โรคเบาหวานเป็นอีกโรคหนึ่งที่เป็นปัญหาของสาธารณสุขไทย ทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายของโรคเบาหวานและร่วมกันกำหนดให้มี วันเบาหวานโลก World Diabetes Day ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นโรคที่พบว่าผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงมากโรคหนึ่งของประเทศ สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นเบาหวานในผู้สูงอายุ และ อัตราการเกิดโรคก็มีมากในเด็กและวัยรุ่น เนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ชีวิตที่เร่งรีบ อาหาร เร่งด่วน หรืออาหารขยะ โดยทุก ๆ 200 คน จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานอยู่ 5 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 และทุก ๆ ปีจะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นถึงปีละ 5 ล้านคนทั่วโลก
รู้จักโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เป็นความผิดปกติทางเมแทบอลิซึม คือ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องมาจากขาดฮอร์โมนอินชูลิน หรือประสิทธิภาพในการทำงานของอินซูลินลดลง หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน มีผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการทำลาย การเสื่อมสมรรถภาพ และการล้มเหลวในการทำงานของอวัยวะต่างๆ เป็นผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง ได้แก่ ไต ปลายประสาท หัวใจ และหลอดเลือด
อินซูลิน คืออะไร
อินซูลิน เป็นสารที่ผลิตโดยตับอ่อนทำหน้าที่นำน้ำตาลกูลโคสจากกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ซึ่งเป็นองค์ประกอบ ของเนื้อเยื้อและอวัยวะต่าง ๆ เพื่อเผาผลาญให้เกิดพลังงานทำให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติ ถ้า ร่างกายขาดอินซูลิน หรือการออกฤทธิ์ของอินซูลินไม่ดีทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลไม่ได้จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน
ในปัจจุบันหลายประเทศใช้เกณฑ์ระดับน้ำตาลที่ >126 มก./ดล. โดยค่าของน้ำตาลในน้ำเลือดหลังจากอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชม. แล้ว แต่ถ้าไม่ได้อดอาหารมาก่อน แต่ต้องการตรวจเราสามารถเจาะเลือดได้เลยโดยใช้ค่า 200มก./ดล.เป็นเกณฑ์
ประเภทของเบาหวาน
การแบ่งประเภทของเบาหวาน จะแบ่งโดยถือเอาสาเหตุของการเกิดโรคเป็นเกณฑ์เพื่อผลทางการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งภาวะที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานมี 2 ชนิดใหญ่ได้แก่
[dropcap font=”Arial” color=”#cc0033″]1[/dropcap]เบาหวานชนิดที่ 1 (DM1)
เป็นเบาหวานชนิดที่พึ่งอินซูลิน (Insulin Dependent Diabetes) คือร่างกายขาดฮอร์โมนอินสุลิน หรืออินสุลินเท่ากับศูนย์ ไม่มีเลย เบาหวานชนิดนี้เป็นเบาหวานที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรงและอันตรายสูง มักพบในเด็กและวัยรุ่น สาเหตุเกิดจากภูมิต้านทาน ของร่างกายทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในส่วนของตับอ่อน ทำให้ร่างกายหยุดสร้างอินซูลินหรือสร้างได้น้อยมาก เรียกว่า “โรคภูมิต้านทานตัวเอง หรือ ออโตอิมมูน” การรักษาผู้ป่วยต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินเข้าทดแทนใน ร่างกายทุกวันจึงจะสามารถเผาผลาญน้ำตาลได้เป็นปกติ
[dropcap font=”Arial” color=”#ffdf42″]2[/dropcap]เบาหวานชนิดที่ 2 (DM2)
คือ อินสุลินไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าเซลล์ได้ เบาหวานที่พบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ มีความรุนแรงน้อย พบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปนอกจากอายุแล้ว กรรรมพันธุ์ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อเบาหวานชนิดนี้ ตับอ่อนของผู้ป่วยชนิดนี้ยังสามารถสร้างอินซูลินได้ แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายจึงทำให้มีน้ำตาลที่เหลือใช้จึงกลายมาเป็นโรคเบาหวานได้
อาการของของโรคเบาหวาน มีอะไรบ้าง
