วันสถาปนากรุงเทพมหานคร 21 เมษายน

21 เมษายน พ.ศ. 2325 วันสถาปนากรุงเทพมหานคร หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกัน จากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วจัดพิธี ยกเสาหลักเมืองที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วขึ้น พร้อมทั้งพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” เป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก มีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้”  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนจาก “…บวรรัตนโกสินทร์…” เป็น “…อมรรัตนโกสินทร์…”

วัดพระแก้ว-กรุงรัตนโกสินทร์

ในปี พ.ศ.2425 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบหนึ่งศตวรรษ หรือ 100 ปี หรือหากนับอย่างปีรัตนโกสินทร์ ก็คือ ร.ศ.100 ในปีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานสมโภชพระนครครบรอบศตวรรษอย่างยิ่งใหญ่ โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดงานแสดงสินค้าแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ณ ท้องสนามหลวง หรือที่เรียกว่า “แนชันนาลเอกษฮีบิชัน” พร้อมกันนี้ ยังทรงให้จัดทำเหรียญที่ระลึก สำหรับพระราชทานให้แก่ผู้ที่นำสินค้าแปลก ๆ มาจัดแสดงในงานสมโภชพระนครด้วย พร้อมกันนั้นทรงมีพระราชประสงค์ให้บูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่เริ่มทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา ให้กลับมาสวยงามดังเดิมพร้อมกับงานฉลองพระนคร โดยพระองค์ได้พระราชทานเหรียญที่ระลึกให้แก่ผู้ที่ร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามจนแล้วเสร็จในครั้งนี้ด้วย

 

 

กรุงเทพมหานคร รัชกาลที่ 5งานเฉลิมฉลองสมโภชพระนครครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2475 เนื่องในสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 150 ปี ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้บูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามตามพระราชประเพณี และได้มีการจัดทำเหรียญที่ระลึกฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี และนำเหรียญดังกล่าวแจกจ่ายให้กับผู้มีจิตศรัทธาที่ร่วมบริจาคบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สะพานพุทธ-

การเฉลิมฉลองงานสมโภชพระนครอมรรัตนโกสินทร์ 150 ปีนั้นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุด คือ การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมจังหวัดพระนครและธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นการขยายพระนคร และช่วยให้การคมนาคมติดต่อกันเป็นไปได้สะดวกขึ้น โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2472 และมีพิธีเปิดในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2475 ซึ่งครั้งนั้นมีการจัดงานมหรสพรื่นเริง เพื่อเฉลิมฉลองการเปิดสะพานต่อเนื่องกันถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน

ศาลหลักเมืองกรุงเทพ-ห้องสมุด-ม.สยาม-library su

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2514 รัฐบาลได้รวม จังหวัดพระนคร และ จังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และในปี 2515 เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ เสาหลักเมืองมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 75 ซม. สูง 27 ซม. แต่ชำรุดจึงสร้างใหม่ในรัชกาลที่ 4 ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์สูง 108 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว ตั้งอยู่ภายในอาคารยอดปรางค์ ภายในศาลหลักเมืองยังมีเทวรูปสำคัญ คือ เทพารักษ์ เจ้าพ่อหอกลอง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อเจตคุปต์ และพระกาฬไชยศรี

สมโภชกรุงรัตนโกสิทร์ 200ปี

ปี พ.ศ.2525 ได้เกิดงานเฉลิมฉลองสมโภชพระนครอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งเป็นปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี หรือสองศตวรรษ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งในปีนั้น ทางราชการได้จัดประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์เป็นครั้งแรก และตั้งชื่อว่า “ตราสัญลักษณ์งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี”

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมทั้งประกอบพระราชพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ พระสยามเทวาธิราช พระเทพารักษ์ และพระราชพิธีสมโภชหลักเมือง เพื่อเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่พระมหานครรัตนโกสินทร์

 


กระปุกดอทคอม.  (ม.ป.ป.).  21 เมษายน พ.ศ.2325 วันสถาปนากรุงเทพมหานคร.  เข้าถึงได้จาก https://hilight.kapook.com/view/70269
ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร.  (2556).  ประวัติการก่อตั้งกรุงเทพมหานคร.  เข้าถึงได้จาก http://203.155.220.230/m.info/bmahistory/
Guru.com.  (2556).  วันสถาปนา กรุงเทพมหานคร.  เข้าถึงได้จาก https://guru.sanook.com/26106/

วันสถาปนากรุงเทพมหานคร Foundation day Bangkok