การศึกษานอกระบบ (Non-Formal Education) คือ การศึกษาที่จัดให้กับประชาชน ทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดพื้นฐานการศึกษา อาชีพ ประสบการณ์หรือความสนใจ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้เรียนได้รับความรู้ด้านพื้นฐาน ทักษะในการประกอบอาชีพ และและทักษะที่จำเป็นสำหรับความรู้ด้านอื่นๆ เป็นฐานในการดำรงชีวิตการจัดการศึกษานอกระบบ มีความยึดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมายรูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้อง กับวิถีชีวิตและความต้องการของผู้เรียน (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย, ม.ป.ป., น. 4)
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้กำหนดเอาวันที่ 8 กันยายนของทุกปี เป็นวัน International Literacy Day ตามมติของที่ประชุมของรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการจากประเทศทั่วโลก ว่าด้วยการขจัดการไม่รู้หนังสือ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเตหะราน เมื่อปี ค.ศ. 1965 เพื่อเป็นวันที่ระลึกการรู้หนังสือสากล และได้มีหนังสือเชิญชวนประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 โดยได้จัด เรื่อง The World Educational Crisis ซึ่งได้นิยามการศึกษานอกระบบ หมายถึง “การจัดการกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ แต่นอกกรอบของการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ โดยมุ่งบริการให้คนกลุ่มต่างๆ ของประชากร ทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเด็ก” โดยเน้นการเรียนรู้ (Learning) แต่ในปัจจุบันการศึกษานอกระบบคือ กระบวนการจัดการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ทั้งที่เป็นทัศนคติ ทักษะ และความรู้ซึ่งทำได้ยืดหยุ่นกว่าการเรียนในระบบโรงเรียนทั่วไป สมรรถนะที่เกิดจากการศึกษานอกระบบมีตั้งแต่ทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง การทำงานเป็นกลุ่ม การแก้ไข ความขัดแย้งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การเป็นผู้นำ การแก้ปัญหาร่วมกัน การสร้างความเชื่อมั่น ความรับผิดชอบและความมีวินัย การศึกษานอกระบบยุคใหม่จึงเน้นการเรียนรู้และสมรรถนะ (Learning and Competency) (จรวยพร ธรณินทร์, 2550, อ้างถึงใน อัญชลี ธรรมะวิธีกุล, 2552)
สำหรับในประเทศไทย ประวัติและวิวัฒนาการของการศึกษานอกระบบ และการศึกษาผู้ใหญ่ นั้น มีลักษณะการเรียนการสอนในแบบของ การศึกษานอกระบบโรงเรียน อย่างเห็นได้ ชัดโดยมีแหล่งของความรู้ที่สําคัญ ๆ คือ วัง วัด บ้าน และชุมชน ลักษณะที่เด่น ของการศึกษาไทยอีกประการหนึ่งก็คือ การศึกษาแบบเดิมของไทยเรา อาจกล่าวได้ว่าเป็น การศึกษาอย่างไม่เป็นทางการหรือการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) เพราะว่าเป็นการเรียนรู้อย่างไม่มีแบบแผนแน่นอน และได้รับความรู้คู่ไปกับการทํางานหรือ การปฏิบัติในชีวิตจริงนั้นเอง
ภายหลังจากรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการจัดการศึกษาให้มีลักษณะและรูปแบบสอดคล้องกับประเทศทางตะวันตก สําหรับการศึกษาผู้ใหญ่ได้มีบทบาทสําคัญมากต่อการพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นความสําคัญ ในการรู้หนังสือของประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ ขึ้นเมื่อ วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2483 มีหน้าที่รับผิดชอบดําเนินการจัดการศึกษาผู้ใหญ่ และทําหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย ซึ่งคงจะเห็นได้ ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2483– 2503 ได้มีการพัฒนารูปแบบกิจกรรม และกระบวนการในการดําเนินการทางด้านการศึกษาผู้ใหญ่ หลายประการด้วยกัน ในช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2503-2523 การศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งเดิมมีฐานะเป็นเพียงกองการศึกษาผู้ใหญ่เท่านั้น ก็ได้รับการยกฐานะและประกาศจัดตั้งเป็นกรมการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2522โดยมีนายบรรจง ชูสกุลชาติเป็นอธิบดีคนแรก และมีนายแพทย์บุญสม มาร์ติน เป็นรัฐมนตรีวาการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น (สุวัฒน์ วัฒนวงศ์ , 2529, น. 79)
การศึกษานอกโรงเรียนได้นำปรัชญา “คิดเป็น” มาใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยมุ่งเน้นที่เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคนให้มีความสุข ซึ่งบุคคลสามารถบรรลุถึงเป้าหมายได้ หากสามารถแก้ไขปัญหาและปรับตัว ให้ประสานสมดุลกับสภาพแวดล้อม ดังนั้นการศึกษานอกโรงเรียน เป็นการจัดการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนแต่เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะสนองตอบความต้องการในการเรียนรู้ของประชาชน ได้อย่างทั่วถึง จำเป็นต้องมีการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียน ซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่นมากกว่า สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนได้อย่างหลากหลาย และทั่วถึง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลง ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง รวมทั้งมีความเจริญก้าวหน้า ทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียน โดยทำให้การเรียนรู้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว และแสวงหาได้โดยง่ายสำหรับคนทั่วไป
ประเทศไทยจัดกิจกรรมตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา และในปี 2522 ได้จัดนิทรรศการ “วันการศึกษานอกโรงเรียน” มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนให้ความร่วมมือ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน ได้เห็นความสำคัญของการรู้หนังสือ และการศึกษาตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้ International Literacy Day จึงกลายเป็น “วันการศึกษานอกโรงเรียน ” ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา
[quote arrow=”yes”]หลักการของการศึกษานอกระบบ[/quote]- เน้นความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา การกระจายโอกาสทางการศึกษา ให้ครอบคลุมและทั่วถึง
- ส่งเสริมการจัดการศึกษา อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีความยืดหยุ่นในเรื่องกฎเกณฑ์ ระเบียบต่าง ๆ
- จัดการศึกษาให้สนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ให้เรียนรู้ในสิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิต
- จัดการศึกษาหลากหลายรูปแบบ คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ผู้สอนมิได้จำกัดเฉพาะครู อาจจะเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงาน หรือจากท้องถิ่น
สนุก! กูรู. (2556). วันการศึกษานอกโรงเรียน. เข้าถึงได้จาก https://guru.sanook.com/4366/
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. (ม.ป.ป.). คัมภีร์ กศน. กรุงเทพฯ: หน่วยศึกษานิเทศก์. เข้าถึงได้จาก http://dl.kids-d.org/bitstream/handle/123456789/2456/onie-ebook-general-0000006.pdf?sequence=1
สุวัฒน์ วัฒนวงศ์. (2529). การศึกษานอกระบบโรงเรียน. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.
อัญชลี ธรรมะวิธีกุล. (2552). การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non-formal Education). เข้าถึงได้จาก https://www.myhora.com/ปฏิทิน/วันการประมง.aspx
เว็บไซต์ International Literacy Day