15 สิงหาคม วันที่ระลึก ดร.ณรงค์ มงคลวนิช ผู้สถาปนามหาวิทยาลัยสยาม

วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ วัน ครบรอบ ๔๑ ปี การจากไปของ ดร.ณรงค์ มงคลวนิช ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสยามและสถาบันในระบบ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตา ผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยสยาม เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา ณ บริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์ ดร.ณรงค์ มงคลวนิช ภายในวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร พิธี เวลา ๐๖.๓๐ น. ณ บริเวณอนุสาวรีย์ ท่านอาจารย์ ดร.ณรงค์ มงคลวนิช

[quote font_size=”18″ color=”#ffdf42″ bgcolor=”#996633″ bcolor=”#ffdf42″ arrow=”yes”]ประวัติของมหาวิทยาลัยสยาม[/quote]

15 สิงหาคม วันที่ระลึก ดร.ณรงค์ มงคลวนิช (2480-2521)  ผู้สถาปนามหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 1 ใน 5 สถาบันแรกของประเทศไทย ได้รับการริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2508 และได้สถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2516 โดยอาจารย์ ดร.ณรงค์ มงคลวนิช ใช้ชื่อเดิมว่า “วิทยาลัยเทคนิคสยาม” ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น “มหาวิทยาลัยเทคนิคสยาม”และเปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยสยาม” ในลำดับต่อมา โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยสยามมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มี พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย และ ดร.พรชัย มงคลวนิช เป็นอธิการบดี

 

41st anniversary institute founder memorial Dr. Narong Mongkhonvanit

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสยามมีนักศึกษารวมกว่า 15,000 คน มีนักศึกษานานาชาติกว่า 300 คนจากกว่า 15 ประเทศทั่วโลก เปิดดำเนินการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ รวมทั้งสิ้นกว่า 50 หลักสูตร โดยแบ่งออกเป็น 13 คณะ คือ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยนานาชาติ วิทยาลัยศิลปินแห่งเอเชีย คณะแพทยศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย ได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมแล้วกว่า 75,000 คน

มหาวิทยาลัยสยามได้รับการรับรองให้เป็นภาคีสมาชิกของสมาคมมหาวิทยาลัยนานาชาติ (International Association of Universities-IAU) สมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศ (International Association of University Presidents) ซึ่งอธิการบดีได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการบริหารสมาคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน และมหาวิทยาลัยยังได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกของสมาคมการศึกษาขั้นอุดมศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of South East Asian Institutions of Higher Learning-ASAIHL) สมาคมสถาบันการศึกษาด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยวแห่งภาคพื้น ยุโรป (EUHOFA) และสมาคมฝึกอบรมและพัฒนาองค์กรแห่งภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Asian Regional Training and Development Organization-ARTDO) และเป็นพันธมิตรทางการศึกษากับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างประเทศชั้นนำกว่า 54 สถาบันทั่วโลก

  • ตราสัญลักษณ์  ตราประจำมหาวิทยาลัยสยาม ประกอบด้วย ฟันเฟือง แผนที่ประเทศไทย และเรือใบ ซึ่งหมายถึง สถาบันที่ขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศไทยก้าวหน้าสถาวรสืบไป
  • สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ พระวิษณุกรรม บรมครูแห่งการช่าง ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยยังเป็น “วิทยาลัยเทคนิคสยาม” ปัจจุบันประดิษฐานอยู่บริเวณประตูด้านหน้ามหาวิทยาลัย
  • สี ประจำมหาวิทยาลัย คือ สีเหลือง-น้ำตาล โดยสีเหลือง หมายถึง ปัญญา ส่วนสีน้ำตาล หมายถึง ความรู้ความเชี่ยวชาญ สอดคล้องกับคำขวัญของมหาวิทยาลัยที่ว่า “ปัญญาเป็นรัตน ของนรชน”
  • ต้นไม้ ประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ ต้นหูกวาง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในมหาวิทยาลัยสยาม ในฤดูผลัดใบจะมีใบสีเหลืองและผลสีน้ำตาล สอดคล้องกับสีประจำประจำมหาวิทยาลัย
  • สัตว์สัญลักษณ์ ประจำมหาวิทยาลัย สัตว์สัญลักษณ์ ได้แก่ ช้าง ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของชาว “สยาม” มาแต่โบราณ

ปรัชญา

ปญญา นรานํ รตนํ (บาลี)
ปัญญาเป็นรัตนของนรชน (ไทย)
” Wisdom is an invaluable asset of mankind”

 

ดร.ณรงค์ มงคลวนิช (2480-2521) 15 สิงหาคม 2562

[quote font_size=”18″ color=”#ffdf42″ bgcolor=”#996633″ bcolor=”#ffdf42″ arrow=”yes”]ประวัติส่วนตัว[/quote]

