ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑
การประชุมกลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ในคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ครั้งที่ ๑๘/๔/๒๕๖๕
กลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ในคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ชุดที่ ๑๘ (๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖) ได้จัดประชุม ครั้งที่ ๑๘/๔/๒๕๖๕ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๓๐ น. – ๑๖.๓๐ น. ผ่านระบบออนไลน์โปรแกรม Zoom เพื่อติดตามการดำเนินงานของกลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ มีห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในสมาชิกของกลุ่มงาน ที่เข้าร่วมประชุม จำนวน ๒๖ คน จาก ๑๖ สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยคริสเตียน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กทม. มหาวิทยาลัยศรีปทุม ชลบุรี มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
รายงานการประชุมกลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ครั้งที่ ๑๘/๔/๒๕๖๕ (PDF)
กลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามที่คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่ง อาจารย์พรรณี จิวพุทธิธรรม จากสำนักหอสมุดและทรัพยากรสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสยาม ประธานกลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ชุดที่ ๑๘ (วาระที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖) ได้ดำเนินการประชุม โดยสรุปหัวข้อการประชุม ครั้งที่ ๑๘/๔/๒๕๖๕ ดังนี้
๑. ประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้การประชุม/อบรม/สัมมนา
จากกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “Smart Subject Suggester ผู้ช่วยบรรณารักษ์แค็ตตาล็อกยุคใหม่” จัดโดย หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๕ ประกอบ ด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรม Smart Subject Suggester ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับบุคลากรห้องสมุดต่างๆ ควรศึกษาไว้เพื่อใช้ประกอบการปฏิบัติงานของห้องสมุด
- เอกสารประกอบดาวน์โหลด ได้ที่ >> https://bit.ly/3dLit36
- วิดีโอรับชมย้อนหลัง ได้ที่ >> https://www.youtube.com/watch?v=PN1sS3blfNY
- ลงทะเบียนใช้งานระบบ ได้ที่ >> http://smartsubject.library.tu.ac.th/register.php
๒. สรุปผลการประชุมของ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุด สถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ชุดที่ ๑๘ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕
คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุด สถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ชุดที่ ๑๘ ได้จัดการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๓๐ น. – ๑๖.๓๐ น. ผ่านโปรแกรม Zoom โดยมีสาระสำคัญในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการของกลุ่มงานต่างๆ คือ กลุ่มงานในคณะอนุกรรมการฯ สามารถเบิกเงินงบประมาณเพื่อใช้ในโครงการที่มีค่าใช้จ่ายได้ โดยต้องนำเสนอโครงการต่อที่ประชุม คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ
ทั้งนี้ ประธานกลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ได้รายงานผลการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุด สถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ดังที่คณะอนุกรรมการกลุ่มงานได้ทราบแล้วทาง Line กลุ่ม ตามที่ปรากฏใน “รายงานการดำเนินงานของ กลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ชุดที่ ๑๘ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕”
๓. โครงการพัฒนาทักษะใหม่ (UpSkill / ReSkill) บุคลากรกลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ อพส.
