วันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันนักศึกษาวิชาทหาร ซึ่งหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจัดพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนสวนสนามของนักศึกษาวิชาทหารเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของทหารประจำการ ตำรวจ ยุวชนทหาร และราษฏรอาสาสมัครที่ได้ร่วมมือต่อต้านข้าศึกในสงครามมหาเอเชียบูรพา
ความหมาย
นักศึกษาวิชาทหาร หรืออักษรย่อ นศท. คือ บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 เป็นกำลังพลสำรองของกองทัพไทย ภายใต้การควบคุมของ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (อักษรย่อ: รด.)
นักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) หรือนิยมเรียกว่า รด. (ย่อจาก “รักษาดินแดน”) เป็นกำลังสำรองของกองทัพไทยที่ฝึกหัดจากเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ภายใต้การควบคุมของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.)
ประวัติความเป็นมาวันนักศึกษาวิชาทหาร
ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเริ่มมีการฝึกยุวชนทหารเพื่อผลิตทหารกองหนุน สนับสนุนการรบของกองทัพไทย กล่าวได้ว่าการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) มีต้นกำเนิดและแนวคิดมาจากยุวชนทหาร และต่อมา พ.ศ. 2491 กิจการการศึกษาวิชาทหารได้เริ่มต้นขึ้นโดยมีการสถาปนา “กรมการรักษาดินแดน” ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2491 เพื่อดำเนินกิจการดังกล่าว ลงคำสั่งทหารที่ 54/2477 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 โดยแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น (ต่อมาแก้ไขโดย พ.ร.บ.จัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2500)
พ.ศ. 2492 ได้เริ่มรับสมัครนักเรียนซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาตั้งแต่ชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 หรือชั้นปีที่ 1 ของโรงเรียนอาชีพ หรือเป็นนิสิตและนักศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นปีที่ 1 และทำการฝึก นศท.เป็นปีแรก โดยเริ่มในกรุงเทพมหานคร แล้วจึงกระจายไปตามหัวเมืองในต่างจังหวัด โดยดำเนินการฝึกครบทั้ง 5 ชั้นปีในปี 2496
พ.ศ. 2497 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายสำคัญ 2 ฉบับในราชกิจจานุเบกษา คือ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 และ พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ส่งผลให้นักศึกษาหรือนิสิตที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ต้องเข้ารับราชการทหารในฐานะนายทหารสัญญาบัตรต่อไปอีกไม่เกิน 2 ปี จากนั้นให้ปลดเป็น นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน หรือรับราชการในฐานะนายทหารสัญญาบัตรประจำการต่อก็ได้ (ต่อมาได้มีการแก้ไขข้อบังคับฯ เพิ่มเติมส่งผลให้ปลดเป็นนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน) และได้มีพิธีประดับยศเป็นว่าที่ ร้อยตรี สำหรับผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2497
พ.ศ. 2503 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายในราชกิจจานุเบกษา คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 ส่งผลให้ถอนทะเบียนกองประจำการนักศึกษาหรือนิสิต เฉพาะที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 สำหรับนักศึกษาหรือนิสิตซึ่งรับราชการทหารตามมาตรา 7 และ มาตรา 7 ทวิ แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 นั้นให้ปลดเป็นกองหนุนตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร พ.ศ. 2528 ได้เริ่มมีการฝึก นศท.หญิงเป็นครั้งแรก พร้อมกับการฝึกนศท.ชั้นปีที่ 4 ในส่วนของกองทัพเรือ
