วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๓ โดยคุณหญิง เนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา เป็นผู้ริเริ่ม หลักการและเหตุผลที่มีการจัดตั้งวันพ่อ เนื่องจากพ่อ เป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนและตอบ แทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ อีกทั้งยังทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและ พระราชธิดาที่ทรงรักใคร่ห่วงใย ตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน และพระเจ้าหลานเธอทุก ๆ พระองค์ต่างซาบซึ้ง ในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น ‘พ่อ’ ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระ เมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระโอรสองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออร์เบินณ์ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระองค์ทรงมีพระเชษฐา- ธิราช (พี่ชาย) และพระเชษฐภคินี (พี่สาว) ๒ พระองค์คือ
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘)
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์และได้ทรงราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๔ พระองค์ คือ
- ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
สวรรคต
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดี ที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เวลา ๑๕ นาฬิกา ๕๒ นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ ๘๙ ทรงครองราชย์สมบัติได้ ๗๐ ปี
พระราชกรณียกิจ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคตลอดปี โดยได้เสด็จประทับแรมที่พระตำหนัก ตามภาคต่าง ๆ เพื่อจะได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชน และหาทางแก้ไขต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงทำให้เกิดโครงการ เช่น โครงการพัฒนาที่ดินทำกินเพื่อให้ราษฎรมีที่ทำมาหากิน โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ การทำฝนเทียมเพื่อแก้ปัญหาฝนแล้ง การประมง การเลี้ยงสัตว์ การตั้งสหกรณ์ เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงเสด็จเยี่ยมทหาร ตำรวจและอาสาสมัครในจังหวัดต่าง ๆ
ตลอดจนเขตที่มีภัย อันตราย รวมทั้งผู้บาดเจ็บจากการป้องกันประเทศตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด นอกจากนั้นยังทรงโปรดให้มีหน่วยแพทย์พระราชทาน เพื่อให้การรักษาพยาบาลราษฎรในชนบท เช่น ตรวจสุขภาพ ปลูกฝี ฉีดยา เป็นต้น ถ้าราษฎรคนใดเจ็บป่วยเรื้อรังก็ทรงรับเป็นคนไข้ส่วนพระองค์ ส่งมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ ทรงโปรดให้มีการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาในยามที่ราษฎรได้รับความทุกข์ยากจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ วาตภัย หรือจากผู้ก่อการร้าย โดยพระองค์ทรงพระราชทานแนวทางแก้ไข รวมถึงเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อาหาร ตลอดจนที่อยู่อาศัยแก่ราษฎรที่เดือดร้อนอีกด้วย
อีกทั้งยังทรงส่งเสริมการศึกษา โดยได้ทรงพระราชทาน ทรัพย์ส่วนพระองค์ ตั้งกองทุน ภูมิพล พระราชทานแก่นิสิตนักศึกษาที่เรียนดี ทรงริเริ่มให้จัดทำสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชนขึ้น เพื่อให้เด็กแต่ละวัยสามารถค้นคว้าได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังเสด็จพระราชดำเนินไปพระราช ทานปริญญาบัตรที่จบการศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วย ทรงอุปถัมภ์และบำรุงศาสนาทุกศาสนา ทรงทะนุบำรุงวัดวาอารามต่าง ๆ พร้อมทั้งเสด็จขึ้นบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนาอยู่เสมอด้วย
พระราชกรณียกิจที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์แก่ราษฎรทั้งสิ้น ดังนั้นใน วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุก ๆ ปี สถานที่ราชการโรงเรียนและบริษัทต่าง ๆ จะหยุด ๑ วัน เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กิจกรรมเนื่องในวันพ่อแห่งชาติ ณ ท้องสนามหลวง
วันที่ 5-14 ธันวาคม 2562 ณ ท้องสนามหลวง ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ประชาชนร่วมถวายสักการะพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ชมนิทรรศการ “ปณิธานความดี…มีแล้วแบ่งปัน” “ชุมชนต้นแบบแห่งความดี…วิถีไทยในแบบพ่อ” โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก สภากาชาดไทย ฝึกอาชีพ ซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และมอบพันธุ์กล้าไม้ ทั้งนี้ ตลอดเดือนธันวาคม 2562 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจิตอาสา แต่งกายด้วยเสื้อสีเหลือง ร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ได้แก่ การขุดลอกคูคลอง จัดการขยะ เลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้ด้วยโอกาส เป็นต้น
หากผู้อ่านท่านใดสนใจ ก็สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่สำนักทรัพยากรสารสนเทศ OPAC ซึ่งทางสำนักฯ เรามีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ ของพระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ อีกหลากหลายชื่อเรื่อง อาทิเช่น เรื่อง “วันสำคัญของเรา” ที่เลขหมู่ (394.26 ส255ว 2547) เรื่อง “พระธรรมราชาธิราช พระผู้ครองแผ่นดินโดยธรรม” เลขหมู่ (อ 923.1593 พ456พ 2555) เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการหลวง” เลขหมู่ (อ 923.1593 พ343 2551) และเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับเศรษฐกิจพอเพียง” เลขหมู่ (อ 923.1593 ท216พ 2550) ไว้คอยบริการท่านอยู่
- พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ และคณะ. (2555). พระธรรมราชาธิราช พระผู้ครองแผ่นดินโดยธรรม. กรุงเทพฯ: บริษัท เพื่อนเรียน เด็กไทย จำกัด.
- ภีศเดช รัชนี, ม.จ. (2551). พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการหลวง. กรุงเทพฯ: Allied Printers.
- สมบัติ จำปาเงิน. (2547). วันสำคัญของเรา. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์.
- สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2550). พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับ เศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
- Voicetv. (2556). ประวัติความเป็นมา วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2556. เข้าถึงได้จาก https://www.voicetv.co.th/read/90104
โพสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
- แนะนำหนังสือ เดือนธันวาคม
- ชื่อหนังสือ: พระในหลวงในสมัย รัชกาลที่ 9
- ชื่อหนังสือ: 109 พระอรหันต์และธรรมะกับพระราชา (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)
- วันดินโลก “World Soil Day” สดุดีพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9
- แผ่นพับที่ระลึก ๓ มิติ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ ๙
- หนังสือธนบัตรรัชกาลที่ ๙เอกลักษณ์แห่งองค์พระมหากษัตริย์และความเป็นไทย