กลุ่มงานได้จัด กิจกรรมการเพิ่มพูนความรู้ทักษะการสร้างสื่อมัลติมีเดียสำหรับบรรณารักษ์ในยุคดิจิทัล : เรื่อง “FOLIO ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ใช้มาตรฐานใหม่” วิทยากร โดย คุณนันทรัตน์ นนทิวัฒน์วณิช จากบริษัท EBSCO โดยเริ่มกิจกรรมในเวลา ๑๓.๓๐ -๑๕.๐๐ น. ก่อนการประชุมวาระอื่นๆ (กำหนดเวลาประมาณ ๑ ชม. ๓๐ นาที)
มติที่ประชุม จากกิจกรรมข้างต้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น โดยวิทยากรได้ให้ลิงค์เว็บไซต์สำหรับดูข้อมูลเพิ่มเติม/ทดลองใช้งาน/Demo Folio ที่ https://wiki.folio.org (ใช้ Login : diku_admin และpassword: admin) และความรู้เรื่อง Bibframe ที่ลิงค์ https://loc.gov/bibframe/mtbf/ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จากบุคลากรกลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ อพส. จำนวน ๒๕ คน และบุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จำนวน ๒๕ คน รวมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น ๕๐ คน
๔. ความคืบหน้าโครงการพัฒนาหัวเรื่องใหม่โดยผ่าน google.doc
ผู้รับผิดชอบโครงการจาก ศูนย์เรียนรู้และหอสมุด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นำเสนอความคืบหน้าโครงการพัฒนาหัวเรื่องใหม่โดยผ่าน google.doc โดยได้ดำเนินการรวบรวมและจัดสร้าง Link ใหม่ใน google.doc เพื่อใช้ในการนำเสนอหัวเรื่องใหม่ให้ที่ประชุมพิจารณาที่ลิงค์: https://shorturl.asia/YbItR
ปัจจุบันมีหัวเรื่องใหม่ที่นำเสนอโดย มหาวิทยาลัยศรีปทุม และรอการพิจารณาจำนวน ๖ หัวเรื่อง ดังนี้
- ๑) เมทาเวิร์ส (Metaverse)
- ๒) ความเป็นจริงเสมือน
- ๓) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์
- ๔) น้ำกัญชา
- ๕) เงินดิจิทัล
- ๖) มนุษย์ในภาพยนตร์
มติที่ประชุม ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติหัวเรื่อง ผ่าน ๕ หัวเรื่อง คือลำดับที่ ๑, ๒, ๔, ๕, ๖ และรอการตรวจสอบ ๑ หัวเรื่อง คือ หัวเรื่องลำดับที่ ๓ และเสนอแนะให้ผู้นำเสนอหัวเรื่องใหม่ ใส่หัวเรื่องภาษาอังกฤษควบคู่กันกับหัวเรื่องภาษาไทย และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลุ่มงานฯ นำเสนอหัวเรื่องใหม่ตามลิงค์ข้างต้น
๕. ความคืบหน้าโครงการรวบรวมแหล่ง Open Access eBook & eJournal
ผู้รับผิดชอบโครงการจากมหาวิทยาลัยสยาม นำเสนอความคืบหน้าโครงการรวบรวมแหล่ง Open Access eBook & eJournal โดยได้ขยายการรวบรวมข้อมูลของโครงการจากแหล่งหรือฐานข้อมูล Open Access ด้าน eTheses & eResearch และได้ดำเนินการอัพเดทข้อมูลใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ได้เพิ่มฐานข้อมูล Open Dissertation & Theses ซึ่งเป็นฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ ในต่างประเทศ อีก 8 ฐาน ได้แก่ ฐานข้อมูล Dissertations.se, DiVA portal, EBSCO Open Dissertation, EThOS e-theses online service, NDLTD: GLOBAL ETD SEARCH, OhioLINK, ProQuest Open-Access และ Theses Canada โดยได้เผยแพร่และอัพเดทแหล่งข้อมูลไว้ที่ https://e-library.siam.edu/open-access-database/ ทั้งนี้เมื่อครบวาระของกลุ่มงานพัฒนาฯ ชุดที่ ๑๘ ในเดือน กรกฎาคม ๒๕๖๖ จะสรุปจำนวนแหล่ง Open Access eBook & eJournal / eTheses & eResearch ทั้งหมดที่รวบรวมได้ ให้สมาชิกได้ทราบต่อไป
๖. ความคืบหน้าโครงการจัดการความรู้ (KM) / กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง UNION CATALOG: การนำเข้าข้อมูลบรรณานุกรม โครงการจัดการความรู้ (KM) / กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง UNION CATALOG: การนำเข้าข้อมูลบรรณานุกรม ได้ดำเนินงานโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้รายงานผลการดำเนินงานให้กับคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) รับทราบแล้วในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕
๗. ความคืบหน้าโครงการจัดการความรู้ (KM) / กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง การนำเข้าข้อมูล TDC–ThaiLis Digital Collection
สำหรับกิจกรรมเรื่อง การนำเข้าข้อมูล TDC-ThaiLis Digital Collection ได้ดำเนินงานโครงการ ดังนี้
- การแบ่งปัน/ถ่ายทอดองค์ความรู้การนำเข้าข้อมูล TDC-ThaiLis Digital Collection ด้วยรูปแบบ Flow Chart ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
- การจัดทำคู่มือการนำเข้าข้อมูล TDC-ThaiLis Digital Collection ผู้รับผิดชอบ โดยมหาวิทยาลัยรังสิต ได้รายงานผลการดำเนินการต่อที่ประชุม ดังนี้ ได้จัดส่ง คู่มือการปฏิบัติงาน เรื่อง “การดำเนินงานระบบจัดเก็บเอกสารฉบับเต็มในรูปอิเล็กทรอนิกส์” ตามโครงการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดในประเทศไทย (ThaiLIS) ให้กับคณะอนุกรรมการทางกลุ่มไลน์ อพส.๑๘ กลุ่มงานพัฒนาฯ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ เรียบร้อยแล้ว
๘. ความคืบหน้าโครงการพัฒนาทักษะใหม่ (UpSkill / ReSkill) บุคลากรกลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ อพส.
