วันออกพรรษา

วันออกพรรษา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา หมายถึง วันที่สิ้นสุดการจำพรรษาของพระสงฆ์ หลังจากที่ต้องอยู่ที่วัดแห่งเดียวตลอดเป็นเวลา 3 เดือน นับแต่วันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8  (หรือเดือน 9 กรณีเข้าพรรษาหลัง) ซึ่งพระสงฆ์ได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาเป็นต้นมาจนถึงวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 11 (หรือเดือน 12 ในกรณีเข้าพรรษาหลัง) ซึ่งถือว่าเป็นวันออกพรรษา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คำเป็นวันที่พระสงฆ์จะประกอบพิธีสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา กำหนดไว้เพื่อเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิต เมื่อได้เห็น ได้ฟัง หรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกันนั้น พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข ตามปกติพระสงฆ์จะสวดปาฏิโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ทุกวันอุโบสถ์ แต่เฉพาะวันออกพรรษานี้ไม่ต้องสวดปาฏิโมกข์พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ทำปวารณาแทน ปวารณาจึงเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ของพระสงฆ์ เป็นการกล่าวประกาศในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนกันได้

วันปวารณา-วันออกพรรษา

ทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยถือว่าเป็นการกล่าวตักเตือนกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเคารพนับถือ และความสามัคคีในหมู่สงฆ์ (ประคอง  นิมมานเหมินท์, 2554, น. 1227) ซึ่งวันออกพรรษา นับเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนาด้วยเหตุผล ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรรมแห่งชาติ, 2540)

  1. พระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาต ให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้
  2. เมื่อออกพรรษาแล้ว พระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรม และประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษาไปเผยแพร่แก่ประชาชน
  3. ในวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้ เพื่อนภิกษุว่ากล่าวตักเตือน เรื่องความประพฤติของตน เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ความเคารพนับถือ และความสามัคคีกันระหว่างสมาชิกของสงฆ์
  4. พุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่าง ไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเอง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตน และสร้างสรรค์สังคมต่อไป

ประวัติความเป็นมา  (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรรมแห่งชาติ, 2540)

[dropcap font=”Arial” color=”#cc0033″]1[/dropcap]ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้นที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร  กรุงสาวัตถีนั้น มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่ง แยกย้ายกันจำพรรษาอยู่ตามอารามรอบๆ นคร พระภิกษุเหล่านั้น เกรงจะเกิดการขัดแย้ง ทะเลาะวิวาทกันจนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน (มูควัตร) เมื่อถึงวันออกพรรษา พระภิกษุเหล่านั้น ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้า จึงทรงตำหนิว่า อยู่กันเหมือนฝูงปศุสัตว์ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า

“อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง วุตถานัง ภิกขูนัง ตีหิ ฐาเนหิ ปะวาเรตุงทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา…” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณากัน ในสามลักษณะคือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วย การสงสัยก็ดี”

วันออกพรรษา

[dropcap font=”Arial” color=”#ffdf42″]2[/dropcap]การถือปฏิบัติวันออกพรรษาในประเทศไทย วันออกพรรษาเป็นประเพณีสืบเนื่องมานานนับตั้งแต่พระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานในดินแดนนี้ เพราะการออกพรรษาเป็นข้อกำหนดที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์กระทำ ดังนั้นเมื่อถึงวันออกพรรษา พระภิกษุสงฆ์จะทำปวารณาแทนการสวดพระปาติโมกข์ ส่วนคฤหัสถ์จะทำบุญเป็นกรณีพิเศษ และยังมีการทำบุญเนื่องในวัน “เทโวโรหณะ” หรือเรียกว่า “ตักบาตรเทโว” ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นกิจกรรมพิเศษต่อเนื่องจากวันออกพรรษา

กิจที่ชาวบ้านมักกะทำก็คือ การบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระ ที่วัดและฟังพระธรรมเทศนา ของที่ชาวพุทธนิยมนำไปใส่บาตรในวันนี้ก็คือ ข้าวต้ม มัดไต้ และข้าวต้มลูกโยน และการร่วมกุศลทำบุญตักบาตเทโว

ตักบาตรเทโวคำว่า “ตักบาตร” มี ความหมายว่า เอาของใส่บาตรพระ วางของลงในบาตรพระ หรืออาจจะใช้ว่า ใส่บาตร ก็ได้ซึ่งคำว่า ตักบาตร มาจากกิริยาที่ตักข้าวจากขันข้าวใส่ลงในบาตรของพระที่ออกบิณฑบาต หรือในบาตรที่ จัดเตรียมไว้ในวัดเวลามีงานบุญ ซึ่งประเพณีตักบาตรเทโว มาจากคำว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ” หมายถึง วันทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษาตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนว่าเป็นวันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดา ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเทศนาโปรด ประชาชนในแคว้นต่างๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่เมืองราชคฤห์เมืองพาราณสีเมืองสาวัตถีตลอด ถึงเมืองกบิลพัสดุ์ซึ่งเป็นปิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้าแล้ว ทรงปรารถนาจะสนองพระคุณมารดา ที่หลังประสูติพระองค์ได้ 7 วัน ก็สิ้นพระชนม์ และได้ไปเกิด เป็นนางสวรรค์อยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้น ในพรรษาที่ 7 หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง จากนั้น เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยพระพุทธองค์จึงเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ทางบันไดทิพย์ทั้ง 3 ได้แก่บันไดทอง บันไดแก้ว และบันไดเงิน ซึ่งท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ให้พระวิษณุกรรมเนรมิตทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์ ที่ประตูเมืองสังกัสสนคร บรรดา พุทธศาสนิกชนต่างมารอรับตักบาตรภัตตาหารกันอย่างเนืองแน่น ชาวพุทธจึงยึดถือปรากฎการณ์ใน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ เรียก”วันเทโวโรหณะ” และ “วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก”เพราะวันนั้นโลกทั้ง 3 คือ สวรรค์  มนุษย์ และ นรก ต่างสามารถแลเห็นกันได้ตลอดทั้ง 3 โลก (พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), 2548 อ้างถึงในพระมหาตุ๋ย ขนฺติธมฺโม (คำหน่อ), 2560, น. 29-30)


ประคอง  นิมมานเหมินท์.  (2554).  ออกพรรษาวัน. ใน มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทยธนาคารไทยพาณิชย์,  สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง (ฉบับเพิ่มเติม)  (เล่ม 3, น. 1227).  กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

พระมหาตุ๋ย ขนฺติธมฺโม (คำหน่อ).  (2560).  การจัดการเรียนรู้บทบาทสมมติ เรื่อง ประเพณีตักบาตรเทโว จังหวัดอุทัยธานีของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม.  วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรรมแห่งชาติ.  (2540).  วันสำคัญ โครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยและแนวทางในการจัดกิจกรรม (พิมพ์ครั้งที่ 3).  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

 

วันออกพรรษา The End of Buddhist Lent Day