วันสงกรานต์

วันสงกรานต์ (Songkran day) ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี คนไทยได้ยึดถือประเพณีอันดีงามสืบต่อกันมาแต่ โบราณกาล ปกติวันสงกรานต์จะมี 3 วัน คือ เริ่มวันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายน วันแรกคือวันที่ 13 เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ 14 เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที่ 0 องศา) วันที่ 15 เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริงๆ มีถึง 4 วัน คือวันที่ 13-16 เป็นวันเนาเสีย 2 วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉยๆ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราว จะเห็นได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ. 2483 ทางราชการจึงได้เปลี่ยนไหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับ หลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนก็ยังยึดถือว่า วันสงกรานต์มีความสำคัญ

วันสงกรานต์

[quote font_size=”18″ color=”#f3e49a” bgcolor=”#776302″ bcolor=”#f3e49a” arrow=”yes”]วันสงกรานต์ ในปีพุทธศักราช 2561/จุลศักราช 1380[/quote]

ปีจอ (ปีที่ 11 ของรอบปีนักษัตร (ผีเสื้อผู้หญิง ธาตุดิน) มีสัญลักษณ์เป็นหมา)
สัมฤทธิศก (ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข 0)
จันทรคติ (รูปแบบการใช้ปฏิทินรูปโดยใช้ดิถีของดวงจันทร์เพื่อบอกข้างขึ้นข้างแรมบอกเดือน) เป็น อธิกมาส (8 สองหน) ปกติวาร (ปีที่วันเป็นปกติ มีเดือนคู่ ข้างขึ้น 15 วัน ข้างแรม 15 วัน และมีเดือนคี่ ข้างขึ้น 15 วัน ข้างแรม 14 วัน)
สุริยคติ (ปฏิทินที่สอดคล้องกับฤดูกาลและเดคลิเนชันของดวงอาทิตย์) เป็น ปกติสุรทิน (ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน)
วันมหาสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2561 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 14 เมษายน เวลา 9 นาฬิกา 1 นาที 48 วินาที
จันทรคติ ตรงกับ วันเสาร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนห้า (๕) ปีจอ
นางสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2561 นามว่า นางมโหธรเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาทรงจักร หัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จยืน มาเหนือหลังมยุรา(นกยุง) เป็นพาหนะ
เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีพุทธศักราช 2561
พุธ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า
เกณฑ์ธาราธิคุณ ปีพุทธศักราช 2561 ชื่อ เตโช(ธาตุไฟ) น้ำน้อย อากาศยังร้อน
เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีพุทธศักราช 2561 ปีจอ นาคราชให้น้ำ 7 ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีน้อย กลางปีงาม แต่ปลายปีจะมากแล ฯ
เกณฑ์ธัญญาหาร ปีพุทธศักราช 2561 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในนา จะได้ 10 ส่วน เสียเพียงส่วนเดียว ธัญญาหาร มังสาหารบริบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะอยู่เย็นเป็นสุข ฯ
วันเถลิงศก ปีพุทธศักราช 2561 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 16 เมษายน เวลา 12 นาฬิกา 59 นาที 24 วินาที
จันทรคติ ตรงกับ วันจันทร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีจอ

วันสงกรานต์ ประเพณีไทย
สงกรานต์ เป็นประเพณีของประเทศไทย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึง การผ่าน หรือ การเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี…
วันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจนโดยใช้ “น้ำ”เป็นสื่อในการสัมพันธไมตรี

[quote font_size=”18″ color=”#f3e49a” bgcolor=”#776302″ bcolor=”#f3e49a” arrow=”yes”]ความหมายวันมหาสงกรานต์ของแต่ละวัน[/quote]

ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันอาทิตย์ ปีนั้นไร่นาเรือกสวน เผือกมัน มิสู้แพงแล
วันจันทร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้เสนาบดี ท้าวพระยาและนางพระยาทั้งหลาย
วันอังคารและวันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงและโจรผู้ร้าย และจะเจ็บไข้นักแล
วันพุธ เป็นวันมหาสงกรานต์ ว่าท้าวพระยาจะได้เครื่องบรรณาการมาแต่ต่างเมือง แต่จะแพ้ลูกอ่อนนักแล
วันพฤหัสบดี เป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้ข้าไท พระสงฆ์ราชาคณะจะได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจกันแล
วันศุกร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าวน้ำ ลูกหมากรากไม้ทั้งหลายจะอุดม แต่จะแพ้เด็ก ฝนและพายุชุม จะเจ็บตากันมากนักแล

