วันสันติภาพสากล (International Day of Peace หรือ World Peace Day) ตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี จัดขึ้นเพื่ออุทิศแก่สันติภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราศจากสงคราม
ความหมายของสันติภาพ
สันติภาพ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 กล่าวถึง ความหมายของสันติภาพไว้ดังนี้“สันติภาพ” หมายถึง ความสงบ เช่น โลกต้องการสันติภาพ จงร่วมมือกันรักษาสันติภาพของโลก (ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, น.1206)
คําว่า สันติภาพ มีความหมายทั้งในเชิงปฏิเสธ และยืนยันในความหมายปฏิเสธ สันติภาพไม่เพียงแต่หมายถึงสภาวะที่ไม่มีสงครามและความขัดแย้ง แต่ยังหมายถึงสภาวะที่ไม่มีความรุนแรง ในโครงสร้างสังคม เช่น ความอยุติธรรม ความไม่เสมอภาคในสังคมการละเมิดสิทธิมนุษยชนการทําลายความสมดุลย์ทางนิเวศวิทยา ในความหมายเชิงยืนยันสันติภาพหมายถึงสภาวะที่มี ความสามัคคีปรองดองเสรีภาพ และความยุติธรรม
ดังนั้นคําว่า สันติภาพ จึงหมายรวมถึงสภาวะที่ไม่มีความขัดแย้งเข้ากับสภาวะที่มีความสามัคคี หากผู้สร้างสันติภาพไม่เห็นพ้องต้องกันในคําจํากัดความอันครอบคลุมทั้งสองประเด็นนี้ พวกเขาจะไม่สามารถร่วมระดมสรรพกําลังเพื่อการเสริมสร้างสันติภาพ ขณะที่ผู้รักสันติภาพจากประเทศพัฒนาแล้ว หมกมุ่นกับภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ และให้ความสําคัญเป็นอันดับหนึ่งแก่ปัญหาการแข่งขันอาวุธ ผู้รักสันติภาพจากประเทศกําลังพัฒนา กลับให้ความสนใจปัญหาความอดอยากหิวโหย ความอยุติธรรมในสังคมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้จะไม่มีจุดเน้นต่างกันเช่นนี้ ผู้สร้างสันติภาพ จากทุกประเทศก็สามารถจับมือกันสร้างสันติภาพได้ ถ้าหากเข้าใจดีว่า สันติภาพ มิได้หมายเพียงสาวะที่ไม่มีสงคราม และความรุนแรงในโครงสร้าง แต่ยังหมายถึงสภาวะที่มีความสามัคคีและความยุติธรรม (พระมหาประยูร ธมฺมจิตฺโต (มีฤกษ์), 2532, น.17-19)
องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 21 กันยายนของทุกปี เป็น “วันสันติภาพโลก” (International Day of Peace)
โดยมุ่งเน้นให้มนุษยชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีสันติในทุกภูมิภาค โดยมีหลักการปฎิบัติ ดังนี้
1. เคารพชีวิต และศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล โดยไม่แบ่งชนชั้น หรืออคติ
2. ไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน
3. แบ่งปันกับผู้อื่นอย่างมีน้ำใจ เพื่อขจัดการแบ่งแยก ความไม่ยุติธรรม และการกดขี่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ
4. รับฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อกัน เคารพเสรีภาพในการแสดงออก และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
5. จิตสำนึกต่อผู้ร่วมโลก ดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบ และเคารพต่อทุกชีวิตในโลก เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติบนผืนโลก
6. มุ่งเจรจาสมานฉันท์ เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย และให้โอกาสทุกฝ่ายมีส่วนร่วม อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสตรี
ในการเริ่มวันดังกล่าว มีการเคาะ “ระฆังสันติภาพ” ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระฆังนั้นถูกหล่อขึ้นจากเหรียญที่รับบริจาคมาจากเด็กทั่วโลก มันถือเป็นของขวัญโดยสมาคมสหประชาชาติแห่งญี่ปุ่น และถูกกล่าวถึงว่าเป็น เครื่องเตือนใจมนุษย์ถึงความร้ายแรงของสงคราม มีข้อความ Long live absolute world peace. ขอความยั่งยืนจงมีแด่สันติภาพอันแท้จริง จารึกอยู่ด้านข้างของระฆัง
สัญลักษณ์ของสันติภาพ
ภาพของนกพิราบคาบกิ่งมะกอก ถือเป็นสัญลักษณ์สากลของสันติภาพ เนื่องจากชาวตะวันตกเชื่อว่านกพิราบเป็นวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ตามพระคัมภีร์ไบเบิล และยังเป็นสัญลักษณ์ของนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งแสดงถึงวิชาชีพสื่อสารมวลชน เพราะนกพิราบมีความสามารถในการจดจำเส้นทาง ได้อย่างแม่นยำ ผู้คนจึงใช้นกพิราบในการสื่อสาร ส่วนกิ่งมะกอกเป็นสิ่งที่ชาวกรีกโบราณ ใช้ในพิธีสำคัญ เป็นมงกุฎสวมให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง และมอบให้ผู้ชนะในการแข่งกีฬาโอลิมปิก อีกด้วย
กระปุกดอทคอม. (2552). 21 กันยายน วันสันติภาพโลก โปรดงดความรุนแรง. เข้าถึงได้จาก https://hilight.kapook.com/view/40940
พระมหาประยูร ธมฺมจิตฺโต (มีฤกษ์). (2532). พุทธวิธีสร้างสันติภาพ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ. เข้าถึงได้จาก https://www.watprayoon.com/main.php?url=book_view&id=55
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ: ผู้แต่ง.
ศรีเพ็ญ ศุภพิทยากุล. (บ.ก.). มนุษย์กับสันติภาพ. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.