๑) สรุปผลการดำเนินงานกิจกรรมการเพิ่มพูนความรู้ทักษะการสร้างสื่อมัลติมีเดียสำหรับบรรณารักษ์ในยุคดิจิทัล: เรื่อง การนำ Line Notify มาประยุกต์ใช้ในงานห้องสมุด เมื่อวันพุธที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ วิทยากรผู้แบ่งปันความรู้/ถ่ายทอดความรู้ โดย อาจารย์พรรณี จิวพุทธิธรรม ประธานกลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ และหัวหน้าแผนกพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดและทรัพยากรสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสยาม โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน ๔๑ คน จากสรุปผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีระดับความพึงพอใจโดยรวม อยู่ในระดับมาก ๔.๒๒ คะแนน และอยู่ในระดับมาก ในทุกด้าน ด้านที่มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด คือระดับความพึงพอใจการจัดกิจกรรม/สื่อ/เครื่องมือ/อุปกรณ์/ระยะเวลา/วิทยากร เฉลี่ย ๔.๔๑ คะแนน รองลงมาตามลำดับ คือ ด้านการนำความรู้ไปใช้ เฉลี่ย ๔.๑๘ คะแนน และด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือด้านความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาตามหัวข้อเรื่อง ก่อนการอบรม เฉลี่ย ๓.๓๓ คะแนน ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้เสนอหัวข้อที่อยากให้จัดอบรมครั้งต่อไปในหลากหลายหัวข้อ ตามรายละเอียดใน “สรุปผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมการเพิ่มพูนความรู้ทักษะการสร้างสื่อมัลติมีเดียสำหรับบรรณารักษ์ในยุคดิจิทัล : เรื่อง การนำ Line Notify มาประยุกต์ใช้ในงานห้องสมุด” (เอกสารแนบ ๑ หน้า ๘-๑๐) มติที่ประชุม ที่ประชุมรับทราบ
๒) กิจกรรมการเพิ่มพูนความรู้ทักษะการสร้างสื่อมัลติมีเดียสำหรับบรรณารักษ์ในยุคดิจิทัล : เรื่อง “การสร้างสื่อให้ดึงดูดโดยใช้โปรแกรม Canva” โดยการเข้าร่วมกิจกรรมกับ กลุ่มงานบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ นั้น ยังไม่มีความคืบหน้าของการจัดกิจกรรมจากกลุ่มงานบริการฯ อีกทั้งได้ทราบว่า ถ้าหากกลุ่มงานบริการฯ จะดำเนินจัดกิจกรรม จะจำกัดจำนวนผู้เข้าอบรม ประธาน จึงได้เสนอแนะให้กลุ่มงานพัฒนาฯ จัดกิจกรรมกันเอง หากสมาชิกกลุ่มงานยังต้องการความรู้ในเรื่องดังกล่าว มติที่ประชุม ที่ประชุมเห็นควรดำเนินการตามที่ประธานเสนอแนะ และขอขอบคุณประธาน (อาจารย์พรรณี จิวพุทธิธรรม) ที่ได้กรุณาอาสาเป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้ให้กับคณะอนุกรรมการกลุ่มงานในเรื่องดังกล่าว โดยกำหนดให้จัดกิจกรรม ควบคู่ไปกับการประชุมของกลุ่มงานในครั้งต่อไป
๙. ความคืบหน้าโครงการแบ่งปันความรู้สู่ชุมชน
ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ ๑๘/๓/๒๕๖๕ ได้มีมติปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมการแบ่งปันความรู้สู่ชุมชน จากรูปแบบการมอบหนังสือให้ชุมชน เป็นรูปแบบอื่น เนื่องจากรูปแบบเดิมไม่ตอบสนองกับความต้องการของชุมชน หรืออาจจะจัดโครงการอื่นทดแทนโครงการแบ่งปันความรู้สู่ชุมชน โดยคณะอนุกรรมการกลุ่มงานฯ ขอนำกลับไปคิดโครงการและจะนำเสนอในที่ประชุมกลุ่มงานฯ ในครั้งนี้ นั้น
คณะอนุกรรมการกลุ่มงานฯ ได้เสนอความคิดเห็นอย่างหลากหลายและอภิปลายปัญหา ทั้งในเรื่องของรูปแบบการจัดกิจกรรม/โครงการอื่นทดแทน แต่ยังไม่สามารถสรุปผลการจัดกิจกรรมและการดำเนินงานของโครงการนี้ได้
มติที่ประชุม ที่ประชุมเห็นควรยังคงสถานะโครงการไว้เป็น อยู่ระหว่างดำเนินการ/ปรับเปลี่ยนโครงการอื่นทดแทน และประธานขอให้สมาชิกกลุ่มงานฯ ได้ระดมความคิดกันอีกครั้งในวาระการประชุมครั้งต่อไป
๑๐. ความคืบหน้าการเผยแพร่รายงานการประชุมของกลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศบน เว็บไซต์ของ อพส. หรือ Thaipul ที่ https://www.thaipul.org