ชื่อของนางสงกรานต์
ชื่อของนางสงกรานต์มี ดังนี้ วันอาทิตย์ ชื่อนางทุงษะเทวี วันจันทร์ชื่อนางโคราคะเทวี วันอังคารชื่อนางรากษสเทวี วันพุธชื่อนางมณฑาเทวี วันพฤหัสชื่อนางกิริณีเทวี วันศุกร์ชื่อนางกิมิทาเทวี วันเสาร์ชื่อนางมโหธรเทวี

ตำนานนางสงกรานต์
ธรรมบาลกุมาร-วันสงกรานต์บุตรของเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้ที่รู้ภาษานก เรียนไตรเพทจบ เมื่ออายุเจ็ดขวบ เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ซึ่งในขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่ง ผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบ จึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ สัญญาไว้ว่า ถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นว่า
ท้าวกบิลพรหมทรงตรัสถามปัญหา 3 ข้อ
ข้อ 1. เช้าราศีอยู่แห่งใด
ข้อ 2. เที่ยงราศีอยู่แห่งใด
ข้อ 3. ค่ำราศีอยู่แห่งใด

ธรรมบาลกุมาร-วันสงกรานต์ธรรมบาลขอผลัด 7 วัน ครั้นล่วงไปได้ 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้ จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้ง เวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่า ปัญหานั้นอย่างไรสามีจึงบอกว่า ปัญหาว่าเช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามว่า จะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้าครั้งรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถามปัญหา ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา

วันสงกรานต์

ท้าวกบิลพรหมจึงตรัส เรียกเทพธิดาทั้ง 7 อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน บอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาล ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งไว้ในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง

ธิดาทั้งเจ็ดเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้ แล้วแห่ทำประทักษิณ รอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที จากนั้นเชิญไปประดิษฐานไว้ในมณฆปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ พระเวสสุกรรมกันฤมิตรแก้วเจ็ดประการชื่อ ภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงนำเอาเถาฉมุลาด ลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ พระองค์ ครั้งถึงครบกำหนด 365 วัน โลกสมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์นางเทพธิดาเจ็ดองค์ ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ซึ่งลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมนั้น

นางสงกรานต์ มีชื่อต่าง ๆ ดังนี้ วันอาทิตย์ ชื่อนางทุงษะเทวี วันจันทร์ชื่อนางโคราคะเทวี วันอังคารชื่อนางรากษสเทวี วันพุธชื่อนางมณฑาเทวี วันพฤหัสชื่อนางกิริณีเทวี วันศุกร์ชื่อนางกิมิทาเทวี วันเสาร์ชื่อนางมโหธรเทวี

[quote font_size=”18″ color=”#f3e49a” bgcolor=”#776302″ bcolor=”#f3e49a” arrow=”yes”]ความสำคัญของวันสงกรานต์[/quote]

วันสงกรานต์พิธีสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่ยึดถือปฏิบัติ มาแต่โบราณช่วงวัน สงกรานต์จึงเป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพัน ที่มีต่อกันทั้งครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสนา แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อส่วนนั้นไปและ ในความเชื่อดั้งเดิมที่ใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น และขอพรจาก บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย รวมทั้งแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้

การสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ได้แก่ การร่วมกันทำบุญให้ทาน การก่อพระเจดีย์ทรายและเป็น การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การเล่นสาดน้ำเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงร่วมกัน นอกจากนี้ ยังสร้างความรู้สึกผูก พันกลมเกลียวต่อบุคคลในสังคมเดียวกัน และสร้างความรู้สึกหวงแหนในสาธารณสมบัติของสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยการช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ตลอดจนอาคารสถานที่สถานที่ต่างๆ

ยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนได้มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ๆ และจะถือเอาวันสงกรานต์เป็นวัน “กลับบ้าน” ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายขอเทศกาล นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยัง ถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ปัจจุบันนี้เทศกาลสงกรานต์มีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาด เคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นเท่านั้น

