กรุงเทพมหานคร 2562 มลพิษฝุ่นละอองในอากาศ และหน้ากากอนามัย N95

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกในปี 2561 ระบุว่า ในแต่ละปีจะมีประชากร เสียชีวิตก่อนวัยอันควร อันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศ ไม่ต่ำกว่า 6,500,000 คน ประเทศจีนและอินเดีย เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษและฝุ่นละอองสูงที่สุดในโลก

 

ปัญหามลพิษ ฝุ่นละอองที่มีต่อสุขภาพ

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากขึ้นจากปัญหาฝุ่นละออง ในสหรัฐอเมริกามีการประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 22,000-52,000 คนต่อปี และ 200,000 คนต่อปีในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการสูดดมฝุ่นละอองเข้าไปในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ โดยอนุภาค ที่มีขนาด เล็กกว่า 10 ไมโครเมตร หรือเล็กกว่า (PM10) สามารถเข้าไปในส่วนที่ลึกสุดของปอดได้ เช่น หลอดลมฝอย หรือ ถุงลม อันอาจก่อให้เกิด โรคต่างๆ ได้แก่ หอบหืด, มะเร็งปอด, โรคหัวใจ, ความผิดปกติแต่กำเนิด และการตายก่อนกำหนด  (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2559)

ฝุ่น-มลพิษ กรุงเดลี ประเทศอินเดีย
New Delhi: Air pollution is responsible for 10,000 to 30,000 deaths annually in Delhi as it is the fifth leading cause of death in India, a report by Centre for Science and Environment (CSE)

Greenpeace Thailand ได้ทวีตข้อความประเทศที่ติดอันดับคุณภาพอากาศเป็นมลพิษและฝุ่นละอองสูงที่สุดในโลก

เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุด 1.กรุงเดลี ประเทศอินเดีย, 2.เมืองดากา ประเทศบังคลาเทศ, 3.เมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย, 4.เมืองเสิ่นหยาง ประเทศจีน, 5.เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล, 6.เมืองอูลานบาตาร์ ประเทศมองโกเลีย, 7.เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย, 8.เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน, 9.กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย, 10.นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์.
เมืองที่มีมลพิษทางอากาศต่ำสุด 1.เมืองเบรียดแคเลน ประเทศสวีเดน, 2.มัล์มแบร์เยด ประเทศสวีเดน, 3.เมืองเบนิกาซิม ประเทศสเปน, 4.เมืองปาล์มเซอ ประเทศเอสโตเนีย, 5.เมืองแลริกิ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ชญา, 2562)


กรุงเทพมหานคร เผชิญหน้ากับปัญหามลพิษทางอากาศ โดย กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสถานการณ์มลพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) ในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ซึ่งเกิดจากมวลอากาศเย็นในชั้นบรรยากาศที่อยู่สูงกว่า กดอากาศที่อุ่นไว้ ทำให้อากาศไม่สามารถลอยตัวขึ้นไปไหนได้ ส่งผลให้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก กระทบต่อสุขภาพของประชาชน (Grennpeace Thailand, 2562)

ในแต่ละคนจะได้รับผลกระทบทางร่างกายจากฝุ่น PM2.5 ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสุขภาวะของแต่คน คนปกติจะป่วยด้วยฝุ่นละออง PM2.5 เนื่องเพราะสูดดมกันทั้งวัน หรือเป็นเดือนๆ ในขณะที่กรุงเทพมหานคร จะเกิดมลพิษทางอากาศที่เกินค่ามาตรฐานใน 2 ช่วงเวลา คือ 05.00 -08.00 น. และ 18.00-19.30 น. แนวทางการปฏิบัติก็คือ หากอยู่ในที่แจ้ง หรือภายนอกอาคาร ควรหาเครื่องป้องกัน เช่น สวมใส่หน้ากากอนามัย ผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำปิดจมูก
แต่ในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ที่ตา ร่างกายไม่แข็งแรง ผู้ป่วยมะเร็ง อาจเสี่ยงต่อการที่ร่างกายติดเชื้อและโรคแทรกซ้อนได้ง่าย โดยอาจทำให้เกิดปอดอักเสบ กระทบต่อภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว (ธนศุทธิสกุล, 2562)


แนวทางสำหรับผู้ที่หาซื้อหน้ากากอนามัย N95 ไม่ได้

หน้ากากอนามัย N95 ป้องกันฝุ่น PM25
Image by: twiter Richard Barrow – https://twitter.com/RichardBarrow

