) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ 6 โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่าเป็น “วันจักรี”
[quote font_size=”18″ color=”#ffdf42″ bgcolor=”#339933″ bcolor=”#ffdf42″ arrow=”yes”]พระราชประวัติพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี[/quote]
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1
(พ.ศ. 2325-2352)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระนามเดิม “ทองด้วง” เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระอักษรสุนทรทองดี ซึ่งมีนามเดิมว่า หลวงพินิจอักษร (ทองดี) และพระราชมารดา “หยก”) ทรงพระราชสมภพ เมื่อพ.ศ. 2279 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ ได้สมรสกับธิดาคหบดีบ้านอัมพวา ตำบลบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี ได้กู้อิสรภาพและสร้างกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงพระปรีชาสามารถในการรบจนเป็นที่โปรดปราน นับเป็นขุนพลคู่พระทัยฝ่ายขวา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพในสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกใน พ.ศ. 2319
เมื่อถึง พ.ศ. 2325 เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปราบปรามจนราบคาบ ข้าราชการทั้งหลายจึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ต่อมาโปรดให้สร้างราชธานีใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานคร ทรงย้ายมาประทับในพระนครใหม่ ในปี พ.ศ. 2327 พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ในราชการ ได้แก่ สงครามเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุด คือ สงครามเก้าทัพ ในปี พ.ศ. 2328 การปกครองประเทศทรงจัดแบ่งตามแบบกรุงศรีอยุธยา และโปรดให้ชำระกฎหมายบทต่างๆ ให้ถูกต้องและจารลงสมุดไว้เป็นหลักฐาน 3 ฉบับ ทางด้านศาสนา โปรดให้สังคายนาพะรไตรปิฎก พ.ศ. 2331 และจารฉบับทองประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ พระอารามและพระพุทธรูปต่างๆเป็นอันมาก
ด้านวรรณคดีและศิลปกรรม ทรงฟื้นฟูวรรณคดีไทยซึ่งเสื่อมโทมตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแตกให้กลับคืนดี อีกวาระหนึ่ง ทรงส่งเสริมและอุปถัมภ์กวีในราชสำนัก บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ เช่น บทละคร เรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น งานทางด้านศิลปกรรมนั้นเป็นผลเนื่องมาจากการทรงบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างพระอารามเป็นจำนวนมาก เป็นการเปิดโอกาสให้ช่างฝีมือด้านต่างๆ มีงานทำและได้ผลิตงานฝีมือชิ้นเอกไว้ ปัจจุบันมีวันที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คือ วันที่ระลึกมหาจักรี ได้แก่ วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี จะมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า
[quote font_size=”18″ color=”#ffdf42″ bgcolor=”#339933″ bcolor=”#ffdf42″ arrow=”yes”]ตราราชวงศ์จักรี[/quote]
ชื่อของราชวงศ์จักรีมีที่มาจากบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยกรุง ธนบุรี คำว่า “จักรี” พ้องเสียงกับคำว่า “จักร” และ “ตรี” ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระนารายณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีไว้ 1 สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ตราประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี
“มหาอุณาโลม” ลักษณะกลมรูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ “อุ” อยู่ตรงกลาง (“อุ” มีลักษณะ เป็นม้วนกลม
คล้ายลักษณะพระนามเดิมว่า “ด้วง”) หมายถึง ตาที่สามของพระอศวร ซึ่งถือเป็นปฐมฤกษ์ในการตัั้งพระบรมราชจักรีวงศ์ ล้มด้วยกลีบบัว ซึ่งเป็นพฤกษชาติสิริมงคล ทางพระพุทธศาสนา
ตราประจำรัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี
“ครุฑจับนาค” ลักษณะรูปครุฑจับนาค เนื่องจากพระนามเดิมคือ “ฉิม” ซึ่งตามความหมายของวรรณคดี
ไทย คือ ที่อยู่ของพญาครุฑ
ตราประจำรัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี
“มหาปราสาท” ลักษณะกลม รูปปราสาท เนื่องจากพระนามเดิมคือ “ทับ” ซึ่งหมายถึงที่อยู่หรือเรือน จึงโปรดเกล้าให้สร้างพรลัญจกรเป็นรูปปราสาท
ตราประจำรัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี
“พระมหาพิชัยมงกุฏ” ลักษณะกลมรี รูปพระมหามงกุฏ ตามพระนามเดิมคือ เจ้าฟ้ามงกุฏ อยู่ใน
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มีฉัตรปริวาร ๒ ข้าง มีพาน ๒ ชั้น วางพระแว่นสุริยกานต์ หรือเพชร ข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งวางสมุดตำรา
ตราประจำรัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี
“พระจุลมงกุฏ หรือ พระเกี้ยว” ลักษณะกลมรี มีรูปพระเกี้ยวยอดมีรัศมีประดิษฐานบนพานทอง ๒ ชั้น
เคียงด้วยฉัตรปริวาร ๒ ข้าง ที่ริมขอบทั้ง ๒ ข้าง มีพานทอง ๒ ชั้น วางพระแว่นสุริยกานต์ หรือเพชรข้างหนึ่ง อีก
ข้างหนึ่งวางสมุดตำรา
ตราประจำรัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี
“มหาวชิราวุธ” ลักษณะกลมรี รูปวชิรรวุธ มีรัศมีประดิษฐานบนพานทอง ๒ ชั้น มีฉัตรปริวาน ๒ ข้าง
โดยพระนามของพระองค์นี้ มีความหมาย คือ ศัตราวุธของพระอินทร์
ตราประจำรัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี
“พระไตรศร” ลักษณะกลมรี รูปราวพาดพระแสงศร ๓ องค์ คือ พระแสงศรพรหมศาสตร์, พระแสงศร
อัคนีวาต และพระแสงศรประลัยวาต ( เป็นศรของพระพรหม, พระนารายณ์ และพระอศวร)
ตราประจำรัชกาลที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรี
“รูปพระโพธิสัตว์” ลักษณะทรงกลมกว้าง 7 ซ.ม. ลักษณะประทับบนบัลลังก์ดอกบัวห้อยพระบาท
เหยียบบัวบาน หมายถึง แผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม มีเรือนแก้ว ด้านหลังแท่นรัศมี มีแท่น รองรับตั้ง
ฉัตรบริวาร ๒ ข้าง เป็นสัญลักษณ์ของ ปรมาภิไธยว่า อานันทมหิดล ซึ่งแปลว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน
ตราประจำรัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี
“พระแท่นอัฏทิศ อุทุมพรราชอาสน์” ลักษณะรูปไข่ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระ “อุ” รอบๆ มีรัศมี มีความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน
ตราพระราชลัญจกรนี้ ตั้งแต่ รัชกาลที่ ๖ จนถึงปัจจุบัน สร้างขึ้นเพื่อใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในต้นเอกสารสำคัญส่วนประองค์ ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน
ศิริวรรณ คุ้มโห้. (2546). วันและประเพณีสำคัญ. กรุงเทพฯ: เดอะบุคส์
อุดม เชยกีวงศ์. (2547). ปฏิทินประเพณี 12 เดือน. กรุงเทพฯ: ภูมิปัญญา.
Snook.com. (ม.ป.ป.). วันจักรี 6 เมษายน ประวัติวันจักรี วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ราชวงศ์จักรี. เข้าถึงได้จาก http://event.sanook.com/day/chakriday/
Toy 17 Coffee@Beerbar. (2555, 5 เมษายน). วันจักรี. เข้าถึงได้จาก
http://toy17bars.blogspot.com/2012/04/blog-post_8190.html