รําลึก 29 ปี วัน สืบ นาคะเสถียร 2562

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอเชิญร่วมงาน รําลึก 29 ปี วัน สืบ นาคะเสถียร 2562 ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม  – 1 กันยายน 2562 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี และ จัดกลางกรุงอีกครั้งวันที่ 3 – 8 กันยายน 2562 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สืบนาคะเสถียร

กำหนดการ ดูรายละเอียดที่


สืบ นาคะเสถียร คุณธรรม

วัน สืบ นาคะเสถียร 2562 วันที่ 1 กันยายน ย้อนรำลึกถึงการจากไป ของนักอนุรักษ์ไทย อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัด อุทัยธานี  ที่ทุ่มเททั้งชีวิตในการอนุรักษ์ป่า พยายามที่จะปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้เห็นถึงความสำคัญของป่าไม้และสัตว์ป่า  ภายหลังการเสียชีวิตของคุณสืบ 18 วัน มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2533 วันเดียวกับการครบรอบ 94 ปีของกรมป่าไม้ หน่วยงานต้นสังกัดของนักอนุรักษ์นี้

นายสืบ นาคะเสถียร ผลงาน

สืบ นาคะเสถียร หรือนามเดิมชื่อ “สืบยศ” แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สืบ” โดยตัดคำว่า “ยศ” ออกในช่วงที่เป็นนักศึกษา วนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  • พ.ศ.2492 เกิดวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม ที่ตำบลท่างาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี บิดาชื่อ นายสลับ นาคะเสถียร เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด ปราจีนบุรี มารดาชื่อ นางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน
  • พ.ศ.2502 ครั้นเรียนจบชั้นประถม 4 ต้องจากครอบครัวไปเรียนอยู่ที่ โรงเรียนเซนหลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน
  • พ.ศ.2510-2514 อยากเรียนสถาปัตยกรรมเพราะชอบด้านศิลปะ แต่ศึกษาในคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่นที่ 35
  • พ.ศ.2516 เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ
  • พ.ศ.2517 ศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พ.ศ.2518 บรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ เริ่มงานครั้งแรกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี ได้ผลักดันให้สืบ ต้องเข้าไปทำหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย
  • พ.ศ.2522 ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษในสาขาอนุรักษ์วิทยา
  • พ.ศ.2524 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
  •  พ.ศ.2528 เดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจองในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต
  •  พ.ศ.2529 หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบรู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย
  •  พ.ศ.2530 สืบได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบเริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”
  •  พ.ศ.2531 กลับเข้ามารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ นอกจากนี้สืบและเพื่อนอนุรักษ์ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”
  •  พ.ศ.2532 สืบได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่สืบตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบปัญหาต่างๆมากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่
  •  1 กันยายน 2533 สืบสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวิบาตรกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างจริงจัง
  •  18 กันยายน 2533 ผู้ใหญ่และพ้องเพื่อนนักอนุรักษ์ ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของสืบ
  •  26 เมษายน 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทรงเปิดอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร
  •  ปี 2542 มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศว่า ในรอบ 50 ปี ท่านเสียดายการจากไปของสามัญชนผู้ใดมากที่สุด ปรากฏว่าสืบ นาคะเสถียร ติดอับดับที่ 2
[quote font_size=”18″ color=”#ffdf42″ bgcolor=”#996633″ bcolor=”#ffdf42″ arrow=”yes”]บทบาทและชีวิตการทำงาน[/quote]

สืบ นาคะเสถียร เขื่อนเชี่ยวหลาน

ในปี 2529 ได้มีโครงการใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ โครงการอพยพสัตว์ป่าที่กำลังจะถูกน้ำท่วม อันเป็นผลมาจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ทำให้ป่าดงดิบผืนใหญ่อันเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงจำนวนแสนกว่าไร่ ต้องจมน้ำกลายเป็นทะเลสาบ ความลึกเกือบ 100 เมตร บริเวณที่เคยเป็นเนินเขาและภูเขาก็ถูกตัดขาดโผล่พ้นน้ำกลายเป็นเกาะน้อยใหญ่จำนวนถึง 162 เกาะ ส่งผลให้มีสัตว์ป่าจำนวนมากกว่า 300 ชนิด อาทิ เลียงผา สมเสร็จ ชะนี ค่าง เสือลายเมฆ ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกหว้า ที่หนีน้ำไม่ทันต้องติดตามเกาะ หรือหนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามยอดไม้ รอวันตายเพราะขาดแคลนอาหาร  ซึ่งที่นี่สืบเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่า ได้เข้าไปช่วยเหลืออพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างในอ่างเก็บน้ำ

