แนวคิดการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง สู่องค์ความรู้ที่ยั่งยืน

แนวคิดการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง สู่องค์ความรู้ที่ยั่งยืน Self-Learning Development to Sustainable Knowledge Concept ในปัจจุบันนี้มีการตื่นตัวเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning ซึ่งจะเน้นทางด้านให้ผู้เรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ แต่เมื่อผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะการเรียนรู้แล้วไม่ได้มีเป้าหมายว่า เรียนรู้ไปแล้วเอาไปทำอะไรหรือมีความรู้ไปแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร ก็จะทำให้ไม่เกิดผลที่ได้จากทักษะการเรียนรู้นั้น ดังนั้นถ้ามีกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนสามารถคิดต่อไปได้ว่า  ถ้าตนเองมีทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองแล้วจะนำไปประยุกต์กับสิ่งใดบ้าง น่าจะทำให้ผู้เรียน มีเป้าหมายที่จะพัฒนาตัวเองด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสม

แนวคิดการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองสู่องค์ความรู้ที่ยั่งยืน

แผนภาพกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองตามความเหมาะสม

จากแผนภาพนั้น จะมีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน แต่ก่อนอื่นขอให้มีความเข้าใจก่อนว่า ผู้คนทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ล้วนมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะมีจุดเด่น จุดด้อยที่แตกต่างกัน ดังนั้นอยากให้เข้าใจตรงกันว่า คนในโลกนี้ไม่มีใครเก่งกว่าใคร ไม่มี่ใครดีกว่าใคร ไม่มีใครเหนือกว่าใคร โดยต้องการให้มองว่า ทุกคนเป็นคนเหมือนๆกัน เกิดมาจากรูปแบบเดียวกัน แต่มีวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้ทุกคนที่ต้องตายเหมือนกันแต่ลักษณะการตายจะมีความแตกต่างกัน ส่วนที่กล่าวว่า ไม่มีใครเก่งกว่าใครนั้น มีใครสามารถบอกได้ไหมว่า ตนเองเก่งที่สุดเหนือกว่าใครๆ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนนั้น ไม่สามารถเก่งไปหมดทุกเรื่อง บางคนย่อมเชี่ยวชาญหรือชำนาญบางอย่าง แต่ไม่สามารถทำบางอย่างได้ ถ้าบอกว่า นักฟุตบอลกับนักว่ายน้ำ ใครเก่งกว่ากัน จึงไม่สามารถบอกได้ แม้กระทั่งบอกว่าใครดีกว่ากัน ยังไม่สามารถบอกได้ ตามที่เห็นในสังคมปัจจุบันทั่วไป บางคนนั้นทำไม่ดีกับคนส่วนใหญ่ แต่ทำไมยังมีคนบางกลุ่มว่าคนๆนั้นยังเป็นคนดี  เป็นต้น

เริ่มจากในส่วนของ พื้นฐานของชีวิต หรือ บางแห่งเรียกว่า ทุนชีวิต (Basis of Life) ซึ่งจะมองว่าเป็นภาพรวมของผู้ที่ยังไม่รู้จักตนเอง (Self-Unknown Person) สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจตนเองนี้จะมีความสับสนว่าคนเราเกิดมาทำไม แล้วจะมีการดำเนินชีวิตอย่างไร ต้องมีการพัฒนาตนเองไปทำไม ทำแล้วได้อะไร ยังมีอะไรที่ควรทำอีกในชีวิตนี้  จะเป็นลักษณะที่ยังไม่เจอในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งตั้งแต่เกิดมาจะอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อม (Environment) ที่หล่อหลอมกลายเป็นตัวตนในปัจจุบัน แต่ในความจริงนั้น ถ้าเราสามารถกะเทาะสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว ก็จะพบตัวตนที่แท้จริงที่อยู่ในตัวเรา โดยการแยกสารประกอบที่จะได้ตัวตนที่แท้จริงนั้นมีอยู่ 4 องค์ประกอบ คือ

  1. ครอบครัว (Family)
  2. ชุมชน (Community)
  3. การศึกษา (Education)
  4. เพื่อน (Friend)

