คำว่า “สันติภาพ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่าไว้ ความสงบ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2556)
วันที่ 16 สิงหาคม เป็น “วันสันติภาพไทย” ประกาศสันติภาพโดย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่อานันทมหิดล โดยแสดงเตจำนงแน่วแน่ของมวลราษฎรไทย และขบวนเสรีไทยที่ได้ต่อสู้เพื่อขับไล่ผู้รุกรานในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสามารถรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติให้ประจักษ์แก่ชาวโลกและเป็นที่ยอมรับกับฝ่ายสัมพันธมิตร (ดุษฎี พนมยงค์, 2550)
ทุกวันที่ 16 สิงหาคม จะมีการจัดงานฉลองขึ้น เพื่อรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีของขบวนการเสรีไทย ที่ได้กระทำมาแล้ว ในระหว่างที่ ประเทศชาติอยู่ในช่วงวิกฤติ บทบาทอันสูงส่งนี้ย่อมได้รับการจารึกไว้ ในหน้าหนึ่งอันงดงามยิ่ง ของประวัติศาสตร์ไทย และจะเป็นอนุสาวรีย์ทางจิตใจที่จะเตือนใจให้ประชาชนชาวไทยรุ่นหลัง ได้ถือเอาเป็นแบบอย่าง และเป็นแรงพลังทางใจในอันที่จะระแวดระวังรักษาไว้ ซึ่งอุดมการณ์อันดีงาม ของการต่อต้านสงครามและการรุกรานทุกรูปแบบ การต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยอย่างไม่ยอมจำนน และ เป็นการปลูกฝังให้ยุวชนรุ่นหลังรักสันติภาพ อีกทั้งเป็นการประกาศให้นานาประเทศ รับรู้เจตนารมณ์ ของประชาชนชาวไทย ที่จะยึดมั่นอุดมการณ์แห่งการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน และประชาคมโลก อย่างสันติและเอื้ออาทรต่อกัน
“…สันติภาพ มิได้หมายความถึงการสงบนิ่งไม่กระทำการใดๆ เลย หากเป็นปฏิบัติการแห่งความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งมวล ภารกิจเพื่อสันติภาพจึงเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติซึ่งจะบรรลุผลสำเร็จได้ มิใช่ด้วยการเรียกร้องที่จะได้รับ หากอยู่ที่การลงมือเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน…”
(พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงาน 50 ปี วันสันติภาพไทย วันที่ 16 สิงหาคม 2538)
เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเอเชีย ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้บุกเข้าประเทศไทยพร้อมๆ กับการเปิดฉากโจมตีฐานทัพอเมริกันที่อ่าวเพิร์ลในฮาวาย ในขั้นแรกรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้เลือกทางออกประนีประนอมไม่เสียเลือดเนื้อ โดยตกลงยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศแต่เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุการณ์การเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ขมังเกลียวยิ่งขึ้น รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2484 และในวันที่ 25 มกราคม 2485 ก็ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ (Great Britain) และสหรัฐอเมริกา จึงเท่ากับว่าเข้าร่วมหัวจมท้ายกับฝ่ายอักษะและเป็นฝ่ายตรงข้ามฝ่ายพันธมิตรอย่างเต็มตัว
กำเนิดขบวนการเสรีไทย
หลังจากนั้นได้มีคนไทยผู้รักชาติที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศ (อังกฤษและสหรัฐอเมริกา) ร่วมมือกันก่อตั้งขบวนการลับ ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี และต่อมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อต่อต้านการยึดครองประเทศไทย ของญี่ปุ่น และประการสำคัญที่สุดก็คือ เพื่อป้องกันมิให้ประเทศไทย ต้องตกเป็นฝ่ายรับผลจากการร่วมแพ้สงครามกับฝ่ายอักษะ หลังจากสงครามได้ยุติลงแล้ว
สมาชิกขบวนการเสรีไทย
- ปรีดี พนมยงค์ – หัวหน้าขบวนการเสรีไทย
- พันตรี จำกัด พลางกูร – เลขาธิการคณะเสรีไทยสายภายในประเทศและผู้แทนคณะเสรีไทยที่เดินทางไปติดต่อกับสัมพันธมิตรในจีน
- ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช – เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ผู้นำขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา
- ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์
- ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ – ผู้นำขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ
- สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี – พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสรีไทยในอังกฤษ
- ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ – ผู้มีส่วนช่วยให้ไทยส่งข่าวสารถึงฝ่ายพันธมิตรได้เป็นผลสำเร็จ
- พล อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา
- หลวงดิฐการภักดี – เลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา
- นายอนันต์ จินตกานนท์ – เลขานุการโทสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา
- ม.ล. ขาบ กุญชร (เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา)
- พลตรีนิรัตน์ สมัถพันธุ์ (เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา)
- ศาสตราจารย์ ดร.เจริญ เจริญรัชตภาคย์ (เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา)
- ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ (เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา)
- คุณกรองทอง ชุติมา (เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา)
- คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร
เป้าหมายหลักของขบวนการดังกล่าวหรือกลุ่มเสรีไทย ก็คือ พยายามให้นานาประเทศยอมรับ ให้ประเทศไทยกลับคืนสู่สถานะก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 (เป็นประเทศอิสระไม่อยู่ภายใต้อาณัติของประเทศใด) โดยใช้ทุกวิถีทางที่จะทำให้มิตรประเทศเชื่อว่าคนไทยที่รักชาติเหล่านั้นมิได้เห็นด้วย กับการประกาศสงคราม อันจะนำไปสู่การประกาศโมฆกรรมแห่งการประกาศสงครามเมื่อ 25 มกราคม 2485 ในเวลาต่อไป และประเทศไทยจักได้หลุดรอดพ้นจากสถานะของการเป็นหนึ่งในฝ่ายผู้แพ้สงคราม ซึ่งไทยอาจต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาล เป็นค่าปฏิกรณ์สงคราม อาจถูกยึดเป็นเมืองขึ้นและสูญเสียดินแดนบางส่วนไปก็เป็นได้ ขบวนการเสรีไทยได้ติดต่อโดยพยายามแสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่มีต่อฝ่ายสัมพันธมิตร โดยให้ความร่วมมือทางทั้งด้านการทหาร และการให้ข้อมูลข่าวกรองต่างๆ อย่างลับสุดยอด ท่ามกลางการสอดส่องปราบปรามของฝ่ายญี่ปุ่นอย่างเข้มข้นและโหดเหี้ยม ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตของสมาชิกขบวนการเสรีไทย จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ในสถานะของผู้แพ้สงคราม ก็คือ
เมื่อสงครามยุติลงในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 หลังจากญี่ปุ่นโดนทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูก ไทยได้ตัดสินใจประกาศสันติภาพ และประกาศโมฆกรรม แห่งการประกาศสงครามต่อฝ่ายพันธมิตร ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488
นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการกระทำอันขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนชาวไทยทั้งในและนอกประเทศได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงไม่ยอมรับคำประกาศดังกล่าวด้วยการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยอยู่ในระหว่างสงคราม (ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484) โดยที่ประเทศไทยประกาศว่าจะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้ ประกาศสันติภาพนี้มีนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงตั้งชื่อถนนภายในศูนย์ท่าพระจันทร์ ที่เชื่อมระหว่างประตูถนนพระอาทิตย์กับประตูท่าพระจันทร์และผ่านหน้าตึกโดมว่า ถนน 16 สิงหา
กระปุกดอทคอม. (2560). 16 สิงหาคม วันสันติภาพไทย ร่วมเชิดชูวีรบุรุษผู้คืนสันติภาพ. เข้าถึงได้จาก https://hilight.kapook.com/view/124903
ดุษฎี พนมยงค์. (2550, 3 สิงหาคม). 16 สิงหาคม วันสันติภาพไทย. มติชนสุดสุดสัปดาห์, หน้า 75.
ทีมงานทรูปลูกปัญญา. (2555). วันสันติภาพไทย. เข้าถึงได้จาก http://www.trueplookpanya.com/ learning/detail/21198-033706
ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ผู้แต่ง