ในปี 2530 ที่จังหวัดกาญจนบุรี รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะอนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะทำให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรประมาณ 140,000 ไร่ ต้องจมน้ำกลายเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำและกำลังได้รับการคัดค้านจากนักอนุรักษ์ฯ  นักวิชาการ ข้าราชการกรมป่าไม้บางส่วน และชาวเมืองกาญจนบุรี ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาล และเสี่ยงต่อโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต

สืบนาคะเสถียร-ต้านเขื่อนน้ำโจนรูปสืบ นาคะเสถียร (ซ้าย) 

ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อน ถูกรัฐบาลกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และกำลังตกเป็นรองทั้งข้อมูลและการเผยแพร่ สืบ นาคะเสถียร จึงได้เข้าร่วมการต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนอย่างแข็งขัน โดยใช้บทเรียนจากการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานเป็นกรณีศึกษา โดยสืบเดินป่าเขาทุ่งใหญ่ฯ เป็นเวลาห้าวันห้าคืนเพื่อเสาะหาข้อมูล และเมื่อได้สำรวจทางอากาศ เขาพบฝูงกระทิงอยู่รวมกันถึง 50 ตัว เป็นกระทิงฝูงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นในเมืองไทย  เป็นหลักฐานแสดงความอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนนี้ได้เป็นอย่างดี บางครั้งเขาได้มีโอกาสพานักข่าวลงพื้นที่ ที่จะมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน เล่าบทเรียนจากเขื่อนเชี่ยวหลานให้นักข่าวฟังว่า  ในอนาคตบริเวณนี้จะกลายสภาพเป็นทะเลสาบ เนินสูงตรงนี้จะกลายสภาพเป็นเกาะจากการถูกน้ำท่วม สัตว์จะตายจากการสร้างเขื่อนได้อย่างไร ก่อนการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะสร้างเขื่อนหรือไม่ สืบทำงานอย่างหนักจนสามารถจัดทำบทรายงานเรื่อง “การประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน” ได้สำเร็จ  รายงานชิ้นนี้ส่งผลอย่างมากต่อการพิจารณาเพราะเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาผลกระทบของสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อน  ภายหลังเมื่อรัฐบาลมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน กลุ่มนักอนุรักษ์ได้วิเคราะห์ว่า น่าจะมีมาตรการระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเสนอโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนในอนาคตอีก

ห้วยขาแข้ง

แนวคิดของสืบ นาคะเสถียร

ปี 2532 สืบ นาคะเสถียร เดินทางเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตฯ ด้วยความมุ่งมั่นและใจเต็มร้อยที่จะรักษาผืนป่าที่นี่ให้ดีที่สุด  ซึ่งห้วยขาแข้งเป็นป่าที่มีพื้นที่ขนาด 1 ล้าน 6 แสนกว่าไร่เศษ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งเดียว ที่ไม่มีราษฎรบุกรุกอาศัยอยู่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าหายากจำนวนมาก เช่น กระทิง วัวแดง ควายป่า นกยูงไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง เสือดาว ช้างป่า ฯลฯ

ส่วนด้านตะวันออกของป่าห้วยขาแข้ง อยู่ติดกับหมู่บ้านหลายแห่ง ชาวบ้านเองมักจะลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ หรือเป็นคนนำทางให้แก่พรานในเมือง บางครั้งก็มีใบสั่งจากกลุ่มอิทธิพล ว่าต้องการสัตว์ป่าประเภทไหน เขากระทิงจะมีราคาประมาณ 4,000-5,000 บาท ถ้าเป็นเขาควายป่าอาจจะมีราคาสูงเป็นหมื่นบาทขึ้นไป  ร้านอาหารสัตว์ป่ารอบห้วยขาแข้งก็มีอาหารสัตว์ป่าไว้บริการลูกค้าได้ตลอดปี

ปัญหาในป่าห้วยขาแข้งดูจะยิ่งใหญ่และสลับซับซ้อนมากขึ้น สืบ พยายามขอความร่วมมือจากหน่วยราชการนอกป่าห้วยขาแข้ง ในการช่วยกันป้องกันการทำลายป่าและการล่าสัตว์โดยเฉพาะบริเวณป่าสงวนรอบๆ  ป่าห้วยขาแข้งซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของเขา  เขาพยายามเดินเข้าหาผู้ใหญ่ ไปพูดคุยกับทุกคน แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง กรมป่าไม้เองก็ไม่สนับสนุนสิ่งใด  หลังจากที่หน่วยราชการไม่สามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ เขาจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก  เพื่อพิจารณาให้ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ ได้รับการคุ้มครองเต็มที่ เมื่อประเทศไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก แปลว่า ต่างชาติเข้ามาช่วยเราอนุรักษ์ คุ้มครองมรดกชิ้นสำคัญของโลกร่วมกัน ต่างชาติในที่นี้หมายถึง ภาคีและสมาชิกในประเทศต่างๆ 190 กว่าประเทศ ใครที่จะเข้าไปในเขต แม้จะจน หรือมีอำนาจ มีเงิน จะมาเที่ยวนึกสนุกทำอะไรตามอำเภอใจ โดยไม่รู้สึกผิด ไม่มีความผิดอะไรเลย แบบสมัยก่อน ก็ต้องหยุดละทีนี้

logo-Seub Nakhasathien Foundationสืบนาคะเสถียร มูลนิธิ ตราสัญลักษณ์

ตราสัญลักษณ์ สืบนาคะเสถียร มูลนิธิ เป็น รูปกวางผาโผนสู่เปลวเพลิง โดยมีใบไม้สีทึบประกอบขึ้นเป็นฉากราตรีประดับดาว ได้รับการออกแบบโดย คุณปัณยา ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของคุณสืบ นาคะเสถียร
องค์ประกอบของสัญลักษณ์ แทนความหมายถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

ตัวอักษร สืบนาคะเสถียร มูลนิธิ คือ กิ่งก้านที่ใบไม้นั้นผลิออกมา
กวางผา เป็นงานวิชาการสัตว์ป่าชิ้นแรกๆ ของสืบ นาคะเสถียร
เปลวไฟ หมายถึง อุปสรรคที่จะต้องฟันฝ่า ชีวิตของนักต่อสู้ที่เด็ดเดี่ยวเหมือนกวางผา ซึ่งกล้ากระโดดผ่านเปลวเพลิงลงสู่ลำนํ้า
ดวงดาว หมายถึง จักรวาลและวัฏจักรแห่งธรรมชาติ เส้นทางแห่งกาลเวลาซึ่งประกอบ ไปด้วยอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ใบหญ้าด้านล่าง หมายถึง ที่อยู่ของกวางผาเป็นสิ่งแวดล้อมโดยธรรมชาติซึ่งเกื้อกูลชีวิต
ยอดแหลมสุดของใบไม้เป็นรูปทรงใบปอสา หมายถึง ป่าไม้บนยอดดอยและที่ออกแบบให้ริ้วลายทั้งหมดมีลักษณะเป็นตัวกนกก็เพื่อให้เห็นว่าศิลปะนั้นงอกงามมาจากธรรมชาตินั่นเอง

สืบนาคะเสถียร มูลนิธิ กำหนดขอบข่ายและทิศทางการทำงานไว้ 5 ประการคือ

  1. การสนับสนุนการจัดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ตลอดจนผืนป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ
  2. การปรับปรุงสวัสดิการเพื่อการเสริมสร้างขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
  3. งานรณรงค์ป้องกันรักษาผืนป่าอนุรักษ์และทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้การรณรงค์แนวความคิด “ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ”
  4. งานประชาสัมพันธ์และปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขยายแนวร่วม และเผยแพร่งานอนุรักษ์ส่วนกว้าง
  5. งานส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยสัตว์ป่า โดยจัดตั้งกองทุนสัตว์ป่าขึ้น

วัน สืบ นาคะเสถียร 2562 Seub Nakhasathien Day

ภาพและข่าวจาก เพจ สืบ นาคะเสถียร มูลนิธิ

โพสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:

ทวิตเตอร์:

#วันสืบนาคะเสถียร  #ร่วมรำลึกการจากไปครบรอบ29ปีสืบนาคะเสถียร  #มูลนิธิสืบนาคะเสถียร  #เราไม่เคยลืมสืบฯ  #ร่วมรำลึกการจากไปครบรอบ29ปีสืบนาคะเสถียร