10 สิงหาคม วันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นตำแหน่งที่มีอยู่คู่กับสังคมและการปกครองของไทย มาอย่างยาวนาน มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอในการรักษาความสงบเรียบร้อย การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน การอำนวยความเป็นธรรม ดูแลความเป็นอยู่ ทุกข์สุขของราษฎร เป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ และปฏิบัติหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดในพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน หัวใจของภารกิจงานกรมการปกครองอยู่ที่อำเภอ และตำบล หมู่บ้าน ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองระดับฐานรากที่เป็นจุดเชื่อมในการยึดโยงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหลอมรวมประชาชนให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ ช่วยเหลือบูรณาการการทำงานร่วมกับส่วนราชการ และทุกฝ่ายในพื้นที่ให้ประสบผลสำเร็จ ดัง พระราชดำรัสแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานในการอบรมกำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 สิงหาคม 2505 (กรมการปกครอง. สำนักบริหารการปกครองท้องที่. ส่วนบริหารงานกำนันผู้ใหญ่บ้าน, ม.ป.ป.)
[divide icon=”circle” width=”medium”] [quote font_size=”18″ color=”#ffdf42″ bgcolor=”#AA7F4C” bcolor=”#ffdf42″ arrow=”yes”]ประวัติกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน[/quote]ท่านเป็นผู้ที่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับราษฎรในท้องที่ของท่านมาอย่างใกล้ชิด ย่อมเข้าถึงจิตใจและความต้องการของเขาเหล่านั้นได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ห่างไกล ราษฎรย่อมจะต้องหวังพึ่งท่านเมืองมีความเดือดร้อน ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึ่งหวังว่าท่านทั้งหลายจะเอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ของเขาให้มาก และทำตัวเองให้เป็นที่พึ่งแก่เขาสมกับที่เขาได้ไว้วางใจเลือกท่านมาเป็นหัวหน้า จงพยายามบำเพ็ญตนให้สมกับตัวอักษร ที่ตราหน้าหมวกเครื่องแบบของท่านที่ว่า “ระงับทุกข์ บำรุงสุข”
ในประวัติศาสตร์สังคมไทย เหล่าบรรพบุรุษกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อยู่คู่กับการปกครองของไทยมายาวนาน เพียงแต่การเรียกชื่อสถาบันนี้แตกต่างกันออกไป นับแต่ยุคสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี
การปกครองแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี และจัตวา ในแต่ละเมืองจะแบ่งเป็นแขวง โดยมีเจ้าเมืองและนายแขวง ดูแล ส่วนในแต่ละแขวงก็จะแบ่งเป็นแคว้น และแต่ละแคว้นแบ่งเป็นบ้าน โดยมีนายแคว้น หรือนายบ้าน เป็นหัวหน้าดูแล (โชคสุข กรกิตติชัย, 2559, น. 1)
ยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การปกครองสมัยสุโขทัยได้นำมาใช้ในตอนต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาได้ปรับปรุงการปกครอง โดยมีการแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองชั้นใน โดยมีผู้ปกครองที่มีบรรดาศักดิ์เป็นผู้รั้งหรือพระยา เมืองแต่ละเมืองจะแบ่งเป็นแขวงโดยมีหมื่นแขวงปกครอง และในระดับแขวงแบ่งเป็น ตำบล ซึ่งก็คือ แคว้นในสมัยสุโขทัย และในแต่ละตำบล ก็แบ่งเป็นบ้าน ผู้ปกครองก็จะเป็นผู้ใหญ่บ้านดูแลและมีบรรดาศักดิ์ “พัน” ซึ่งใช้มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตำแหน่งนายบ้านและนายแคว้นก็เรียกว่า “พัน” โดยทั้งนี้ทั้งนายบ้านและนายแคว้น จะมาจากการแต่งตั้งของเจ้าเมืองหรือผู้รั้ง (โชคสุข กรกิตติชัย, 2559, น. 1)
กำนันผู้ใหญ่บ้าน ยุคปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรก) ทดลองจัดระเบียบการปกครองระดับตำบล หมู่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435 ดังนั้นเพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แก่ราษฎร กระทรวงมหาดไทยจึงได้กำหนดให้วันที่ 10 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน”[divide icon=”circle” width=”medium”]
ภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของฝ่ายปกครอง คือ ภารกิจเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมอย่างยั่งยืน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านนับว่าเป็นบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎรในพื้นที่รับผิดชอบของตนมาอย่างยาวนานนับร้อยปีในการปกครองส่วนภูมิภาค ตามอำนาจหน้าที่ที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2475 มาตรา 27 และมาตรา 28
มาตรา 27 เป็นอำนาจหน้าที่ทั่ว ๆ ไปของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีทั้งสิ้น 19 ข้อ ใน 19 ข้อ เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่การรักษาความสงบเรียบร้อยของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มี 8 ข้อ
- การรักษาความสงบและความสุขสำราญ ช่วยป้องกันความทุกข์ภัยของลูกบ้านตามสมควร และที่สามารถจะทำได้