วันสงกรานต์

กิจกรรมในวันมหาสงกรานต์

  • ทำบุญตักบาตร

วันมหาสงกรานต์ ประชาชนจะลุกขึ้นมาตอนเช้าเพื่อที่จะจัดเตรียมอาหาร ไปตักบาตรถวายพระ พอจัดเตรียมอาหารเสร็จก็จะ บรรจงลงภาชนะมีถ้วยโถโอชามที่สวยงาม แล้วเอาวางเรียงลงในถาด เพื่อนำไปทำบุญตักบาตรและเลี้ยงพระประจำหมู่บ้านของตน เรื่องการแต่งตัว จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สะอาดสวยงามมิดชิดเหมาะแก่การไปวัดของชาวบ้าน

  • ก่อพระเจดีย์ทราย

ในสมัยก่อนทีเรื่องเล่าขานกันว่าทุกคนเมื่อเข้าวัดมาแล้วเวลาเดินออกจากวัดจะมีเม็ดทรายติดเท้าออกไปด้วยเพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการเติมเต็มจึงมีการขนทรายเข้าวัดหรือการก่อพระเจดีย์ทรายนั้นเองแต่ถึงอย่างไรแล้วการก่อพระเจดีย์ทรายก็เป็นเพียงกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกันทำเพราะตอนเย็นๆชาวบ้านก็จะพากันไปที่ท่าน้ำแล้วขนทรายกันมาคนละถังเพื่อนำทรายมาก่อเป็นพระเจดีย์นั่นถือว่าเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่จะให้ชาวบ้านมีความสามัคคีกรมเกลียวเพราะเมื่อขนทรายเข้าวัดแล้วทรายก็จะล้นวัดพระสงฆ์ก็จะนำทรายที่ชาวบ้านขนมานำไปคืนสู่แม่น้ำดังเดิมเพราะไม่รู้จะเก็บไว้ทำอะไรเพราะฉะนั้นแล้วเวลาขนทรายเข้าวัดควรจะขนเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้นพอเพราะจะสร้างความลำบากให้พระเณรในภายหลัง

  • ปล่อยนกปล่อยปลา

การปล่อยนกปล่อยปลาในวันมหาสงกรานต์ถือว่าทำกันอาจจะเป็นประเพณีเลยทีเดียวเพราะนั่นถือว่าเมื่อเข้าวัดมาแล้วก็ต้องทำบุญโดยการปล่อยนกปล่อยปลาถ้าถือตามความเชื่อแล้วอานิสงส์ในการปล่อยนกปล่อยปลาถือว่ามีมากเลยทีเดียวแล้วแต่ใครจะอธิฐานแบบไหนเพราะการให้ชีวิตใหม่แก่สัตว์ที่ถูกจับมาทรมานถือว่าได้บุญมากเลยทีเดียวเพราะฉะนั้นไม่แปลกเลยถ้าถึงวันสงกรานต์จะเห็นประชาชนปล่อยนกปล่อยปลา

  • สรงน้ำ รดน้ำ และสาดน้ำ

การสรงน้ำพระพุทธรูป มีดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชา แล้วเอาน้ำอบไปประพรมที่องค์พระ ทำเป็นสังเขปพอเป็นพิธีว่าได้แสดงความเคารพบูชาและสรงน้ำท่านในวันขึ้นปีใหม่แล้ว เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปมา ก็มีการแห่แหนกันอย่างสนุกสนาน สรงน้ำพระพุทธรูปแล้วก็มีการสรงน้ำพระสงฆ์ โดยมากมักเป็นสมภารเจ้าวัดเป็นการสรงน้ำจริงๆ สรงเสร็จครองไตรจีวรใหม่ที่อุบาสกอุบาสิกานำมาถวาย ท่านก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์อำนวยพรปีใหม่ให้แก่ผู้ที่ไปสรงน้ำ นอกจากนี้ยังมีการ รดน้ำญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรตามประเพณี

ม.สยาม+มหาวิทยาลัยสยาม+siam university-logo+ห้องสมุด


กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.  (2561).  ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๖๑.  เข้าถึงได้จาก http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=2865&filename=index

ศิริวรรณ คุ้มโห้.  (2546).  วันและประเพณีสำคัญ.  กรุงเทพฯ: เดอะบุคส์.

อุดม เชยกีวงศ์.  (2547).  ปฏิทินประเพณี 12 เดือน.  กรุงเทพฯ: ภูมิปัญญา.

วันสงกรานต์