การประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างผู้นำสองเกาหลี 27 เม.ย. 2561
การประชุมสุดยอดที่สองผู้นำจะได้พบพูดคุยกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และคาดว่าน่าจะเป็นการปูทางไปสู่สันติภาพได้ในที่สุด และอาจรวมถึงการรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวในคาบสมุทรเกาหลี เริ่มจากผู้นำทั้งสองพบกันเป็นการส่วนตัวที่บริเวณชายแดนเกาหลีเหนือและใต้ในเวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 07.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยมีทหารกองเกียรติยศนำผู้นำประเทศทั้งสองคนไปยังพิธีต้อนรับซึ่งจัดเตรียมที่ลานภายในหมู่บ้านปันมุนจอม เส้นแบ่งชายแดน และเป็นเขตปลอดทหาร นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เดินข้ามพรมแดนเกาหลี ตรงจุดเส้นแบ่งพรมแดนเขตปลอดทหาร โดยมีประธานาธิบดีมูน แจ อิน ของเกาหลีใต้ ให้การต้อนรับ จากนั้นทั้งสองได้เดินเข้าสู่การหารืออย่างเป็นทางการในเวลา 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น (หรือเวลา 08.30 น.ในไทย) ที่อาคารสันติภาพ (Peace House) ก่อนหน้าการเจรจาระดับสูงสุดครั้งนี้ เคยเป็นข่าวล่าสุด เมื่อสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐว่า ไมค์ ปอมเปโอ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) เดินทางไปคุยกับประธานาธิบดี คิมจองอึน แห่งเกาหลีเหนือ ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมจัดการเจรจาระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังการประชุมสุดยอดครั้งนี้(พ.ค. 2561) เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต
สรุปความร่วมมือของผู้นำทั้งเกาหลีเหนือและใต้
- ทั้งสองประเทศประกาศร่วมกันว่าจะร่วมมือกันทำงาน เพื่อให้การลงนามสนธิสัญญาสันติภาพเกิดขึ้นให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 65 ที่ทั้งสองชาติยุติการสู้รบกัน
- หลังการประชุมนายคิม ประกาศว่าไม่มีเหตุผลอันใดที่เกาหลีเหนือและใต้จะสู้รบกันอีกต่อไป ซึ่งดูจะเป็นการย้ำให้เห็นว่าเกาหลีเหนือต้องการอยู่อย่างสันติ เขายังกล่าวด้วยว่าทั้งสองชาติควรเป็นหนึ่งเดียว อย่างไรก็ดี นายคิม ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องการพัฒนาทางอาวุธของเกาหลีเหนือ
- ด้านนายมุน กล่าวว่า เขาและนายคิมให้คำมั่นที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไปจากคาบสมุทรเกาหลี
- ทั้งสองได้ลงนามในข้อตกลง ซึ่งจะยินยอมให้ครอบครัวที่พลัดพรากจากกัน ได้มีโอกาสพบหน้ากันอีกครั้ง รวมทั้งจะมีการก่อสร้างถนน และทางรถไฟข้ามพรมแดนระหว่างกันด้วย
ท่าทีของประเทศมหาอำนาจที่มีต่อการเจรจาสันติภาพครั้งสำคัญนี้
- โฆษกจีนออกแถลงการ กล่าวยกย่องความร่วมมือกันในครั้งนี้ว่าเป็นความกล้าหาญ และตั้งใจจริงของผู้นำทั้งสองที่ก่อให้เกิดก้าวย่างทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ และจีนหวังว่าการประชุมสุดยอดจะเป็นจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่ความมั่นคงในระยะยาวในคาบสมุทรเกาหลี
- นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประเทศซึ่งเคยถูกเกาหลีเหนือข่มขู่ว่าจะทำลายด้วยอาวุธนิวเคลียร์ กล่าวเช่นกันว่าเป็นความคืบหน้าในทางบวก และหวังว่าเกาหลีเหนือจะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สิ่งที่รับปากไว้เกิดผล
- นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ไปเยือนจีนเมื่อ พ.ย. 2560 เพื่อพูดคุยถึงมาตรการกดดันทางการค้าต่อเกาหลีเหนืออย่างเข้มงวด กล่าวทวิตข้อความว่าสิ่งดี ๆ กำลังเกิดขึ้น และเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และกล่าวขอบคุณความช่วยเหลือจากเพื่อนที่ดีของเขาอย่างนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน
ประเทศไทยได้เข้าไปมีบทบาทในสงครามที่แยกคาบสมุทรเกาหลีเป็นสองประเทศอย่างเป็นทางการ
โดยเข้าร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติ ภารกิจ เพื่อปกป้องมิให้คาบสมุทรเกาหลี ตกอยู่ใต้การปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ ในปี ค.ศ 1950 เป็นปีที่สงครามระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ปะทุขึ้น เป็นสงครามที่เรียกว่า “สงครามตัวแทน” ของระหว่างโลกประชาธิปไตย คือ สหรัฐอเมริกากับพันธมิตรที่สนับสนุนเกาหลีใต้ และโลกคอมมิวนิสต์ คือ จีนกับรัสเซียที่สนับสนุนเกาหลีเหนือ
หลังจากญี่ปุ่นแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง คาบสมุทรเกาหลีซึ่งญี่ปุ่นเข้าครองก็ถูกแบ่งเป็นสองส่วน รัสเซียดูแลดินแดนเหนือเส้นขนานที่ 38 และสหรัฐฯดูแลดินแดนที่อยู่ใต้ลงไป การเจรจารวมชาติที่ล้มเหลวทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้น เกาหลีเหนือที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ตัดสินใจยกทัพข้ามเส้นขนานมายึดครองเกาหลีใต้ในปี 1950 คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติมีมติให้มีปฏิบัติการผลักดันเกาหลีเหนือออกไป ขณะนั้นสหภาพโซเวียตกำลังคว่ำบาตรคณะมนตรีความมั่นคงฯ เพื่อประท้วงการที่ไต้หวันได้เป็นตัวแทนจีนในสหประชาชาติ จึงไม่สามารถคัดค้านมตินี้ได้
การระดมกำลังทหารของประเทศสมาชิกสหประชาชาติจึงเกิดขึ้น ประกอบด้วย 21 ชาติ นำโดยสหรัฐฯ ส่วนประเทศไทยภายใต้การนำของจอมพลป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก็ตอบรับเข้าร่วมสงครามเพื่อช่วยเกาหลีใต้ เดินทางไปเกาหลีด้วยเรือสินค้าต่างชาติที่รัฐบาลเช่า ถึงท่าเรือที่ปูซาน และเดินทางขึ้นเหนือไปเสริมกำลังที่กรุงเปียงยาง ซึ่งสถานะการณ์ในขณะนั้นกองกำลังสหประชาชาติสามารถ เข้าไปยึดกรุงเปียงยางได้ แต่ไม่นานก็ต้องถอยออกมา เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังผสมราวสองแสนคนที่ถูกส่งมาเพื่อยึดกรุงเปียงยางคืน และมาตั้งมั่นอยู่ที่เนิน 255 หรือ พอร์คช็อป ฮิลล์ ซึ่งเป็นชัยภูมิที่หมายปองของทั้งกองกำลังสหประชาชาติและจีน/เกาหลีเหนือ เพราะเป็นจุดคุมเส้นทางหลักที่จะเจาะเข้าเมืองชอร์วอน ที่ปัจจุบันอยู่เขตปลอดทหาร
ทหารไทยท่ามกลางหิมะโปรยปราย หนาวจัด -20 องศาเซลเซียส ตั้งรับกองกำลังผสมเกาหลีเหนือและจีน ที่บุกมาทุกทิศทุกทาง เริ่มตั้งแต่คืนวันที่ 1 พ.ย.ติดต่อกันไปจนถึงเช้าวันที่ 11 พ.ย. ใช้ทั้งรถถังและกำลังทหารราบ โดยวางแผนให้ขึ้นไปบรรจบกันบนยอดเนิน 255 ซึ่งทหารไทยร้อยกว่าคนบนฐานที่เนินเขาก็ต่อสู้อย่างทรหดติดต่อกันถึง 10 วัน บางครั้งก็ประชิดตัวจนถึงขนาดต้องปะทะกันด้วยดาบปลายปืน ในครั้งนั้นทหารไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น 25 นาย ทหารจีนและเกาหลีเหนือเสียชีวิต 264 นาย ผลจากการรบที่พอร์คช็อป ฮิลล์ มีทหารไทยได้รับเหรียญกล้าหาญระดับลีเยียนออฟเมอริต ดีกรีออฟเลยอนแนร์ 1 นาย คือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 15) และผู้บังคับกองพัน ได้รับเหรียญซิลเวอร์สตาร์ 9 นาย และเหรียญบรอนสตาร์อีก 19 นาย ปัจจุบันเนินเขาแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตประเทศเกาหลีเหนือ
ข้อมูลจาก:
https://edition.cnn.com/2018/04/27/opinions/korea-summit-adam-cathcart-opinion-intl/index.html
http://www.bbc.com/thai/thailand-43911056