- ถ้าความทุกข์ภัยเกิดแก่ลูกบ้าน ซึ่งจะต้องขอความป้องกันจากรัฐบาล เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะนำความแจ้งต่อเจ้าพนักงานปกครองตั้งแต่กำนัน นายอำเภอ เป็นต้น ขึ้นไปโดยลำดับ
- เมื่อเห็นเหตุการณ์แปลกประหลาดมีผู้คนล้มตายและมีโรคภัยไข้เจ็บก็ให้รายงานไปยังกำนันและอำเภอต่อไป
- เมื่อมีคนจรแปลกหน้านอกสำมะโนครัวหมู่บ้านนั้นเข้ามาอาศัย เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านจะต้องไต่ถาม
- เมื่อมีเหตุจลาจล ฆ่ากันตาย ตีชิงวิ่งราว ปล้นทรัพย์ ไฟไหม้ก็ดี หรือเหตุร้ายสำคัญอย่างใด ๆ ในหมู่บ้านของตน
- ใครที่แสดงอาฆาตมาดร้าย ซึ่งกันและกันก็ควรเรียกลูกบ้านมาไต่ถามและว่ากล่าวสั่งสอน
- ควบคุมดูแลลูกบ้าน ให้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะต้องพึงกระทำตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ
- ฝึกอบรมให้คนไทยรู้จักหน้าที่ในเวลามีเหตุศึกสงคราม[divide icon=”circle” width=”medium”]
มาตรา 28 อำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เกี่ยวด้วยคดีอาญา มี 6 ข้อ
- เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย เกิดขึ้นหรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านของตนต้องแจ้งความต่อกำนันนายตำบลให้ทราบ
- เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่ใกล้เคียง ต้องแจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านนั้นให้ทราบ
- เมื่อตรวจพบของกลางที่ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายมีอยู่ก็ดี หรือสิ่งของที่สงสัยว่าได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นสิ่งของสำหรับใช้ในการกระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับสิ่งของนั้นไว้และรีบนำส่งต่อกำนันนายตำบล
- เมื่อปรากฏว่าผู้ใดกำลังกระทำผิดกฎหมายก็ดี หรือมีเหตุควรสงสัยว่า เป็นผู้ที่ได้กระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับตัวผู้นั้นไว้และรีบนำส่งต่อกำนันนายตำบล
- ถ้ามีหมายหรือมีคำสั่งตามหน้าที่ราชการ ให้จับผู้ใดในหมู่บ้านนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะจับผู้นั้น และรีบส่งต่อกำนัน หรือกรรมการอำเภอตามสมควร
- เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกหมายสั่งให้ค้น หรือให้ยึด ผู้ใหญ่บ้านต้องจัดการให้เป็นไปตามหมาย[divide icon=”circle” width=”medium”
รวมทั้งยังเป็นผู้ปฏิบัติงานตามนโยบายเร่งด่วนหรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายพิเศษจากรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้านจึงเปรียบเสมือนดังทัพหน้าผู้ช่วยเหลือแม่ทัพใหญ่คือนายอำเภอในการทำสงครามต่อสู้กับปัญหาต่างๆในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ
ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านนั้น มาจากการเลือกของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกในหมู่บ้านนั้น ซึ่งผู้ที่จะสามารถรับสมัครเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านได้นั้น จะต้องไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่กำหนดไว้ เช่น ไม่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยการพนัน ในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก เป็นต้น และสำหรับตำแหน่งกำนันนั้น มาจากผู้ใหญ่บ้านทั้งตำบลคัดเลือกผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในตำบลนั้นที่มีความเหมาะสมขึ้นเป็นกำนัน ซึ่งปัจจุบันทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านสามารถดำรงตำแหน่งได้จนอายุครบ 60 ปี โดยกรมการปกครองจะมีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุก 4 ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
แม้ว่าตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้มีค่าตอบแทนมากมาย แต่ก็เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี เนื่องจากเป็นผู้ที่เสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรสถาบันกำนันผู้ใหญ่บ้านจึงเป็นที่พึ่งพาและอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ตลอดมา ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และจะอยู่คู่สังคมไทยอีกตราบเท่านาน
กรมการปกครอง. สำนักบริหารการปกครองท้องที่. ส่วนบริหารงานกำนันผู้ใหญ่บ้าน. (ม.ป.ป.). คู่มือปฏิบัติงานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน. กรุงเทพฯ: ผู้แต่ง.
“กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน” ผู้เป็นทัพหน้าของการปกครองส่วนภูมิภาค. (2560, 13 สิงหาคม). มติชนสุดสัปดาห์. เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/matichonweekly-special/article_47931
โชคสุข กรกิตติชัย. (2559). อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการ
สภาผู้แทนราษฎร. เข้าถึงได้จาก http://library2.parliament.go.th/ejournal/ content_af/ 2559/jan2559-2.pdf