วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 มกราคม ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่สากลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก การกำหนดวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น เป็นการนับแบบสุริยคติ คือ ใช้พระอาทิตย์เป็นหลักในการกำหนดวัน ซึ่งถือว่าเป็นแบบที่ถูกต้องแน่นอน ตรงกับฤดูกาล และหลักวิทยาศาสตร์มากที่สุด จึงมีการกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่สากลของทุกประเทศทั่วโลก มีความเชื่อว่าเมื่อวันขึ้นปีใหม่มาถึง ความทุกข์โศกต่าง ๆ จะถูกทิ้งไว้กับปีเก่า จะรับเอาสิ่งใหม่ ๆ ความโชคดี และความสุข วันขึ้นปีใหม่ถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง และการเฉลิมฉลอง
ประวัติ
ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่สากล เริ่มเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 400 กว่าปีมา นี้เท่านั้น ก่อนหน้านั้นประเทศต่าง ๆ ได้กำหนดวันขึ้นปีใหม่ที่แตกต่างกันแล้วแต่จะกำหนดขึ้นมาเนื่องจาก ฤดูกาล ศาสนา และความเชื่อที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่จะกำหนด วันขึ้นปีใหม่ในวันเริ่มต้นของฤดูกาลใด ฤดูกาลหนึ่ง เป็นต้นว่า ชาวเยอรมณีโบราณได้แบ่งฤดูกาลออกเป็น 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน และ ฤดูหนาวจึงกำหนด วันขึ้นปีใหม่ในวันเริ่มต้นฤดูหนาว ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน จนกระทั่งเมื่อชาวโรมันได้เข้ามามีอำนาจ เหนือเยอรมนี จึงได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม นอกจากนี้ยังมีชาวอียิปต์ และชาวอาหรับ กำหนดวันขึ้นปีใหม่ประมาณวันที่ 21 กันยายน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นฤดูหนาวเช่นกัน แม้แต่ชาวโรมันโบราณ เองก็ยังถือเอาวันที่ 21 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม ในเวลาต่อมา และการนับวันขึ้นปีใหม่ยังเกี่ยวข้องกับศาสนา ศาสนิกชน ได้กำหนดวันขึ้นปีใหม่ ตามความเชื่อของศาสนาที่ตนนับถือ เป็นต้นว่า ชาวยิวมีวันขึ้นปีใหม่ถึง 2 วัน ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ทางราชการ คือ เดือนติษรี และวันขึ้นปีใหม่ทางศาสนา ประมาณวันที่ 21 มีนาคม ส่วนชาวคริสเตียน กำหนดวันขึ้น ปีใหม่ในวันที่ 25 มีนาคม ชาวอังกฤษเชื้อสายแองโกลแซกซอนได้กำหนดวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 25 ธันวาคม ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูกำหนดวันขึ้นปีใหม่ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นต้น
การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม เป็นการกำหนดตามปฏิทินที่สร้างขึ้นมานั้นเอง ซึ่งเกิด ขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยชาวบาบิโลเนียเป็นผู้สร้างปฏิทินและกำหนดวันต่าง ๆ ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งอาศัยการโคจรในระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลัก กำหนดให้เมื่อครบ 12 เดือน เป็น 1 ปี และทุก 4 ปี จะเพิ่มเป็น 13 เดือน แต่ปฏิทินอันนี้ยังมีความคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับฤดูกาล ต่อมาได้มีการแก้ไขอีกหลาย ครั้งจากนักดาราศาสตร์ชาติต่าง ๆ เพื่อให้สะดวกต่อการนับวันเวลา และตรงกับฤดูกาลมากขึ้น
