วันสุนทรภู่ กวีเอกของโลก
เพื่อระลึกถึงวันคล้ายวันเกิดของ พระสุนทรโวหาร (ภู่) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2329 ผู้เป็นกวีเอกในยุคทองของวรรณคดีไทย ท่านเป็นกวีที่มีอัจฉริยะ ความสามารถอย่างมากในงานนิพนธ์ของท่านมีทั้งนิราศ กลอน บทละคร สุภาษิต รวมไปถึงพงศาวดารล้วนแต่เป็นงานที่ทรงคุณค่า ทั้งทางด้านภาษาไทย วรรณกรรม และ ประวัติศาสตร์ บทประพันธ์ของสุนทรภู่สะท้อนไปถึงสภาพของสังคมในยุคนั้นอย่างชัดเจน ในส่วนของนิราศ เป็นการบันทึกการเดินทางที่ได้เห็นถึงสภาพภูมิประเทศในสมัยนั้น งานนิพนธ์ของท่านไม่เพียงแต่ให้ความรู้ เท่านั้น ยังให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ไพเราะ อีกทั้งสอนแทรกคติสอนใจ ธรรมะ ข้อควรปฏิบัติ ดังจะเห็น ได้จากสุภาษิตสอนหญิง เพลงยาวถวายโอวาท และสวัสดิรักษา หรือแม้แต่ในนิทานเรื่องต่าง ๆ ก็ได้สอดแทรก คติสอนใจไว้ด้วยทำให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ งานนิพนธ์ของท่านไม่ได้รับความนิยมอยู่แต่ในยุคสมัยของ ท่านเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมจวบจนถึงปัจจุบันนี้
ในวาระครบรอบ 200 ปี ของพระสุนทรโวหาร และจากผลงานด้านวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า ท่านจึงได้ รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลผู้มี ผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก
ประวัติสุนทรภู่
พระสุนทรโวหาร หรือที่รู้จักในนามว่า สุนทรภู่ เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1)
บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นคนจังหวัดไหนไม่ปรากฏ ตั้งแต่สุนทรภู่ยังเด็ก บิดากลับไปบวชที่เมืองแกลง ส่วนมารดามีสามีใหม่มีลูกผู้หญิงอีก 2 คน ชื่อฉิมกับนิ่ม ต่อมามารดาได้เป็นแม่ นมของพระองค์เจ้าจงกล พระธิดาของกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่จึงเข้าไปอยู่ในวังกับมารดา ตอนยังเป็นเด็ก สุนทรภู่ได้เล่าเรียนที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) โตขึ้นก็เข้ารับราชการเป็นนายระวางพระคลังสวน ไม่นาน ก็ ลาออกเพราะไม่ชอบงานนี้ ชอบแต่การแต่งกลอน และแต่งสักวาเท่านั้น
ต่อมาสุนทรภู่มีสัมพันธ์รักกับสาวชาววังชื่อจัน จึงถูกจองจำทั้งคู่ ครั้นพ้นโทษ แล้วก็ได้แต่งงานกัน และถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสของพระราชวังหลัง สุนทรภู่มีบุตรชายกับจัน ชื่อพัด ชีวิตคู่ของสุนทรภู่ไม่ราบรื่นเลยมักระหองระแหงกันเสมอ จนในที่สุดก็เลิกร้างกัน แล้วสุนทรภู่ก็ได้เข้า รับราชการกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เป็นที่โปรดปรานมากจนได้รับการแต่ง ตั้งให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร เวลาที่ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนติดขัดก็มักให้ สุนทรภู่แต่งต่อให้ ระยะนี้เอง สุนทรภู่ก็ได้ภรรยาใหม่ชื่อนิ่ม มีบุตรด้วยกันชื่อตาบ นิ่มเสียชีวิตไปตั้งแต่ตาบยังเล็กอยู่ คราวหนึ่งสุนทรภู่ เมาสุราแล้วทำร้ายญาติผู้ใหญ่จนบาดเจ็บจึงถูกจำคุก ในระหว่างต้องโทษนี้เอง ที่สุนทรภู่แต่งนิทาน เรื่อง พระอภัยมณี เพื่อขายเอาเงินมาเลี้ยงชีวิต จำคุกได้ไม่นานก็พ้นโทษออกมารับราชการตามเดิม
เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ก็ออกจากราชการเพราะไม่เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ออกจากราชการแล้วสุนทรภู่ก็บวชเป็นพระภิกษุในวัดราชบูรณะ บวชได้ราว 3 พรรษา ก็ต้องอธิกรณ์ (โทษ) ถูกขับไล่ออกจากวัดในข้อหาเสพสุรา จึงไปอยู่ที่วัดอรุณราชวรารามไม่นานก็ย้ายไปที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ และวัดสุดท้ายคือวัดเทพธิดาราม แล้วก็สึกออกมารวมเวลาบวชเป็นพระภิกษุประมาณ 18-20 ปี จากนั้นก็ตกยากจนไม่มีบ้านอยู่ต้องลอยเรือร่อนเร่แต่งกลอนขาย
ปลายรัชกาลที่ 3 เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์โปรด ฯ ให้สุนทรภู่ไปอยู่ที่ราชวังของพระองค์ ครั้นได้รับสถาปนาเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ก็โปรดเกล้าให้สุนทรภู่เข้ารับราชการเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร รับราชการเพียง 5 ปีก็ถึงแก่กรรม พ.ศ.2398 รวมอายุได้ 69 ปี
ผลงานของสุนทรภู่
ผลงานสุนทรภู่ และวรรณกรรมของสุนทรภู่ มีอยู่มากมาย มีทั้งที่เป็น
ประเภทนิราศ 9 เรื่อง
- นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
- นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไป นมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา
- นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา
- นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัด
สุพรรณบุรีเป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง - นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา
- นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา
- รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น “รำพันพิลาป” จากนั้นจึงลาสิกขา
- นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี
- นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร
ประเภทนิทาน 5 เรื่อง
- โคบุตร
- พระอภัยมณี
- พระไชยสุริยา
- ลักษณวงศ์
- สิงหไกรภพ
ประเภทสุภาษิต 2 เรื่อง
- สวัสดิรักษา คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
- เพลงยาวถวายโอวาท คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว
ประเภทบทละคร 1 เรื่อง
- อภัยณุรา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประเภทบทเสภา
- ขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)
- พระราชพงศาวดาร
ประเภทบทเห่กล่อม 4 เรื่อง
แต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ
- บทเห่ เรื่องจับระบำ
- บทเห่ เรื่องโคบุตร
- บทเห่ เรื่องพระอภัยมณี
- บทเห่ เรื่องกากี
รวมทั้งสิ้น 23 เรื่อง
ตัวอย่างบททวีที่คุ้นเคยสำหรับคนไทย
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ
กลอนสุนทรภู่ จากบทกวี เรื่อง นิราศภูเขาทอง
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
กลอนสุนทรภู่ จากบทกวี เรื่อง พระอภัยมณี (ตอน พระฤาษีสอนสุดสาคร)
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ จังหวัดระยอง
- ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
- พิกัด : https://goo.gl/maps/miZ3sFDhk8gKvqY26
- เปิดให้เข้าชม : เวลา 06.00-18.00 น.
บทความอ้างอิง
- ศิริวรรณ คุ้มโห้. (ผู้เรียบเรียง). (2546). วันและประเพณีสำคัญ. กรุงเทพฯ: เดอะบุคส์.
- สมบัติ จำปาเงิน. (2547). วันสำคัญของเรา. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์.
- ประวัติสุนทรภู่ ความเป็นมาของสุนทรภู่ กวีเอกของโลก. (2557). เข้าถึงได้จาก https://www.dmc.tv/pages//26-มิถุยายน-วันสุนทรภู่กวีเอกของโลก.html
- ผลงานสุนทรภู่. (2557). เข้าถึงได้จาก https://nattapitcha95.wordpress.com/ผลงานท่านสุนทรภู่/