อันที่จริงผลกระทบจริงๆ อาจเป็นเรื่องที่เกิดจากความตื่นตระหนกมากกว่า คนปกติสามารถใช้หน้ากากอนามัยธรรมดาป้องกันได้ แต่เฉพาะคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จะต้องใช้หน้ากากอนามัย N95 ป้องกัน และผลกระทบนี้จะอยู่ในช่วงเวลานึง ฝุ่นเหล่านี้จะพบหนาแน่นในช่วงเช้ามืดซึ่งเป็นเวลาที่ทุกคนออกเดินทางไปทำงาน ไปเรียน  แต่อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่วิตกกังวล ผลงานวิจัยของ ศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ และดร.ขนิษฐา พันธุรี Thaneyhill นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำไว้เมื่อปี 2551 พบว่า หน้ากากอนามัยแบบธรรมดา ซ้อนทิชชู่ 2 ชั้นก็กันฝุ่นได้ใกล้เคียงกันกับหน้ากากอนามัย N95(เอ็น95) สามารถใช้งานทดแทนกันได้ และยังแนะนำหน้ากากที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันได้แก่ หน้ากากชนิด 3M 8210 หรือ 3M 9002A หรือหน้ากากชนิดที่ใช้ทั่วไปในห้องผ่าตัด (Dura Mask) เพราะสามารถลดระดับของอนุภาคฝุ่น PM 2.5 ได้
(Duangmanee, 2562)


มาตรการและแนวทางการแก้ปัญหา โดย กรมควบคุมมลพิษ

  1. เพิ่มความถี่ในการกวาดล้างทำความสะอาดถนน และฉีดพ่นน้ำในอากาศตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น. ทุกวัน จนกว่าฝุ่นละอองจะลดลง
  2. แจกหน้ากากอนามัย N95 ในพื้นที่งานอุ่นไอรัก สวนลุมพินี บางคอแหลม จตุจักร บางกะปิ บางขุนเทียน โดยจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย คนชรา เด็ก และผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับแหล่งกำเนิด
  3. เข้มงวดตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมายอย่างเค่งครัด ทั้งรถยนต์ขนาดเล็ก รถยนต์ขนาดใหญ่ รวมทั้งรถโดยสารสาธารณะ
  4. จัดตั้งคณะกรรมการร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยเร่งคืนพื้นผิวการจราจร ณ จุดที่ดำเนินการเสร็จแล้ว สำหรับจุดที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จะปรับพื้นที่ผิวถนนให้กว้างขึ้น โดยบีบหรือลดพื้นที่การก่อสร้างบนพื้นผิวการจราจรให้แคบลง
  5. จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารสูงและระบบสาธารณูปโภคโดยจะดำเนินการติดตามตรวจสอบและสำรวจ ให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นละอองให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
  6. การแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด โดยอำนวยความสะดวกในการจราจรให้ดีขึ้น รวมถึงการเข้มงวดมิให้มีการจอดรถริมถนนสายหลัก
  7. เข้มงวดมิให้มีการเผาขยะและการเผา ในที่โล่ง
  8. รณรงค์ไม่ให้ติดเครื่องยนต์ขณะจอด ในสถานที่ราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน และพื้นที่ ที่มีมลพิษสูง
  9. การทำฝนเทียม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว จ.ระยอง เพื่อเตรียมทำฝนเทียมในระหว่าง 15-19 มกราคม 2562
    (ผู้จัดการออนไลน์, 2562)

แนวทางการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของเมืองใหญ่จากทั่วโลก

ฝุ่น มลพิษทางอากาศ กรุงเทพมหานคร
รัฐบาลจีน ใช้มาตรการต่อสู้ปัญหามลภาวะในกรุงปักกิ่ง ระงับการก่อสร้างโครงการต่างๆ อย่างสิ้นเชิงในช่วงฤดูหนาว
  • จีน ใช้มาตรการต่อสู้ปัญหามลภาวะในกรุงปักกิ่ง โดยสั่งระงับไม่ให้มีการกำเนินการก่อสร้างตามโครงการต่างๆ อย่างสิ้นเชิงในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.ถึงวันที่ 15 มี.ค.61 หรือคิดเป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนมีการใช้อุปกรณ์ทำความร้อนตามอาคารบ้านเรือน หรืออาคารต่างๆกันเป็นจำนวนมาก
  • อังกฤษ ใช้วิธีออกมาตรการ ห้ามขายเชื้อเพลิง ที่ก่อให้เกิดมลพิษ สำหรับใช้ในครัวเรือน เตาหุงหาอาหารต้องเป็นประเภทที่ไม่ทำให้เกิดมลพิษ ช่วยเหลือเกษตรกร ในการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยี ลดการปล่อยก๊าซแอมโมเนีย ที่เกิดจากการใช้ปุ๋ย ซึ่งไปทำปฏิกิริยากับสารเคมีอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศ ก่อให้เกิดอนุภาคมลพิษ
  • กรุงโซล เกาหลีใต้ ใช้มาตรการ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยวิธีให้ประชาชน ใช้บริการขนส่งมวลนฟรีในช่วงเวลาเร่งด่วน และใช้มาตรการ กำจัดรถยนต์รุ่นเก่า ปิดการใช้ลานจอดรถ ในหน่วยงานของรัฐ ลดการก่อสร้าง ที่เกิดจากโครงการของรัฐ ใช้โดรนติดกล้องบินสำรวจ การลักลอบปล่อยฝุ่นควัน ของโรงงานอุตสาหกรรม แถบชานเมือง
  • กรุงมาดริด สเปน ใช้มาตรการห้ามรถยนต์ที่ก่อมลพิษเข้าไปในเขตควบคุมคุณภาพอากาศ โดยอนุญาตเฉพาะรถยนต์ไฮบริด(ใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน) และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้จักรยาน กับระบบขนส่งสาธารณะแทน

