๒๔ กันยายน วันมหิดล เพื่อระลึกถึงวันคล้ายวันทิวงคตของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันไทย” นอกจากนี้ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ (UNESCO)
พระประวัติ
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระลูกยาเธอ เจ้าฟ้า มหิดลอดุลยเดชฯ ประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๕ ณ พระบรมมหาราชวัง เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และองค์ที่ ๗ ในสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ทรงเข้าพิธีโสกันต์เมื่อพระชันษาได้ ๑๓ พรรษา และทรงได้รับการสถาปนาขี้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๗ และลาผนวชเมื่อ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๗ และทรงเสด็จไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ณ โรงเรียนกินนอนแฮร์โรว์ เมื่อ ทรงศึกษาจบ จึงเสด็จไปศึกษาต่อที่ Royal Prussian Military College เมืองโพสต์แดม ประเทศเยอรมนี ต่อจากนั้นทรงย้ายไป ศึกษาต่อที่ Imperial German Navsl College Flensburg และทรงจบการศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๕๔ โดยทรงสอบไล่ได้อันดับที่ ๒ นอกจากนั้นยังทรงชนะการประกวดออกแบบเรือดำน้ำอีกด้วย
หลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาในวิชาทหารเรือ ทรงเสด็จนิวัติกลับประเทศ ทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือประจำ กรมเสนาธิการทหารเรือ ในตำแหน่ง นายเรือตรี นายเรือโท และนาวาเอก หลังจากนั้นทรงลาออกจากราชการทหารเรือ เพื่อศึกษาต่อในวิชาการแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ ทรงเดินทางไปศึกษาต่อวิชาเตรียมแพทย์ที่ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อจากนั้นในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาสาธารณสุขและปรีคลินิกบางส่วนที่ School of Health Office Harvard University and the Massachusetts Institute of Technology ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ เสด็จนิวัติกลับประเทศอีกครั้งเนื่องในงาน พระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ระหว่างประทับอยู่ในประเทศไทยทรงเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเตรียมแพทย์ แผนกอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อีกทั้งทรงนิพนธ์หนังสือชื่อ Tuberculosis เพื่อจัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หลังจากนั้นจึงเสด็จกลับไปศึกษาจน สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ทรงได้รับประกาศนียบัตร C.P.H แล้วจึงเสด็จประพาสยุโรป ในระหว่างนั้นกระทรวงธรรมการได้ มอบอำนาจให้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ที่ทรงมีความรู้ความชำนาญในวิชาการแพทย์มากกว่าผู้ใด ทรงเจรจาขอความช่วย เหลือจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ในการขยายและปรับปรุงงานด้านการศึกษาวิชาแพทย์ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ให้ความช่วยเหลือโดย การส่งอาจารย์แพทย์จำนวน ๖ ท่าน และมอบเงินเพื่อจัดสร้างตึกในโรงพยาบาลศิริราชเป็นจำนวนเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท อีกทั้ง มอบทุนให้กับแพทย์เพื่อศึกษาต่อในต่างประเทศอีกด้วย
ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ทรงเดินทางไปศึกษาต่อที่ Edinburg Scotland University แต่ทรงประชวรจึงต้องเดินทางกลับ ในระหว่างนั้นทรงเข้ารับราชการ ทรงมีส่วนร่วมในการพิจารณา แก้ไขพระราชบัญญัติการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อนประกาศเป็นพระราชบัญญัติแพทย์ฉบับแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ทรงเข้าร่วมอบรมแพทย์ สาธารณสุขมณฑล โดยทรงสอนวิชาปฏิบัติการสุขาภิบาลทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งทรงพระนิพนธ์ตำราอีกเล่มหนึ่งที่ เกี่ยวกับการสุขาภิบาล คือ วิธีการปฏิบัติสุขาภิบาล และในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ได้เสด็จไปศึกษาต่อในวิชากุมารเวชศาสตร์
ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และทรงสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๗๑ ทรงได้รับปริญญา Doctor of Medicine (M.D.) ด้วยระดับ เกียรตินิยมชั้น Cum Laude นอกจากนี้ยังทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสมาคมเกียรตินิยมทางการศึกษาแพทย์ Alpha Omega Alpha ทรงนิวัติกลับประเทศไทย ทรงเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลแมคคอมิค จ.เชียงใหม่ และทรงช่วยเหลือ โรงพยาบาลศิริราชในเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ และโรงเรียนพยาบาล เมื่อทรงเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการวชิรพยาบาล ทรงดัดแปลงโรงพยาบาลวชิรพยาบาลเป็นโรงพยาบาลสำหรับการคลอดลูก และเป็นศูนย์อบรมพยาบาลผดุงครรภ์ พยาบาล สังคมสงเคราะห์ และหมอตำแย เพื่อให้การคลอดบุตรมีความทันสมัยและปลอดภัยมากขึ้น
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาล ตะละภัฎ ต่อมาได้รับ การสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๓ ณ วังสระปทุม มีพระราช โอรสและพระราชธิดารวม ๓ พระองค์
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมันนี
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ประชวรด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) ประชวรนานถึง ๔ เดือน ทางคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาแต่อาการไม่ดีขึ้น ทำให้เกิดโรคพระอาการบวมน้ำ ในพระปัปผาสะแทรกซ้อน และพระหทัยวายในที่สุด และเสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๒
พระราชนิพนธ์สำคัญทางการแพทย์
- โรคทูเบอร์คูโลสิส พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ จอมพลสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พ.ศ. ๒๔๖๓
- วิธีปฏิบัติการสุขาภิบาล ทรงแสดงในการอบรมแพทย์สาธารณสุข พ.ศ. ๒๔๖๗
- Diphyllobothrium Latum in Massachusetts A Report of Two Indigenous Cases:, JAMA: 90: 1607-1608, May 19, 1928
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ ศ.นพ.กษาณ จาติกวนิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ได้เสนอให้ศิริราชมีการจำหน่ายธง “วันมหิดล” เพื่อให้ประชาชนทุกฐานะมีส่วนเกื้อกูลผู้ป่วยยากไร้ของ โรงพยาบาลศิริราช ในปีแรกมีการจำหน่ายธงขนาดกลาง ราคา ๑๐ บาท และธงเล็กทำด้วยริบบิ้น ราคา ๑ บาท นักศึกษาทุกหมู่เหล่าในวิทยาเขตศิริราช ได้ช่วยกันออกไปจำหน่าย ซึ่งรายได้ทั้งหมดนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ การรักษาพยาบาลและเครื่องอำนวยความสุขแก่ผู้ป่วยยากไร้
ปัจจุบัน กิจกรรมการทำธงวันมหิดลเพื่อมอบแก่ผู้บริจาคช่วยผู้ป่วยมีประชาชนหลายหมู่เหล่ามาร่วมบริจาคตามศรัทธา นับเป็นการปลูกฝังนิสัยการเป็นผู้ให้และผู้เสียสละให้แก่นักศึกษา ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างพลังสามัคคี และพลังกตัญญูกตเวทีในหมู่ประชากรไทยอีกด้วย
กิจกรรมของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสยาม
นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นำโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์บุญเจือ ธรณินทร์(รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา) คณาจารย์ และนักศึกษาแพทย์ เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา ณ ลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนก โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 เพื่อระลึกถึงวันคล้ายวันทิวงคตของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันไทย
วันอังคารที่ 24 กันยายน 2562 เวลา 8:00-13:00 น. ขอเชิญชวนบุคลากรของมหาวิทยาลัยสยาม และประชาชนทั่วไปรับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ในโครงการบริการวิชาการร่วมของคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และโรงพยาบาลธนบุรี “สยามรักษ์สุขภาพ” เนื่องในวันมหิดล ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 19 ชั้น 1
- เพจกิจกรรม สยามรักษ์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสยาม https://www.facebook.com/medicinesiamuniversity/posts/2627570440599143
- ศิริวรรณ คุ้มโห้. (๒๕๔๖). วันและประเพณีสำคัญ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เดอะบุคส์.
- วันมหิดล ๒๔ กันยายน. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก http://www1.si.mahidol.ac.th/mahidolday/node/3