อาจารย์ ดร.ณรงค์ มงคลวนิช เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2480 ณ อำเภอป้อมปราบฯ กรุงเทพมหานคร
บิดาชื่อนายเอี่ยม มงคลวนิช มารดาชื่อนางเจริญ มงคลวนิช  มีพี่น้องร่วมบิดา – มารดา 3 คน คือ

  • นายสะอาด มงคลวนิช
  • ดร.ณรงค์ มงคลวนิช
  • น.ส.กิ่งแก้ว มงคลวนิช

อาจารย์ ดร.ณรงค์ มงคลวนิช ได้สมรสกับดร.เกษลัย โล่โชตินันท์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2499 มีบุตรและธิดาด้วยกัน 6 ท่าน

  1. ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม
  2. อาจารย์พรศรี กตัญญูทวีทิพย์ รองประธานบริหาร วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)
  3. อาจารย์พรสวรรค์ พานิชชีวะ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านกิจการมหาวิทยาลัย และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท 168 คอมมูนิเคชั่น จำกัด
  4. คุณพรนภา จันศิริ นักธุรกิจระดับสูง
  5. อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
  6. รองศาสตราจารย์ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช รองอธิการบดี ฝ่ายบริหาร, ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)

ประวัติการศึกษา

  • ประถมศึกษา จากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก กรุงเทพฯ
  • มัธยมศึกษา จากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก กรุงเทพฯ
  • เตรียมอุดมศึกษา จากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก กรุงเทพฯ
  • ได้รับอนุปริญญาวิศวกรรมเครื่องยนต์ จากประเทศเยอรมันนี
  • ได้รับ Certificate in Mechanics and Service Personnel จาก Wolfsburg ประเทศเยอรมันนี
  • ได้รับ Certificate in Technical and Service Training จากประเทศญี่ปุ่น
  • ผ่านการศึกษาดูงานและฝึกอบรมในแขนงช่างกลและวิศวกรรม
  • ผ่านการฝึกอบรมชั้นผู้อำนวยการฝึกอบรมวิชากำกับลูกเสือ L.T.C. (Leader Trainers Course) รุ่นที่ 1 ณ ค่ายวชิราวุธ
  • ผ่านการอบรม กอ.รมน.
  • ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา

หน้าที่การงาน

ทางด้านการศึกษา

  • เป็นผู้ก่อตั้ง และผู้จัดการโรงเรียนสอนขับรถยนต์ และแก้เครื่องยนต์ มงคลเซอร์วิส
  • เป็นผู้ก่อตั้ง ผู้จัดการ และอาจารย์ใหญ่โรงเรียนช่างกลสยาม ซึ่งเป็นโรงเรียนช่างกลเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย
  • เป็นผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร วิทยาลัยเทคนิคสยาม
  • เป็นกรรมการบริหารสมาคมครูโรงเรียนราษฎร์
  • เป็นกรรมการบริหารสมาคมครูโรงเรียนราษฎร์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย

ทางด้านสังคม

  • เป็นกรรมการฝ่ายจัดหาทุน กองอาสากาชาด สภากาชาดไทย
  • เป็นประธานฝ่ายบันเทิง กองอาสากาชาด สภากาชาดไทย
  • เป็นกรรมการฝ่ายจัดหาทุน สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
  • เป็นกรรมการงานกาชาด ฝ่ายรักษาการและบริการ ติดต่อกันกว่า 10 ปี
  • เป็นรองประธานงานยุทธกรีฑา เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิสายใจไทย
  • เป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
  • เป็นผู้ประสานงานของกองลูกเสือร่วมกับกรุงเทพมหานครและมูลนิธิส่งเสริมการรักษาความสะอาดกรุงเทพมหานคร

ทางด้านลูกเสือ และผู้กำกับ นศท.

  • เป็นผู้ก่อตั้งกองลูกเสือวิสามัญโรงเรียนช่างกลสยาม
  • เป็นผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารพิเศษ
  • เป็นอุปนายกคนที่ 1 สโมสรลูกเสือวิสามัญแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519
  • เป็นวิทยากรในการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือวิสามัญขั้น พี.ที.ซี. และขั้นวู้ดแบดจ์ตลอดมาไม่น้อยกว่า 10 ปี
  • เป็นผู้อำนวยการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือวิสามัญขั้น พี.ที.ซี. หลายรุ่น
  • เป็นที่ปรึกษาในการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือวิสามัญขั้น พี.ที.ซี. หลายรุ่น
  • เป็นกรรมการฝ่ายฝึกอบรมคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติฝ่ายลูกเสือวิสามัญ
  • เป็นกรรมการโครงการลูกเสือพัฒนา ประจำคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  • เป็นกรรมการฝ่ายกิจกรรมลูกเสือและรักษาความปลอดภัยศิลปหัตถกรรมนักเรียนเป็นประจำ
    ทุกปี
  • เป็นกรรมการแผนกต่าง ๆ ในงานวันสวนสนามของคณะลูกเสือแห่งชาติทุกปี
  • เป็นกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติและงาน “กีฬาวันครู” ของคุรุสภา
  • ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่ตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาลูกเสือแห่งชาติ