พ.ศ. 2544 สถาปนาหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง (นสร.) โดยการรวมกิจการของกรมการรักษาดินแดน และกรมการกำลังสำรองทหารบกเข้าด้วยกัน ลงคำสั่ง ทบ.(เฉพาะ) ที่ 63/44 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2544 ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 เปลี่ยนนามหน่วยเป็น หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) แทนชื่อเดิม หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง (นสร.) โดย นรด. มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน กำกับการและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการกำลังสำรองทั้งปวง กิจการสัสดี รวมทั้งปกครองบังคับบัญชาหน่วยทหารที่กระทรวงกลาโหมกำหนด มีผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ การฝึกนศท.จึงได้รับการอำนวยการจากหน่วยงานดังกล่าว
ปัจจุบัน รัฐบาลได้กำหนดวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวัน “นักศึกษาวิชาทหาร” หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจัดพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนสวนสนามของนักศึกษาวิชาทหารเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของ ทหารประจำการ ตำรวจ ยุวชนทหาร และราษฏรอาสาสมัครที่ได้ร่วมมือต่อต้านข้าศึกในสงครามมหาเอเชียบูรพา
ประชาชน ข้าราชการ จะร่วมกันจัดพิธีวางพวงมาลาอนุสาวรีย์วีรไทย (ยุวชนทหาร) บริเวณสะพานท่านางสังข์ ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เพื่อระลึกถึงวีรกรรมยุวชนทหารและผู้บังคับบัญชาที่ได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อปกป้องอธิปไตยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้ประชาชนชาวชุมพรได้รำลึกถึงวีรกรรมผู้กล้าที่ปกป้องและเสียสละต่อบ้านเมือง
สมรภูมิเดือดที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทหารญี่ปุ่นยกพลขั้นที่อ่าวประจวบญี่ปุ่นส่งกองกำลังเข้ายึดพื้นที่ ๓ ทาง คือ ศาลากลางจังหวัด รวมถึงสถานีตำรวจและสถานีรถไฟ แล้วกระจายกำลังไปทั่ว เสียงปืนดังกึกก้อง กำลังพลของทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนตัวเข้าทางด้านอ่าวประจวบ และทางด้านอ่าวมะนาว ยึดพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เกิดการตะลุมบอนต่อสู้กันด้วยดาบปลายปืน ทหารญี่ปุ่นหมายจะยึดกองบินน้อยที่ ๕ เป็นที่มั่น กำลังรบทางภาคพื้นอากาศของฝูงกองบินน้อยที่ ๕ ได้รับคำสั่งให้นำเครื่องบินขึ้นต่อต้านการบุกรุกของญี่ปุ่น และสนับสนุนกำลังรบภาคพื้นดินเมื่อสำรวจความเสียหายหลังการสู้รบ พบว่าฝ่ายไทยมีทหารอากาศเสียชีวิต ๓๘ นาย ตำรวจ ๑ นาย ยุวชนทหาร ๑ นาย และครอบครัวทหาร ๒ คน ในขณะที่กองกำลังผู้รุกรานซึ่งมีความพร้อมและจำนวนมากกว่าเสียชีวิต ๒๑๗ นาย บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมาอีกมากกว่า ๑๐๐ นาย
เป็นอย่างไรบ้าง นี่ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และหากผู้อ่านท่านใดสนใจต้องการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักทรัพยากรสารสนเทศ หรือที่เว็บไซต์ https://e-library.siam.edu ซึ่งทางสำนักฯ เรามีงานวิจัย RH 323.4 น276น 2554/ RH 323.4 อ259น 2554 และรวมถึงวารสารไว้คอยบริการท่านอยู่
- การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ศูนย์โรงเรียนพรเจริญวิทยา 9 -21ก.ค. (2558). เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/media/set/?set=a.913628452009081.1073742015.133937589978175&type=3
- นฤมล รัชนีวงศ์. (2554). นักศึกษาวิชาทหารกับสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโรงเรียนเมืองเชียงราย. เชียงราย: โรงเรียนเมืองเชียงราย.
- ประวัติความเป็นมา-นักศึกษาวิชาทหาร (นศท.). (2560). เข้าถึงได้จาก https://sites.google.com/site/56201coms201/home/prawati-khwam-pen-ma
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2560). นักศึกษาวิชาทหาร. เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/นักศึกษาวิชาทหาร
- สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. (2555). สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ 150 ปี วันประสูติ และครบ 50 ปี บุคลสำคัญของโลก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย.