วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือราวเดือน กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่พระจันทร์เสวยอาสาหฤกษ์ หากเป็นปีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน วันอาสาฬหบูชา จะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังหรือราวเดือนสิงหาคม อาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า อาสาฬหปุรณมีบูชา แปลว่า การบูชา ในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ (เดือน ๘) ถือเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งในพุทธศาสนาเพราะ เป็นวันแรกที่พระพุทธ เจ้าทรงประการคำสอน ที่เรียกว่า พระพุทธศาสนานี้เอง กล่าวอธิบายโดยย่อมีข้อสังเกต ๓ ประการ ดังนี้

ประการที่ ๑ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ แสดงธรรมครั้งแรกมีชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันมีใจความสำคัญกล่าวถึง อริยสัจ (ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ) คือ ความจริง ของพระอริยะ ซึ่งมีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การแสดงธรรมครั้งนี้ เพื่อโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะและอัสสชิ จึงถือกันว่าเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง ประกาศพระศาสนา
ประการที่ ๒ เป็นวันที่เกิดสังฆรัตน (อริยสงฆสาวก) ในพระพุทธศาสนา ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก พระอริยสงฆองค์แรก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งเมื่อฟังพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรจบแล้ว บังเกิดดวงตาเห็นธรรม ทูลขอออกบวช พระพุทธองค์ประทานอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุรูปแรกใน พระพุทธศาสนา ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา (การบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง หรือพระพุทธเจ้าบวชให้)
ประการที่ ๓ เป็นวันที่พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดครบ ๓ ประการ และเป็นครั้งแรกในโลกเหตุการณ์ในวันอาสาฬหบูชาเกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าของเราตรัสรู้ในวันเพ็ญ วิสาขะแล้วสองเดือน

เข้าพรรษา-อาสาฬหบูชา

ความสำคัญของเหตุการณ์ปฐมเทศนา

ในการแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการ คือ
๑.มัชณิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้มิใช้การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ๒ อย่าง หรือ อย่างหนึ่งอย่างใด คือ

  • การหมกมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่าเป็นการหลง เพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค
  • การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อ้ตตถิลมถานุโยค ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลางซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

  • สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้องเห็นตามที่เป็นจริง
  • สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุดจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
  • สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
  • สัมมากัมมันตะ กระทำขอบ คือ ทำการที่สุจริต
  • สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
  • สัมมาวายามะ พยายามขอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
  • สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
  • สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตใจแน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

๒.อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ คือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่

  • ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้น  มนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า มันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริงต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นไม่ยึดติด
  • สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือ สาเหตุของปัญหา ตัวการของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือก แห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ
  • นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิตดำเนินด้วยการใช้ ปัญญา
  • มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหาอันได้แก่มรรคมีองค์ ๘

ความหมายของอาสาฬหบูชา

วิสาขบูชา-visak-เวียนเทียน-วัดจากแดง-พระประแดง-สมุทรปราการ

อาสาฬหบูชา (อา-สาน-หะ-บู-ชา/อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา)  ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) กับบูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘ หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน ๘ คือ

  • ๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
  • ๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
  • ๓. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
  • ๔. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
  • ๕. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวช เป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนาบาง ทีเรียกวันอาสาฬหบูชา นี้ว่า วันพระสงฆ์ (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)

อาสาฬหบูชาในประเทศไทย

เข้าพรรษา-อาสาฬหบูชา

พิธีวันอาสาฬหบูชาเริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ได้เสนอคณะสังฆมนตรีให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้นอีกหนึ่งวัน คือ วันธรรมจักร (ธัมมจักก์) หรือวันอาสาฬหบูชาด้วยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีลงมติรับหลักการ และให้ถือเป็นหลักปฏิบัติต่อมา เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม (วันที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๐๑ กำหนดระเบียบปฏิบัติทั่วพระราชอาณาจักร และกำหนดว่าทุกวัดก่อนถึงวัน อาสาฬหบูชา ๑ สัปดาห์ ให้เจ้าอาวาสสั่งการทำความสะอาดวัด ปูลาดอาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะ ประดับ ธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถ เวลาเช้าและบ่ายให้มีการฟังธรรมตามปรกติ เวลาค่ำให้ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกัน ที่หน้าพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์สำคัญ จุดธูปเทียน ดอกไม้ ยืนประณมมือ สำรวมจิต พระสงฆ์ นำกล่าวคำบูชา จบแล้วทำประทักษิณ ครั้นแล้วให้ภิกษุสามเณรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัย ทำวัตรค่ำแล้วสวดธรรมจักกัปปวัตนสูตร จบแล้วให้อุบาสก อุบาสิกาทำวัตรค่ำ ต่อจากนั้นให้พระสังฆราช แสดงพระธรรมเทศนาธรรมจักกัปปวัตนสูตร จบแล้วให้พระภิกษุสามเณรสวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรทำนอง สรภัญญะเพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชน ต่อจากนั้นให้โอกาสพุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัย กุศลมีสวดมนต์ สนทนาธรรม บำเพ็ญสมถะ และวิปัสสนา เป็นต้น ตามควรแก่อัธยาศัยให้ใช้เวลาทำพิธี อาสาฬหบูชาไม่เกินเวลา ๒๔.๐๐น จากนั้นมาได้มีการทำพิธีอาสาฬบูชา อย่างกว้างขวางทางราชการได้มี ประกาศใช้ชักธงชาติถวายเป็นพุทธบูชาในวันนี้ด้วย

จุดประสงค์ในการให้จัดงานวันอาสาฬหบูชา

๑. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีความรู้ ความเข้าใจ ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติเพื่อให้พุทธศาสนิกชนมี ทักษะในการคิด และปฏิบัติอย่างถูกต้องเมื่อถึง วันอาสาฬหบูชา
๒. เพื่อให้ทุกคนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันอาสาฬหบูชา
๓. เพื่อให้ทุกคนเกิดศรัทธา ซาบซึ้ง และตระหนักในความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ทางสายกลาง
๔. เพื่อให้ทุกคน เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี รู้หน้าที่ปฏิบัติตนตามแบบชาวพุทธที่รู้หน้าที่ทำได้ถูกต้อง


อ้างอิงจาก:

  • สมบัติ จำปาเงิน.  (๒๕๓๗).  วันสำคัญของเรา.  กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์.
  • Dhammathai.org.  (มปป.).  วันสำคัญทางพุทธศาสนา วันอาสาฬหบูชา.  เข้าถึงได้จาก http://www.dhammathai.org/day/asarahabucha.php

ร่วมทดสอบออนไลน์ ตอบคำถามเกี่ยวกับ วันอาสาฬหบูชา

รับใบ เกียรติบัตรออนไลน์  ดาวน์โหลดได้ทันทีที่การทดสอบเสร็จสิ้น (ตารางค้นหาเกียรติบัตร อยู่ใต้ฟอร์มถามตอบปัญหา ให้ใช้อีเมล์ที่ท่านกรอกในฟอร์ม เพื่อค้นหา) จัดโดย หอสมุด สำนักทรัพยากรสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสยาม

ขอเชิญร่วมกิจกรรม ทำแบบทดสอบรับ เกียรติบัตรออนไลน์ เนื่องใน วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา Asanha Bucha day