ศ. เจมส์ พี. แอลลิสัน จากมหาวิทยาลัยเทกซัสของสหรัฐฯ และ ศ. ทาซุกุ ฮอนโจ จากมหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่น คือสองนักวิจัยด้านวิทยาภูมิคุ้มกันผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ประจำปีนี้ จากผลงานการค้นพบวิธีรักษามะเร็งแนวใหม่
โดยตั้งแต่ปี 1995 ทั้งคู่ต่างได้มีการค้นพบโปรตีน CTLA-4 และ PD-1 ซึ่งสร้างปัญหาด้วยการทำตัวเป็น “เบรก” หยุดยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็ง ทำให้ต่อมาก็สามารถค้นพบกลไกที่สามารถปลดปล่อย “เบรก” นี้ได้เป็นผลสำเร็จ ช่วยปลดปล่อยห้เซลล์ภูมิคุ้มกัน ที่มีอยู่ในตัวของผู้ป่วย สามารถเข้าหยุดยั้งเซลล์มะเร็งได้ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำมาสู่การคิดค้นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด ซึ่งพบว่าได้ผลดีอย่างยิ่งกับมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงและมะเร็งปอดแม้อยู่ในระยะลุกลาม
ศ. แอลลิสันได้ค้นพบโปรตีน CTLA-4 ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับบนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) ซึ่งโมเลกุลของตัวรับชนิดนี้จะยับยั้งการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกาย
ศ. ฮอนโจได้ค้นพบโปรตีน PD-1 ในช่วงเวลาเดียวกัน
วิธีรักษาโรคมะเร็งดังกล่าวซึ่งเรียกว่า Immune Checkpoint Therapy นับว่าแตกต่างจากวิธีรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันแบบดั้งเดิมที่มุ่งโจมตีเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่วิธีใหม่นี้มุ่งไปจัดการกับโปรตีนบางอย่าง ที่ทำตัวเป็นเสมือน “เบรก” ยับยั้งไม่ให้ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของคนไข้เข้าสังหารเซลล์มะเร็งได้อย่างคล่องตัว
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) และได้มีการอนุมัติให้แอนติบอดีต้านโปรตีน CTLA-4 และ PD-1 เป็นยาเพื่อการทดลองรักษามะเร็งมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว
คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลโนเบลแถลงว่า “วิธีบำบัดแบบใหม่ ที่มุ่งจัดการกับโปรตีนเพี้ยนนี้ ถือเป็นการปฏิวัติวิธีรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเปลี่ยนมุมมองพื้นฐานของเราเรื่องวิธีจัดการกับมะเร็งไปอย่างสิ้นเชิง”