วันออกพรรษา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา หมายถึง วันที่สิ้นสุดการจำพรรษาของพระสงฆ์ หลังจากที่ต้องอยู่ที่วัดแห่งเดียวตลอดเป็นเวลา 3 เดือน นับแต่วันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 9 กรณีเข้าพรรษาหลัง) ซึ่งพระสงฆ์ได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาเป็นต้นมาจนถึงวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 11 (หรือเดือน 12 ในกรณีเข้าพรรษาหลัง) ซึ่งถือว่าเป็นวันออกพรรษา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คำเป็นวันที่พระสงฆ์จะประกอบพิธีสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา กำหนดไว้เพื่อเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิต เมื่อได้เห็น ได้ฟัง หรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกันนั้น พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข ตามปกติพระสงฆ์จะสวดปาฏิโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ทุกวันอุโบสถ์ แต่เฉพาะวันออกพรรษานี้ไม่ต้องสวดปาฏิโมกข์พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ทำปวารณาแทน ปวารณาจึงเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ของพระสงฆ์ เป็นการกล่าวประกาศในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
ทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยถือว่าเป็นการกล่าวตักเตือนกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเคารพนับถือ และความสามัคคีในหมู่สงฆ์ (ประคอง นิมมานเหมินท์, 2554, น. 1227) ซึ่งวันออกพรรษา นับเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนาด้วยเหตุผล ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรรมแห่งชาติ, 2540)
- พระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาต ให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้
- เมื่อออกพรรษาแล้ว พระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรม และประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษาไปเผยแพร่แก่ประชาชน
- ในวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้ เพื่อนภิกษุว่ากล่าวตักเตือน เรื่องความประพฤติของตน เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ความเคารพนับถือ และความสามัคคีกันระหว่างสมาชิกของสงฆ์
- พุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่าง ไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเอง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตน และสร้างสรรค์สังคมต่อไป
ประวัติความเป็นมา (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรรมแห่งชาติ, 2540)
[dropcap font=”Arial” color=”#cc0033″]1[/dropcap]ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้นที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถีนั้น มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่ง แยกย้ายกันจำพรรษาอยู่ตามอารามรอบๆ นคร พระภิกษุเหล่านั้น เกรงจะเกิดการขัดแย้ง ทะเลาะวิวาทกันจนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน (มูควัตร) เมื่อถึงวันออกพรรษา พระภิกษุเหล่านั้น ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้า จึงทรงตำหนิว่า อยู่กันเหมือนฝูงปศุสัตว์ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า[dropcap font=”Arial” color=”#ffdf42″]2[/dropcap]การถือปฏิบัติวันออกพรรษาในประเทศไทย วันออกพรรษาเป็นประเพณีสืบเนื่องมานานนับตั้งแต่พระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานในดินแดนนี้ เพราะการออกพรรษาเป็นข้อกำหนดที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์กระทำ ดังนั้นเมื่อถึงวันออกพรรษา พระภิกษุสงฆ์จะทำปวารณาแทนการสวดพระปาติโมกข์ ส่วนคฤหัสถ์จะทำบุญเป็นกรณีพิเศษ และยังมีการทำบุญเนื่องในวัน “เทโวโรหณะ” หรือเรียกว่า “ตักบาตรเทโว” ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นกิจกรรมพิเศษต่อเนื่องจากวันออกพรรษา“อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง วุตถานัง ภิกขูนัง ตีหิ ฐาเนหิ ปะวาเรตุงทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา…” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณากัน ในสามลักษณะคือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วย การสงสัยก็ดี”
กิจที่ชาวบ้านมักกะทำก็คือ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระ ที่วัดและฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้ม มัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศลทำบุญตักบาตเทโว
คำว่า “ตักบาตร” มี ความหมายว่า เอาของใส่บาตรพระ วางของลงในบาตรพระ หรืออาจจะใช้ว่า ใส่บาตร ก็ได้ซึ่งคำว่า ตักบาตร มาจากกิริยาที่ตักข้าวจากขันข้าวใส่ลงในบาตรของพระที่ออกบิณฑบาต หรือในบาตรที่ จัดเตรียมไว้ในวัดเวลามีงานบุญ ซึ่งประเพณีตักบาตรเทโว มาจากคำว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ” หมายถึง วันทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษาตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนว่าเป็นวันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดา ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเทศนาโปรด ประชาชนในแคว้นต่างๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่เมืองราชคฤห์เมืองพาราณสีเมืองสาวัตถีตลอด ถึงเมืองกบิลพัสดุ์ซึ่งเป็นปิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้าแล้ว ทรงปรารถนาจะสนองพระคุณมารดา ที่หลังประสูติพระองค์ได้ 7 วัน ก็สิ้นพระชนม์ และได้ไปเกิด เป็นนางสวรรค์อยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้น ในพรรษาที่ 7 หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง จากนั้น เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยพระพุทธองค์จึงเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ทางบันไดทิพย์ทั้ง 3 ได้แก่บันไดทอง บันไดแก้ว และบันไดเงิน ซึ่งท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ให้พระวิษณุกรรมเนรมิตทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์ ที่ประตูเมืองสังกัสสนคร บรรดา พุทธศาสนิกชนต่างมารอรับตักบาตรภัตตาหารกันอย่างเนืองแน่น ชาวพุทธจึงยึดถือปรากฎการณ์ใน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ เรียก”วันเทโวโรหณะ” และ “วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก”เพราะวันนั้นโลกทั้ง 3 คือ สวรรค์ มนุษย์ และ นรก ต่างสามารถแลเห็นกันได้ตลอดทั้ง 3 โลก (พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), 2548 อ้างถึงในพระมหาตุ๋ย ขนฺติธมฺโม (คำหน่อ), 2560, น. 29-30)
ประคอง นิมมานเหมินท์. (2554). ออกพรรษาวัน. ใน มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทยธนาคารไทยพาณิชย์, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง (ฉบับเพิ่มเติม) (เล่ม 3, น. 1227). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
พระมหาตุ๋ย ขนฺติธมฺโม (คำหน่อ). (2560). การจัดการเรียนรู้บทบาทสมมติ เรื่อง ประเพณีตักบาตรเทโว จังหวัดอุทัยธานีของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรรมแห่งชาติ. (2540). วันสำคัญ โครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยและแนวทางในการจัดกิจกรรม (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.