จากการตรวจสอบการเผยแพร่ รายงานการประชุมของกลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ครั้งที่ ๑๘/๑/๒๕๖๔- ครั้งที่ ๑๘/๓/๒๕๖๕ บน เว็บไซต์ของ อพส. หรือ Thaipul ที่ https://www.thaipul.org นั้น พบว่า มีข้อผิดพลาดในการนำรายงานการประชุมไปเผยแพร่ผิดกลุ่มงาน ซึ่งเป็นการนำรายงานการประชุมของกลุ่มงานบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาเผยแพร่บนเมนูของกลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสานเทศ ประธาน จึงได้ขอให้ทางผู้รับผิดชอบเว็บไซต์ของ อพส. ช่วยแก้ไขในเรื่องดังกล่าวด้วย
มติที่ประชุม ที่ประชุมรับทราบ และผู้รับผิดชอบเว็บไซต์จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้รับเรื่องไปดำเนินการแก้ไขต่อไป
* รู้จัก กลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ในคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.)
กลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ จัดตั้งขึ้นโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) หรือ ThaiPUL ก่อนจะรู้จักกับกลุ่มงาน ต้องทำความรู้จักกับ อพส.ก่อน อพส. หรือ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ได้เริ่มขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พุทธศักราช 2528 ด้วยความร่วมมือของกลุ่มบรรณารักษ์จากห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จำนวน 11 แห่ง ได้นัดหมายมาประชุมปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาหารูปแบบของความร่วมมือที่เหมาะสมที่ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทุกแห่งจะพึงร่วมมือกันได้ โยมีนายบุญสิริ สุวรรณเพ็ชร์ หัวหน้าบรรณารักษ์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานจัดการประชุม และมี รศ.ดร.นวนิตย์ อินทรามะ เป็นที่ปรึกษาที่ประชุมได้คัดเลือกคณะกรรมการดำเนินงานความร่วมมือเป็นชุดแรกจำนวน 6 คน และได้จัดตั้งเป็น “ชมรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (ชสอ. หรือ HPEL Group)” มีนายบุญสิริสุวรรณเพ็ชร์ เป็นประธานชมรม ในปี พุทธศักราช 2530 ชมรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น“คณะอนุกรรมการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพห.)” อยู่ภายใต้การคำแนะนำของคณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนาในสังกัดสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย(สสอท.) และจากมติที่ประชุมคณะกรรมการฝ่ายบริหาร สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย(สสอท.) ครั้งที่ 6/2543 วันที่ 25 ตุลาคม 2543 ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มีมติให้ เปลี่ยนชื่อย่อ จาก อพห. เป็น อพส. และมีชื่อเต็มคือ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
พันธกิจ
สร้างข้อตกลงในความร่วมมือด้านการจัดหา การสนับสนุน และการใช้ทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับแต่ละสถาบัน ด้วยความประหยัด และยุติธรรม
วัตถุประสงค์
อพส. คือ กลไกการรวมพลัง ความสามัคคีระหว่างห้องสมุด ศูนย์สารสนเทศ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพงานบริการทางด้านวิชาการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้ 1. ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาทรัยากรการเรียนรู้และบริการสารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและการบริการทางวิชาการของห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ 3. ส่งเสริมการค้นคว้าและวิจัยเพื่อผลิตผลงานในสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ 4. เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการประสบการณ์ของบุคลากรในวิชาชีพ
หน้าที่ ของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.)
1. กำหนดนโยบายและประสานงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ 2. มอบหมายงานให้ผู้เกี่ยวข้อง 3. แต่งตั้งกลุ่ม 4. ร่วมมือกันแก้ปัญหา 5. ประสานงานพื่อให้เกิดการทำงานอย่างแท้จริง
กิจกรรม ที่คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ควรจัดทำ
1. กำหนดนโยบาย โครงสร้างให้เป็นลายลักษณ์อักษร 2. อนาคตของห้องสมุดควรจะพัฒนาไปในทิศทางของศูนย์สารนิเทศแห่งชาติ 3. บริการยืมคืนระหว่างห้องสมุดควรมีการขยายกว้างขึ้น 4. การนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ 5. อุปกรณ์การสื่อสาร 6. ฐานข้อมูลสำเร็จรูป 7. มีกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้น 8. ควรมีการประเมิณผลของกิจกรรมที่ผ่านมา 9. ควรมีการวางแผนระยะสั้น-ระยะยาว 10. เผยแพร่ข่าวสารเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง 11. ควรมีการประชาสัมพันธ์
การแบ่งกลุ่มงาน
2528 นับตั้งแต่ได้ร่วมมือกันปฏิบัติงานมาตั้งแต่ พุทธศักราช 2528 จนถึงปัจจุบัน พุทธศักราช 2546ได้ดำเนินการร่วมมือแบ่งกลุ่มงานพร้อมกับความร่วมมือของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มงานเทคนิค 2. กลุ่มงานบริการ 3. กลุ่มงานโสตทัศนบริการ 4. กลุ่มงานวารสาร 5. กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ 2552 คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ครั้งที่ 12/1/2552 วันพุธที่ 5 สิงหาคม 2552 ณ ห้องประชุมสุรัตน์ 1 อาคารหอสมุด สุรัตน์โอสถานุเคราะห์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต มีมิติให้รวมกลุ่มงาน โดยยุบรวมกลุ่มงานวารสารรวมเข้ากับกลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ กลุ่มงานโสตทัศนบริการยุบรวมในกลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ เหลือ 4 กลุ่มงาน ดังนี้ 1. กลุ่มงานบริการสารสนเทศ 2. กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ 3. กลุ่มงานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ 4. กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ 2561 คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ครั้งที่ 1/2561 วันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุม ช้ัน 8 อาคาร 24 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีมิติให้รวมกลุ่มงาน เหลือเพียง 2 กลุ่มงาน ดังนี้ 1. กลุ่มงานพัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ 2. กลุ่มงานบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
วัตถุประสงค์ของกลุ่มงาน
คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) มีมติให้การส่งตัวแทนเข้าร่วมกลุ่มงานโดยพิจารณาหัวหน้างานหรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจรองจากหัวหน้างานเข้าร่วมประชุมคณะทำงานโดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน ดังนี้ 1. ส่งเสริมการผลิตงานทางวิชาการ 2. เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทางวิชาการของบุคลากร 3. ส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน 4. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการบริการวิชาการ * ที่มา : http://www.thaipul.org/index.php/2016-02-19-07-17-31