- การปกครอง
พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙ และเปิดประชุมสภาผู้แทนในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ นอกจากนี้ยังเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ และทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ ซึ่ง เป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนจนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง เมื่อ พระองค์ทรงทราบเรื่องมีพระราชดำริว่าหากปล่อยความขุ่นข้องบาดหมางไว้เช่นนี้ จะเป็นผลร้ายตลอดไป จึง ทรงตัดสิน พระทัยเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็ง ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ ๔ ชั่วโมง และพระองค์ทรงพระราช ดำเนินด้วยพระบาทเป็นระยะประมาณ ๓ กิโลเมตร การเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็งครั้งนี้จึงเป็นการประสาน รอยร้าวที่เกิดขึ้นให้หมดไป
- การศาสนา
ในการเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกนั้น พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็น พุทธมามกะท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๑ นอกจากนี้ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราช วรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดเทพศิรินทราวาสราช วรวิหาร โดยเฉพาะที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารนั้น พระองค์เคยมีพระราชดำรัสกล่าวว่า “ที่นี่สงบเงียบน่าอยู่จริง” ดังนั้นเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตจึงได้นำพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มา ประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้
พระองค์ยังทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะผนวชในพระพุทธศาสนา โดยได้มีพระราชหัตเลขาถึงสมเด็จ พระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ทรงขอสังฆราชานุเคราะห์ใน การศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนาเพื่อใช้ในการเตรียมพระองค์ในการที่จะอุปสมบท แต่ก็มิได้ผนวชตาม ที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงวัดวาอารามกับพระราชทานพระบรม ราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นตามสมควร
- การศึกษา
ในการเสด็จนิวัติพระนครในครั้งที่ ๒ พระองค์ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศ โดยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียน เทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทรงศึกษาขณะทรงพระเยาว์
นอกจากนี้พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๙ และอีกครั้งที่หอประชุมราช แพทยาลัยศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๙ โดยในการ พระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วย เหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ ๒ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลังจากนั้น ในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ พระองค์ทรงหว่าน ข้าว ณ แปลงสาธิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้าย ก่อนเสด็จสวรรคต ในฐานะเราปวงชนชาวไทย จึงควรรำลึกถึงพระเมตตาธิคุณและมหากรุณาธิคุณ อันเป็นอเนกประการ จึงร่วม ใจ ถือเอาวันที่ ๙ มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันอานันทมหิดล”
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ สมาคมศิษย์เก่าแพทย์ จุฬาลงกรณ์ ได้รวบรวมทุนบริจาคจาก ทุกรุ่นมาจัด สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นไว้หน้าตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงบันดาลให้เกิดคณะแพทย์ศาสตร์ และเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระองค์ท่านสืบไปอีกด้วย
บุษยา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา. (บรรณาธิการ). (๒๕๔๕). พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร. กรุงเทพฯ: ไดเร็ค มีเดียกรุ๊ป (ประเทศไทย).
มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้. (๒๕๕๘). รำลึก ๖๙ ปี วันอานันทมหิดล. เข้าถึงได้จาก https://www.museumsiam.org/da-detail.php?MID=3&CID=16&CONID=180&SCID=126
รักชาวใต้ดอทคอม. (๒๕๕๖). ๙ มิถุนายน วันอานันทมหิดล. เข้าถึงได้จาก http://www.rakchawtai.com/index.php/tips/97-ananda-mahidol
สาวลักษณ์ แสงสุวรรณ. (๒๕๖๐). สมานรอยร้าวไทย-จีน!! ในหลวง ร.๘ และในหลวง ร.๙ เสด็จประพาสสำเพ็ง น้ำพระทัยพระมหากษัตริย์ ๒ รัชกาล ที่คนจีนในสยามมิรู้ลืม. เข้าถึงได้จาก http://www.tnews.co.th/contents/324771
CAMPSUS Star. (๒๕๕๙). ๙ มิถุนายน วันอานันทมหิดล ผู้ให้กำเนิดแพทย์ศาสตร์. เข้าถึงได้จาก https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/26584.html