วันล้างมือโลก 15 ตุลาคม

วันล้างมือโลก 15 ตุลาคม(Global Hand Washing Day) ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม ของทุกปี ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2008 ณ เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น พร้อมกันนี้ได้มีการกำหนดให้ปี 2008 เป็นสากลแห่งการรักษาอนามัยด้วย เพื่อกระตุ้นเตือนให้ชาวโลก เห็นถึงความสำคัญของการล้างมือด้วยสบู่ว่า จะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ รวมถึงต้องการสร้างวัฒนธรรม การล้างมือให้สะอาดถูกสุขอนามัยขึ้นทั่วโลก

วันล้างมือโลก จะช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการล้างมือ สามารถลดโอกาสติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เกือบ 50% โดย องค์การยูนิเซฟ ระบุว่า ในแต่ละปีนั้นมีเด็ก ๆ อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เสียชีวิตจากโรคท้องร่วงถึงเกือบ 2 ล้านคน และจากโรคปอดบวมอีกราว 2 ล้านคน ซึ่งการล้างมือด้วยน้ำกับสบู่อย่างถูกวิธี จะช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ถึง 50% และจากโรคปอดบวมได้อีกราว 25% ดังนั้น หัวใจหลักของ วันล้างมือโลก จึงต้องการมุ่งไปยังกลุ่มเด็กนักเรียน เพื่อหวังจะเพิ่มจำนวนเด็ก ๆ ที่มีนิสัยล้างมือด้วยสบู่ได้มากกว่า 70 ประเทศ (กระปุกดอทคอม, 2553)

hand washing
ภาพก่อนและหลังการล้างมือ จากเว็บไซต์:  https://www.dailymail.co.uk/health/article-3269827/How-clean-hands-answer-revealed-unique-experiment-shock-change-wash.html

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ประชาสัมพันธ์รณรงค์ผ่านสื่อต่าง ๆ และเป็นผู้จัดกิจกรรม วันล้างมือโลก ขึ้นครั้งแรกในวันที่ 15 ตุลาคม ปี 2009 ณ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร โดยรณรงค์ให้คนไทย เห็นความของการล้างมืออย่างถูกวิธี ใส่ใจล้างมือด้วยน้ำและสบู่ และรณรงค์ให้มีอ่างล้างมือในที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน วัด หน่วยงานราชการ ศูนย์การค้า ศูนย์อาหาร ตลาดสด ฯลฯ (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ [สสส.], 2558)

วัตถุประสงค์ของการล้างมือ

  • ลดจำนวนเชื้อโรค
  • ลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้ป่วย
  • ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อระหว่างผู้ป่วย
  • ลดความเสี่ยงในการนำเชื้้อโรคเข้าสู่ตนเอง

ขั้นตอนและวิธีการในการล้างมือที่ถูกต้อง

การล้างมือที่ถูกต้องสามารถป้องกันโรคต่างๆได้ ซึ่งถือเป็นการป้องกันโรคที่ง่าย,ราคาถูก และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยทั่วไปการล้างมือที่ถูกต้อง ประกอบด้วย ขั้นตอนการฟอก และการล้าง 7 ขั้นตอน (วิไลวรรณ จงรักษ์สัตย์, 2540) ดังนี้

7 ขั้นตอนล้างมือให้สะอาด-วันล้างมือโลก

  1. เปิดน้ำราดมือทั้งสองข้าง ฝ่ามือถูกัน
  2. ถูบริเวณหลังมือ
  3. ถูซอกนิ้วด้านหน้าฝ่ามือ
  4. ถูซอกนิ้วด้านหลังฝ่ามือ
  5. ถูบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ
  6. ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบ
  7. ถูรอบข้อมือ