ต่อมาก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 56 ปี จูเลียต ซีซาร์ ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาแก้ไข จูเลียตได้นำแนวความคิดของ โยนิเซ นักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ คือ ใน 1 ปี มีจำนวน 365 วัน และในปีที่ เรียกว่า อธิกสุรทิน จะมี 366 วัน วันที่เพิ่มเข้ามานั้นคือ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะเวียนมาในทุก 4 ปี เรียก ปฏิทินแบบนี้ว่า ปฏิทินแบบยูเลียน และได้กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม แต่ปฏิทินชนิดนี้วัน กับฤดูกาลไม่ตรงกัน โดยเฉพาะในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1582 ปฏิทินได้กำหนดไว้ว่ากลางวันกับกลางคืน จะมีเวลาเท่ากันพอดี คือ กลางวัน 12 ชั่วโมง และกลางคืน 12 ชั่วโมง เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่ปฏิทิน กำหนด แต่เกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.1582 แทน
ด้วยสาเหตุที่ปฏิทินแบบยูเลียนมีความไม่แน่นอนและไม่ตรงกับความเป็นจริง ในปี ค.ศ. 1582 พระสันตะปาปากรีกอรี่ที่ 8 จึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงปฏิทินใหม่ โดยการตัดวันในเดือนมีนาคมออก 10 วัน และเพิ่มวันในเดือนตุลาคมเข้าไปแทน ปฏิทินแบบนี้เป็นที่นิยมใช้กันในปัจจุบันนี้ ซึ่งมีความถูกต้องแน่นอนทำ ให้สะดวกในการนับ และกำหนดวันสำคัญต่าง ๆ มากขึ้น ปฏิทินมีชื่อตามชื่อของสันตะปาปากรีกอรี่ที่ 8 ว่า ปฏิทินกรีกอเรียน เมื่อมีการใช้ปฏิทินกรีกอเรียน ชาวคริสต์ที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิค จึงได้กำหนดวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่และได้แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ และใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่สากล ของทุกประเทศทั่วโลก
ส่วนของประเทศไทยก็มิได้กำหนดให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่มาแต่สมัยโบราณ ซึ่งมีการกำหนดวันขึ้นปีใหม่ถึง 3 ลักษณะ ได้แก่
- ลักษณะที่ 1 การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ตามแบบ จุลศักราช มีทั้งหมด 3 วัน ได้แก่ วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ หมายถึง วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายเข้าสู่ราศีใหม่ วันที่ 14 เป็นวันเนา หมายถึง วันที่พระอาทิตย์เข้าประจำราศีใหม่ และวันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก หมายถึง วันที่เริ่มต้นจุลศักราชใหม่
- ลักษณะที่ 2 การนับตาม จันทรคติ หรือ แบบปีนักษัตร การกำหนดปฏิทิน ในลักษณะนี้ถือวันขึ้น ปีใหม่ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 หรือเทศกาลตรุษนั่นเอง
- ลักษณะที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้มีการนับปฏิทิน ตามลักษณะ สุริยคติ และได้กำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่
ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นแบบสากล โดยคณะรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงครราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2483 ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นแบบ สากลนิยม ได้ให้เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นว่า ต้องการให้สอดคล้องกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอีกทั้ง ต้องการให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น แต่ประเพณีการขึ้นปีใหม่ในวันสงกรานต์นั้นชาวไทยก็ยังคงมีอยู่ไม่ได้ละทิ้งไป ด้วยถือว่าเป็นประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามที่สมควรอนุกรักษ์ให้สืบต่อไป
กิจกรรมวันขึ้นปีใหม่
- ทำบุญ ตักบาตร เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว
- การส่งการ์ดอวยพรในวันขึ้นปีใหม่ ให้แก่ บิดา มารดา ญาติ และเพื่อน ๆ เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งความสุข ความปรารถนาดีให้แก่กัน อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการระลึกถึงกันอีกด้วย
- การจัดงานรื่นเริง ร่วมรับประทานอาหารกันในวันปีใหม่
ศิริวรรณ คุ้มโห้. (2546). วันและประเพณีสำคัญ. กรุงเทพฯ: เดอะบุคส์.
อุดม เชยกีวงศ์. (2547). ปฏิทินประเพณี 12 เดือน. กรุงเทพฯ: ภูมิปัญญา.