ดังนั้น พื้นฐานครอบครัวจะเป็นสิ่งที่สำคัญตั้งแต่เกิดที่จะปิดกั้นหรือส่งเสริมจุดเด่นในตัวของผู้ต้องการค้นพบตนเอง จึงจำเป็นต้องกะเทาะออกมาเป็นอันดับแรก เนื่องจากได้รับการปลูกฝังความคิดเหมือนกับ Embed System ต่อมาจะเกี่ยวกับชุมชนที่อยู่ตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ชุมชนที่เอื้ออาธร กับชุมชนที่แก่งแย่งประโยชน์ ก็ย่อมส่งผลต่อผู้ที่ต้องการค้นพบตัวเอง เช่นเดียวกัน จึงต้องกะเทาะในส่วนชุมชนออกมา จึงจะได้ตัวตนที่แท้จริงเช่นเดียวกัน จากนั้น เมื่อผ่านการศึกษา (Education) จากโรงเรียนไปสู่สถาบันการศึกษาต่างๆ ย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งครู ทั้งการบริหาร ทั้งหลักสูตร ทั้งรูปแบบการถ่ายทอด ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญให้ตัวตนที่แท้จริงนั้น ได้รับการผสมผสานหรือบิดเบือนไปอย่างมาก ซึ่งบางครั้งทำให้ห่างไกลจากความเป็นตัวตนของตัวเอง จนคิดว่า สิ่งที่ได้รับจากการศึกษานั้น เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่จริงๆแล้วนั้น ผู้เรียนถูกซึมซับโดยไม่รู้ตัวว่า การศึกษาต่างหากที่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียนนั้นเชื่อว่าเกิดมาเพื่อสิ่งนั้น

ดังนั้นจึงควรกะเทาะการศึกษาและปัจจัยต่างๆในการศึกษาออก ก็จะหาตัวเองเจอ แล้วสิ่งสุดท้ายคือเพื่อน (Friend) เป็นอีกอย่างที่จะต้องกะเทาะออกมา โดยเพื่อนนั้นก็ไม่สามารถบอกได้ เพื่อนคนไหนดีหรือไม่ดี เก่งหรือไม่เก่ง เนื่องจาก บางคนบอกว่าคนนี้เก่ง แต่อีกคนบอกว่าไม่เห็นเก่งเลย เช่นเดียวกัน เพื่อนที่ดีกับเพื่อนที่ไม่ดี ย่อมไม่สามารถที่จะทราบได้อย่างแท้จริง จึงต้องกะเทาะเพื่อน แล้วจะค้นพบตัวตนที่แท้จริง

ในส่วนต่อไป จะเป็นการค้นหาข้อเท็จจริงของผู้ต้องการค้นพบตนเอง ซึ่งจะต้องมีผู้จุดประกายที่ให้เกิดการเรียนรู้ในการพัฒนาตัวเองได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะขอเรียกว่า “Enlightener” โดยที่ผู้จุดประกายหรือ Enlightener นี้ ไม่ได้เป็นผู้รู้ ผู้ประเมินหรือผู้ตัดสิน ว่าใครเก่งใครไม่เก่ง ใครดีใครไม่ดี แต่เป็นผู้ที่ใช้ข้อเท็จจริง(Big Data) ของผู้ที่ต้องการค้นพบตนเอง มาหาช่องทางที่เหมาะสมในการนำไปใช้พัฒนาตนเองให้ได้ทักษะการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ โดยผู้จุดประกายนั้นจะต้องเริ่มจากการใช้สติ ในการรวบรวมข้อเท็จจริงที่ได้จากพื้นฐานชีวิตของผู้ที่ต้องการค้นพบตัวเองทั้งหมด ซึ่งจะเป็น Big Data ของแต่ละบุคคล แล้วทำการกะเทาะสารประกอบทั้ง 4 องค์ประกอบออก ให้เหลือตัวตนที่แท้จริง เพื่อนำไปจำแนกช่องทางการพัฒนาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล โดยสิ่งที่จะนำไปใช้ในการจำแนกช่องทางนั้นประกอบด้วย

  1.  ความคิดในการพัฒนาตนเอง (Self-Development Thinking)
  2.  ทักษะการเรียนรู้ (Learning Skill)
  3.  การค้นพบจุดแข็ง (Strength Finder)