วิธีการล้างมือ 7 ขั้นตอนดังกล่าวมานี้ ในทุกขั้นตอนทำ 5 ครั้ง สลับกันทั้ง 2 ข้าง โดยฟอกถึงข้อมือใช้ระยะเวลาในการฟอกอย่างน้อย 10 -20 วินาที ควรฟอกขัดถูมือด้วยสบู่ให้ทั่วถึงทุกด้านอย่างแรงและเร็วหลังจากนั้นล้างสบู่ด้วยน้ำที่ไหลผ่านตลอด เมื่อล้างเสร็จแล้วควรเช็ดมือด้วยกระดาษเช็ดมือหรือผ้าแห้งสะอาดที่ใช้ 1 ครั้งต่อ 1 ผืน (พิมพรรณ ภู่ปะวะโรทัย, 2537)

[quote font_size=”18″ color=”#ffdf42″ bgcolor=”#339933″ bcolor=”#ffdf42″ arrow=”yes”]กิจกรรมที่ควรล้างมือ ก่อนและหลังเสมอ[/quote] เนื่องจากมือเป็นอวัยวะที่ใช้สัมผัสกับสิ่งของต่างๆ รอบตัว จึงเป็นจุดที่นำพาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย  (วารุณี จิตพิพัฒนไพศาล, 2552) จึงควรปฏิบัติอย่างเป็นกิจวัตร

  • ล้างมือด้วยสบู่ก่อนเตรียม และปรุงอาหาร
  • ควรล้างก่อนรับประทานอาหารอีกครั้ง
  • ล้างมือด้วยวิธีที่ถูกต้องด้วยสบู่ทุกครั้ง หลังหยิบจับสิ่งสกปรก
  • ล้างมือด้วยวิธีที่ถูกต้องด้วยสบู่หลังจับต้องสัตว์ทุกชนิด
  • ล้างมือด้วยวิธีที่ถูกต้องด้วยสบู่ทุกครั้งหลังการขับถ่าย
  • ล้างมือหลังการสัมผัสผู้ป่วย
  • หลังจากกลับจากโรงเรียน ทำงาน และกลับจากทำงานนอกบ้าน ควรล้างมือทันที
[divide icon=”circle” width=”medium”]

ประโยชน์ของการล้างมือ

การล้างมือมีประโยชน์ (วิไลวรรณ จงรักษ์สัตย์, 2540) ดังนี้

  1. การล้างมือทำให้มือสะอาด จะกำจัดสิ่งสกปรกบนผิวหนังออกไปได้
  2. การล้างมือสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ชั่วคราว หรือลดจำนวนแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ประจำที่ผิวหนังบนมือออกไปได้

จะเห็นได้ว่าแม้โรคติดเชื้อจำนวนมากสามารถแพร่กระจายได้ง่ายๆ ด้วยการสัมผัส แต่การล้างมือก็เป็นวิธีการง่ายๆ ที่จะป้องกันการแพร่กระจายของโรคเหล่านี้ ดังนั้นเรื่องการล้างมือควรล้างให้ถูกวิธีและกระทำบ่อยๆ ให้เป็นนิสัย เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของตัวเรา

 


กระปุกดอทคอม.  (2553).  15 ตุลาคม วันล้างมือโลก.  เข้าถึงได้จาก https://health.kapook.com/view17867.html

พิมพรรณ ภู่ปะวะโรทัย.  (2537).  ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการล้างมือของพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยหนักโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่.  วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วารุณี  จิตพิพัฒนไพศาล.  (2552).  ความรู้และการปฏิบัติในการล้างมือของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในตำบลทุ่งงาม อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง.  วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วิไลวรรณ  จงรักษ์สัตย์.  (2540).  ผลของการจูงใจในการล้างมือต่อความรู้และพฤติกรรมการล้างมือของพยาบาลที่ปฏิบัติงานในแผนกสูติกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่.  วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.  (2558).  วันล้างมือโลกใส่ใจความสะอาดปลอดภัย.
เข้าถึงได้จาก http://www.thaihealth.or.th/Content/29588-วันล้างมือโลก%20ใส่ใจความสะอาดปลอดภัย.html

วันล้างมือโลก 15 ตุลาคม