ปัจจุบันนี้ ประชาคมโลกได้ให้ความสำคัญกับโรคมะเร็งมากขึ้นและถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรทำความรู้จักเนื่องจากในแต่ละปีมะเร็งได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกในอัตราที่สูงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงภัยร้ายจากโรคมะเร็ง รวมถึงรณรงค์ให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเอง โดยในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันที่องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากลกำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day)
หลังจากพบว่ามะเร็งคือแชมป์อันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปถึงปีละ 8,200,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีคนอายุระหว่าง 30-69 ปี ถึง 4 ล้านคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร สะท้อนถึงแนวโน้มการเกิดโรคมากขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงาน อันสืบเนื่องมาจากวิถีการดำเนินชีวิตยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต การรณรงค์ให้ประชาชนทั่วทั้งโลกได้ตระหนักถึงสถานการณ์ความรุนแรงของโรคมะเร็ง และสร้างความร่วมมื่อเพื่อบรรเทาปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง
สำหรับในประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันหลายสิบปี โดยจากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้ถึงปีละกว่า 67,000 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยราว 120,000 คนต่อปี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปกติผู้คนที่รับทราบข่าวสารมักจะได้ยินข่าวพบเพศหญิงป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากกว่าเพศชาย แต่จากผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยโรคมะเร็งอังกฤษเผยผลการศึกษาอัตราการเสียชีิวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ถึง 70%
- โรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชายคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- ส่วนมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิงไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้งเพศชายและหญิงเพิ่มมากขึ้น จากพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่เปลี่ยนไปตามกระแสทางตะวันตก กินไขมันสูง ไม่กินผักและผลไม้ และขาดการออกกำลังกาย
[quote arrow=”yes”]ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง[/quote]
แม้การเกิดโรคมะเร็งจะมีสาเหตุที่ไม่แน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการอาจสร้างสภาวะที่เหมาะสมกับสำหรับการเกิดโรคมะเร็ง และทำให้มะเร็งสามารถเกิดและเติบโตในร่างกายได้ ระบบภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง (เช่น เป็นโรคเอดส์และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง) ทำให้มีโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ได้มากมาย และโรคที่ร้ายแรงที่สุดก็คือโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องอายุ ซึ่งคนไข้โรคมะเร็งส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปี ส่วนปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ การรับประทานอาหารสำเร็จรูปมากเกินไป (และรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ) การสูบบุหรี่ และการสัมผัสแสงอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน
ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งได้แก่ ภาวะอ้วน (ซึ่งมักเกิดจากการไม่ออกกำลังกาย) การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการมีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคมะเร็ง ส่วนการเพิ่มจำนวนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยสารพิษอาจไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก เพราะหน่วยงานราชการส่วนใหญ่กำหนดให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ห่างไกลจากชุมชนอยู่แล้ว
ผู้คนหวังกันว่า โปรแกรมสร้างความตระหนัก การบรรยาย การชุมนุม การจัดงานสัมมนาและค่ายต่าง ๆ ทั่วโลก อาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
นอกจากนี้ยังมีความหวังว่าการรักษาโรคมะเร็งแบบการแพทย์ทางเลือกที่สามารถใช้ทดแทนการรักษาแผนปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ การใช้ยาเคมีบำบัด การทำรังสีรักษา และการผ่าตัด (ซึ่งมีผลข้างเคียงมากมาย) จะได้รับการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รู้จัก และใช้วิธีเหล่านี้ในการรักษามะเร็ง ซึ่งจะทำให้สามารถรักษาสุขภาพของร่างกายโดยรวมได้ด้วย
[quote arrow=”yes”]เอกสารอ้างอิง[/quote]
คลินิกเวอริต้า ไลฟ์. (2559). วันมะเร็งโลก. เข้าถึงได้จาก https://veritalife.com/th/วันมะเร็งโลก/
สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2561). สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เน้นความสำคัญ 4 กุมภาพันธ์ “วันมะเร็งโลก”. เข้าถึงได้จาก http://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=106683
Kapook.com. (ม.ป.ป.). 4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก. เข้าถึงได้จาก https://health.kapook.com/view55942.html