 

ฝุ่นมลพิษทางอากาศในกรุงปารีส

  • กรุงปารีส ฝรั่งเศส ใช้มาตรการห้ามรถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 1997 เข้าไปในเขตควบคุมคุณภาพอากาศ ในช่วง เวลา 08.00-20.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ ห้ามรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลที่ขึ้นทะเบียนก่อนปี 2001 เข้าไปในพื้นที่ควบคุมคุณภาพอากาศ และในเขตเมืองหลวง และสนับสนุนให้ประชาชนใช้วิธีเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนถนนในเขตใจกลางเมืองให้กลายเป็นถนนของคนเดิน นั่ง พักผ่อน ทำกิจกรรมกลางแจ้งแทน
  • กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน ใช้มาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียนการใช้ถนนในพื้นที่จราจรหน้าแน่นกลางใจเมือง โดยสนับสนุนให้มีจุดจอดรถส่วนบุคคลสำหรับประชาชน แล้วให้เดินทางโดยรถโดยสาร รถราง และรถไฟฟ้าใต้ดินที่รัฐลงทุน เดินทางเข้าไปในเขตเมืองแทน (BBC ไทย, 2562)

ธรรมชาติของฝุ่นมลพิษนั้น จะแขวนลอยติดอยู่ในอากาศที่พัดพาจากจุดที่มีความหนาแน่นของฝุ่น ลอยไปตามกระแสลม ข้ามไปยังจุดอื่นๆ นับ 10 กิโลเมตร โดยเฉพาะหากลมพัดพาฝุ่นมลพิษนั้นข้ามไปถึงยังใจกลางเมือง ชุมชนหนาแน่น มันก็จะสร้างความเสียหายให้กับสุขภาพของผู้คนจำนวนมาก  การควบคุมตัวการที่ปล่อยฝุ่นควันมลพิษ คือสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก นั่นคือ หยุดหรือห้ามรถบรรทุกที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล วิ่งบนถนน ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยรอบ แล้วดูว่าความรุนแรงมันลดลงหรือไม่  แม้ว่าจะเป็นทางแก้ที่ตรงจุด แต่มันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

แนะนำ แอปพลิเคชั่น รับมือฝุ่นมลพิษ

Air4Thai -ดาวน์โหลดได้ทั้ง  IOS  |  Android  จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ เป็นรายงานสถานการณ์มลพิษทางอากาศของประเทศไทยเพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน


แหล่งอ้างอิง:

  • BBC ไทย. (15 มกราคม 2562). ฝุ่นละออง : วิธีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของเมืองใหญ่ทั่วโลก. เข้าถึงได้จาก ข่าวสด: https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_2088181
  • Grennpeace Thailand. (15 มกราคม 2562). การจัดลําดับเมืองที่มีปัญหามลพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) ในประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก Greenpeace: http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/Urban-Revolution/Air-Pollution/Right-To-Clean-Air/City-ranking/
  • Komkrit Duangmanee. (14 มกราคม 2562). ไม่ง้อหน้ากาก N95! วิจัยชี้หน้ากากอนามัย “ซ้อนทิชชู่” ก็ใช้แทนได้ กรองฝุ่นสูงสุด 90%. เข้าถึงได้จาก Sanook: https://www.sanook.com/news/7643562/
  • ปาลญ์ ชญา. (14 มกราคม 2562). ส่องปัญหาฝุ่นละอองทางอากาศในต่างแดนและวิธีการรับมือของแต่ละประเทศ. เข้าถึงได้จาก news.mthai: https://news.mthai.com/news-clips/700480.html
  • รัชพล ธนศุทธิสกุล. (2562, มกราคม 14). อันตรายจากฝุ่น พึงตระหนักแต่ไม่ควรตระหนก” มุมมองจากหมอโรคระบบหายใจ. Retrieved from โพสต์ทูเดย์: https://www.posttoday.com/social/general/577004
  • ผู้จัดการออนไลน์. (15 มกราคม 2562). กระทบสุขภาพ! ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ค่าเกินมาตรฐาน 37 จุด. เข้าถึงได้จาก mgronline: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000004850
  • วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2559, พฤษภาคม 1). ฝุ่นละออง. Retrieved from th.wikipedia.org: https://th.wikipedia.org/wiki/ฝุ่นละออง

facebook #ฝุ่นละออง  |  Instagram #ฝุ่นละออง 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ฝุ่นมลพิษ:

วิธีแก้ปัญหา มลพิษ ฝุ่น PM2.5

งานวิจัยเผย มลพิษเป็นปัจจัยหลักในการคร่าชีวิตผู้คนนับล้านทั่วโลก

กรุงเทพมหานคร มลพิษฝุ่นละอองในอากาศ และหน้ากากอนามัย N95