- ปัสสาวะบ่อยหิวน้ำบ่อยเมื่อระดับน้ำตาลสูงมากกว่า 180 มก./ดล โดยที่ร่างกายจะพยายาม ขับน้ำตาลออกนอกร่างกายโดยการปัสสาวะออกมา
- คอแห้ง กระหายน้ำ เนื่องจากร่างกายเสียน้ำไปกับปัสสาวะบ่อย มักทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ร่างกายจึงเรียกร้องน้ำ ทำให้มีอาการคอแห้งกระหายน้ำจึงต้องชดเชยด้วยการดื่มน้ำบ่อย ๆ
- หิวบ่อย กินจุ เมื่อร่างกายขาดพลังงานเนื่องจากไม่สามารถดึงเอากลูโคสจากอาหารไปใช้งานได้ และยังต้องปดปล่อยออกมากับปัสสาวะ ทำให้ความต้องการอาหารของร่างกายเพิ่มมากขึ้น
- อ้วน การบริโภคอาหารมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่มักพบ ในผู้ป่วย ที่เป็นน้อย ๆ ในระยะเริ่มแรก เมื่อเป็นเบาหวานเรื้อรังภาวะอ้วนก็จะกลายเป็นซูบผอม
- อาการมือชาเท้าชา หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากน้ำตาลที่สูงนาน ๆ ทำให้เส้นประสาทเสื่อม การรับรู้ความรู้สึกลดลงจึงชา หรือไม่รู้จักเจ็บปวดทำให้เกิดแผลตามมา
- คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อราง่าย สาเหตุมาจากการคัน ซึ่งเกิดได้หลายอย่าง เช่น ผิวแห้งเกินไป หรือการอักเสบของผิวหนังมักพบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน
- ตาพร่ามัว สาเหตุมากจากหลายประการ เช่น อาจเป็นสายตาเปลี่ยน สายตาสั้นลง เนื่องจาก น้ำตาลในเลือดสูงและน้ำตาลไปคั่งอยู่ในตา เบาหวานควบคุมได้โดยไม่ต้องใช้ยา
การป้องกันควบคุมโรคเบาหวาน
- การรับประทานอาหารควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้ที่ไม่มีน้ำตาลสูงเป็นหลัก
- ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม โดยค่าดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5 – 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร รอบเอวเพศชายไม่เกิน 90 เซนติเมตร รอบเอวเพศหญิงไม่เกิน 80 เซนติเมตร
- ควรมีการเคลื่อนไหว และออกกำลัยกายอย่างน้อยที่สุด 30 นาท/วัน 5 ครั้ง/สัปดาห์
- ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เพื่อให้จิตใจสดชื่น ผ่อนคลาย
- ถ้าสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ควรดูแล เอาใจใส่ ควบคุมอาหาร การรับประทานยา การเข้ารับการตรวจตามแพทย์นัด และสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้น เช่น การเกิดบาดแผลเฉพาะเท้า และอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น
- หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และปัสสาวะเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ โรคเบาหวาน และการควบคุม โรคในสังคมไทย โดยมีแนวคิดและแรงบันดาลใจจากผลประสบความสำเร็จของการศึกษาวิจัย ด้านเบาหวาน พบว่าการจำกัดพลังงานในอาหารของผู้ป่วยมีความสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือด โดยอาศัยการปรับเปลี่ยนโภชนาการ และพฤติกรรมที่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ในระยะยาว ซึ่งนำไปสู่ผลงานสำคัญ คือ หนังสือ พ็อกเก็ตบุ๊คส์ 52 เมนูเด็ด เคล็ดลับพิชิตเบาหวาน เป็นหนังสือที่ได้รวบรวม สูตรอาหารพลังงานต่ำจาก โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง การจำกัดพลังงานในอาหารของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่คิดค้นสูตรโดยฝ่าย โภชนวิทยาและโภชนบำบัด ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทั้ง 52 เมนูที่นำมาจัดพิมพ์เผยแพร่ ในครั้งนี้ ได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักโภชนาการแล้วว่าเป็นสูตรที่มีพลังงานต่ำ มีการคำนวณพลังงานแคลอรี่ที่ได้รับทุกเมนู
กลุ่มโรคไม่ติดต่อ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค. (2561). ประเด็นสารรณรงค์วันเบาหวานโลกปี 2561. เข้าถึงได้จาก http://www.thaincd.com/2016/news/announcement-detail.php?id=13256&gid=16&fbclid=IwAR3ibTlqkB9Gf97TfIKsWb-U8sbc6uTUgnolnvy661M8MoXYTU-JJxqHUJI
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). รู้จักโรคเบาหวาน. เข้าถึงได้จาก https://www.dmthai.org/index.php/understand-diabetes/diabetes-3