วันสิทธิผู้บริโภคสากล Word consumer rights day

15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” World Consumer Rights Day  โดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 220 องค์กร ใน 115 ประเทศทั่วโลก

วันสิทธิผู้บริโภคสากล และความสำคัญ

วันสิทธิผู้บริโภคสากล หรือ World Consumer Rights Day ตรงกับวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคทุกคนอย่างทั่วถึงทั้งโลก

ประวัติความเป็นมา

วันสิทธิผู้บริโภคสากลเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้บัญญัติวันสำคัญสากลนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อว่า Consumer Right Day โดยได้รับการรับรองจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International)

ทว่ามาเริ่มจัดกิจกรรมและรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักวันนี้จริง ๆ ก็เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปี ค.ศ. 1983 โดยจัดแคมเปญให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรม และเผยแพร่ความสำคัญของวันสิทธิผู้บริโภคสากลตามสื่อต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ก็เป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกจะได้ตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองเรื่อยมา

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลได้บัญญัติสิทธิผู้บริโภคสากลขั้นพื้นฐาน 8 ประการ

  • สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อันได้แก่ อาหารปลอดภัย ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการการศึกษาและสาธารณสุข
  • สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีผลิตและบริการที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิต
  • สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการหลอกลวงของโฆษณา  หรือการแจ้งประกาศที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ
  • สิทธิที่จะได้เลือกซื้อสินค้าและบริการในราคายุติธรรม ในราคาที่เกิดการแข่งขันกัน และในกรณีที่มีการผูกขาดสินค้าก็จะวางใจได้ว่า จะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นที่พอใจ และในราคายุติธรรม
  • สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภค  เพื่อให้ได้รับประโยชน์ที่พึงได้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับรัฐบาลในการบริหารจัดการ
  • สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย ในกรณีที่ถูกละเมิด หลอกลวงให้ได้รับสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพ กล่าวคือสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการตัดสินเรื่องราวที่ร้องเรียนอย่างถูกต้อง ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการชดใช้เมื่อได้รับสินค้าและบริการที่บกพร่องหรือเสียหายหรือการช่วยเหลือหรือการชดใช้อื่นๆ
  • สิทธิที่จะได้รับความรู้และไหวพริบอันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทัน เป็นสิทธิที่จะได้รับความรู้ที่ควรรู้ ควรมี ในการที่จะใช้ในการต่อสู้สิ่งต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค
  • สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการป้องกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคแต่ละคนไม่สามารถควบคุมได้เอง สิทธินี้ต้องยอมรับถึงความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดชั่วอายุเราไปจนชั่วอายุลูกหลานอีกด้วย

สิทธิผู้บริโภคไทย เป็นอย่างไรบ้าง

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ข่าวผู้บริโภค

สำหรับประเทศไทยก็ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2559 ก็ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้ในมาตรา 46 ว่า “สิทธิของผู้บริโภค ย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค”

องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติและในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 และ2556 ก็ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไว้ 5 ประการ ดังนี้

  • สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริง และปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้อง และเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
  • สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
  • สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
  • สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
  • สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว

ในปี 2561 สหพันธ์ผู้บริโภคสากล ให้ความสำคัญในเรื่อง กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม (Making digital marketplaces fairer) เน้นเป้าหมายให้ผู้บริโภคปลอดภัยและเป็นธรรมในการซื้อขายออนไลน์ นับเป็นการรณรงค์ต่อเนื่องจากปี 2560 (Building a Digital World Consumers Can Trust)

วันสิทธิผู้บริโภคสากลการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้บริโภค ซึ่งวิธีการแบบใหม่ของการค้าได้เปิดทางเลือกมากมายสำหรับผู้บริโภคและเพิ่มความสะดวกสบาย วิธีการแบบใหม่ของการค้าได้เปิดทางเลือกมากมายสำหรับผู้บริโภคและเพิ่มความสะดวกสบาย แต่การซื้อขายออนไลน์ ได้ทำให้เกิดปัญหาสำคัญกับผู้บริโภค เช่น ถูกหลอกลวงหรือฉ้อฉล จะได้รับการชดเชยเยียวอย่างไร ด้วยเหตุนี้การเคลื่อนไหวของขบวนการผู้บริโภคทั่วโลกย่อมมีความสำคัญต้องทำให้ตลาดดิจิทัลมีความเป็นธรรมสำหรับทุกคน

นอกจากนี้ องค์กรผู้บริโภคได้ร่วมมือกันจัดตั้งกลไกคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนขึ้นเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เป็นตัวแทนของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันองค์กรผู้บริโภคก็มีความตื่นตัวในการพัฒนาองค์กรเพื่อเป็น “องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ” อย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการจัดประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 เพื่อเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคและประชาชน มีส่วนร่วมในการติดตามสถานการณ์และส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ รวมถึงการสร้างความมั่นใจ และความยุติธรรมแก่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล และให้ผู้บริโภคร่วมกันสนับสนุนการออกกฎหมายผู้บริโภคตามแนวทางเจตนารมณ์ของมาตรา 46 แห่งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. และร่วมกันรณรงค์เนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล

 


วันสิทธิผู้บริโภคสากล Word consumer rights day