ซึ่งจะนำสิ่งทั้ง 3 นี้ ไปสร้างรูปแบบในการพัฒนาให้เกิดความเหมาะสม โดยในส่วนนี้จะมีบางกรณีที่เกิดการผิดพลาดของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ให้ไม่ถูกต้อง หรือข้อมูลที่ได้ไม่ครบ จนนำไปสู่การไม่สามารถหาข้อเท็จจริงได้ จึงทำให้ไม่สามารถที่จะจำแนกช่องทางได้อย่างเหมาะสม (Ignore)

ส่วนสุดท้ายนั้น จะเป็นช่องทางในการพัฒนาการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลให้ได้อย่างเหมาะสม  ซึ่งจะขอเรียกว่า การเข้า “CAMT” โดยจำแนกรูปแบบออกเป็น 4 รูปแบบคือ

  • C หมายถึง Coaching หรือใช้การโค้ชในการพัฒนาผู้ที่ต้องการค้นพบตนเอง เหมาะกับผู้ที่มีความต้องการพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง อีกทั้งมีเป้าหมายในการเรียนรู้ของตนเองอย่างชัดเจน
  • A หมายถึง Advising หรือการให้คำปรึกษาผู้ที่ต้องการค้นพบตนเอง เหมาะกับผู้ที่มีความต้องการพัฒนาตนเอง แต่ยังไม่ทราบทิศทางว่าจะเป็นทางไหนดี จึงต้องมีการให้คำปรึกษาแนะนำ แล้วเกิดการตกผลึกทางความคิด แล้วนำไปใช้ได้
  • M หมายถึง Motivating หรือการสร้างแรงกระตุ้นผู้ที่ต้องการค้นพบตนเอง เหมาะกับผู้มีเป้าหมายที่ต้องการอย่างชัดเจน แต่ขาดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง จึงจำเป็นต้องการแรงกระตุ้นจากภายนอก ให้เกิดการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา จนถึงจุดที่ไม่ต้องใช้การกระตุ้นจากภายนอกแล้ว แต่สามารถกระตุ้นตนเองจากภายในได้ ซึ่งส่วนใหญ่กว่าจะกระตุ้นตนเองได้ ต้องพบกับความสูญเสียก่อน ถึงจะคิดได้
  • T หมายถึง Teaching หรือการสอนผู้ที่ต้องการค้นพบตนเอง เหมาะกับผู้ที่ยังไม่ต้องการพัฒนาตนเอง อีกทั้งยังไม่มีเป้าหมายในชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริง จึงทำได้แค่ให้ความรู้ที่มีความหลากหลายมากพอที่จะทราบว่า ต้องการอะไรกันแน่ อีกทั้งศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เป็นตัวอย่างที่อาจจะเกิดแรงกระตุ้น ที่อยากทำบ้าง ทำให้ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ต้องมีการปรับทัศนคติ ในการสร้างคุณค่าในตนเองก่อนเป็นสิ่งสำคัญ

สรุปแนวคิดการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง สู่องค์ความรู้ที่ยั่งยืน ที่กล่าวมานั้น จะประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากด้านต่างๆ มาประกอบกันหรือเป็นทีมงานในการที่จะพัฒนาใครสักคน ให้สามารถมีการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ให้เกิดองค์ความรู้ต่างๆได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่สอนให้รู้จักแล้วให้ผู้เรียนนั้น ไปฝึกปฏิบัติกันเอง ดังนั้นผู้ที่ต้องการพัฒนาบุคคลใดก็ตาม ให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองไปสู่องค์ความรู้ที่ยั่งยืน ต้องมีความรับผิดชอบ ในการพัฒนาผู้ที่ต้องการค้นพบตนเอง ให้ตลอดรอดฝั่งจนสามารถทำให้ผู้นั้น ได้ค้นพบตนเองอย่างเหมาะสม และให้มีการนำไปใช้ได้อย่างแท้จริง


สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ที่ komdech.boo@siam.edu

แนวคิดการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง สู่องค์ความรู้ที่ยั่งยืน