ทางด้านสโมสรไลออนส์

  • 2515 – 2516 เป็นกรรมการ 2 ปี
  • 2516 – 2517 เป็นกรรมการ 1 ปี
  • 2517 – 2518 เป็นกรรมการ 1 ปี และเป็นประธานของสโมสรฯ
  • 2518 – 2519 เป็นอุปนายกคนที่ 3
  • 2519 – 2520 เป็นอุปนายกคนที่ 2
  • 2521 เป็นนายกสโมสรฯ และเป็นประธานฝ่ายแลกเปลี่ยนเยาวชนของไลออนส์สากลภาค 310 ปี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเกียรติคุณ

พ.ศ. 2511

  • ได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 3

พ.ศ. 2513

  • เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรับพระราชทานประกาศนียบัตรเกียรติคุณในการร่วมจัดทำ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนร่วมกับสโมสรไลออนส์สากล

พ.ศ. 2514

  • เข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และรับพระราชทาน เหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 2

พ.ศ. 2515

  • เข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และรับพระราชทานเข็มสังคมสงเคราะห์ชั้นที่ 1
    พ.ศ. 2519
  • เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี
  • เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และรับพระราชทานเข็มที่ระลึกการจัดงานยุทธกรีฑา

พ.ศ. 2520

  • ได้รับเข็มรูปกระเป๋ากระสุนคันชีพ เครื่องแบบเต็มยศทหารมหาดเล็กฯ
  • ได้รับเครื่องหมายเกียรติคุณ Presidential Appreciation Award จากสโมสรไลออนส์

พ.ศ.2521

  • เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และรับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1
  • ได้รับเครื่องหมายเกียรติคุณ 100% Attendance Award และ Presidential Appreciation Award จากสโมสรไลออนส์
  • เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และรับพระราชทานโล่เกียรติยศสำหรับสถาบันผู้บริจาคโลหิต สูงสุดติดต่อกันจนถึงปี พ.ศ. 2521
  • ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย

 

ดร.ณรงค์ มงคลวนิช (2480-2521) 15 สิงหาคม 2562

มรณกรรม

อาจารย์ ดร.ณรงค์ มงคลวนิช โดยปกติเป็นผู้ที่มีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์มากไม่เคยล้มเจ็บ ถึงขนาดต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเลย วันที่ 15 สิงหาคม 2521 ท่านอาจารย์ก็ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียนช่างกลสยามตามปกติ ในตอนเช้า ท่านได้เดินตรวจงานรอบ ๆ บริเวณโรงเรียนและสั่งงานผู้ใต้บังคับบัญชา โดยที่ไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยใด ๆ ทั้งสิ้น
เวลาประมาณ 10.00 น. ท่านเกิดอาการปวดศรีษะอย่างแรง จึงเอามือกุมขมับแล้วสั่งให้อาจารย์ท่านหนึ่ง ไปตามหมอ เมื่อหมอประจำโรงเรียนมาถึง พบท่านล้มลงที่หน้าห้องผู้ช่วยผู้อำนวยการ อาจารย์หลายท่านคิดว่าท่านเป็นลมธรรมดา จึงได้ช่วยกันปฐมพยาบาลจนท่านรู้สึกตัวและได้พูดคุยอย่างปกติ ภรรยาของท่านพยายามอ้อนวอนให้ไปโรงพยาบาล แต่ท่านไม่ยอมไป
เมื่อเห็นว่าท่านอาการดีขึ้นแล้วทุกคนต่างดีใจท่านก็ขอเอนหลังพิงพนักเก้าอี้ เมื่ออาจารย์ช่วยกันประคองท่านเอนลง ท่านก็เกิดอาการตัวเกร็ง ตาค้าง เมื่อเห็นอาการเช่นนั้น จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลธนบุรี หมอได้ช่วยชีวิตอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ แต่ไม่สามารถจะช่วยได้ ท่านสิ้นใจ ณ ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลธนบุรี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2521 เวลา 11.22 น. แพทย์ลงความเห็นว่า ท่านเสียชีวิตด้วยโรคเส้นโลหิตหัวใจตีบตัน รวมอายุได้ 41 ปี 8 เดือน 9 วัน

ณรงค์ มงคลวนิชผู้ก่อตั้งโรงเรียนมงคลเซอร์วิส


วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  (ม.ป.ป).  มหาวิทยาลัยสยาม.  เข้าถึงได้จาก https://hilight.kapook.com/view/39880

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ ดร.ณรงค์ มงคลวณิช ป.ม. ณ. เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์วัด
เทพศิริทราวาส วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522. (2521). กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์.

 

15 สิงหาคม วันที่ระลึก ดร.ณรงค์ มงคลวนิช ผู้สถาปนามหาวิทยาลัยสยาม