วิธีแก้ปัญหา มลพิษ ฝุ่น PM2.5

วิธีแก้ปัญหา มลพิษ ฝุ่น PM2.5  “เชื่อหรือไม่ คนกรุงเทพฯ อาจต้องใช้ชีวิตอยู่กับ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (pm2.5) อีกยาวนานนับ 10 ปี” บอกตรงๆ ว่าในตอนที่ได้ยินคำถามนั้น “รู้สึกเฉยๆ ไม่ตื่นเต้น ไม่สนใจ ไม่เดือดร้อน” จนกระทั่งเช้าวันเริ่มต้นของการทำงานในเดือนมกราคม ภาพเมืองทั้งเมืองตกอยู่ในหมอกสีแดง อย่างกับในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ มนุษย์ต่างดาวบุกโลก เมืองถูกปกคลุมด้วยฝุ่นพิษกัมมันตรังสี มนุษย์ต้องหลบซ่อนอยู่ในบ้าน บ้างก็หนีลงไปอยู่ใต้ดิน และมีอายุขัยสั้น อยู่ได้ไม่ถึง 25 ปี ก็เสียชีวิตแล้ว พอได้เห็นกรุงเทพฯ หายไปในฝุ่นพิษด้วยตาตนเอง รู้สึกตกใจ งุนงง และสับสน นี่เรื่องจริงใช่มั้ย เคยเห็นแต่ในต่างประเทศเขตหนาว ไม่เคยคิดว่ามันจะมาเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย อารมณ์คล้ายๆ กับอยู่ในช่วงยุคน้ำท่วมปี 2554 ที่ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อว่าการปล่อยน้ำออกมาพร้อมกัน 3 เขื่อน จะสามารถไหลมาท่วมกรุงเทพฯ ให้จมน้ำเป็นเดือนๆ ได้ ตอนนั้นผู้คนยังประมาท ไม่เคยเจอ ไม่เชื่อว่าบ้านตัวเองจะได้รับผลกระทบ จนกระทั่งน้องน้ำซึมจากพื้นโผล่ขึ้นมากลางบ้านและเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ต้องเก็บย้ายของหนีขึ้นที่สูงกันแทบไม่ทัน ผู้คนถึงคิดได้ รีบพากันอพยพหนีตายออกจากบ้านเรือนของตน บางคนก็ต้องอยู่กับน้ำท่วมสีดำๆ แดงๆ เพราะต้องเฝ้าทรัพย์สิน ตกอยู่ในสภาพนั้นเป็นเวลา 3 -4 เดือน ทุกๆ วันได้แต่นั่งกอดเสาบันไดบ้าน จ้องดูระดับน้ำขึ้นๆ ลงๆ ในใจก็คิดว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ฝุ่นมลพิษ ทำให้เราอ่อนแอ และอายุขัยสั้น แต่ความตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิตที่ดี อาจไม่เท่ากัน การส่งเสริมให้ประชาชนได้ศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้มลพิษของยุโรป อาจช่วยกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดมีความคิด รู้หวงแหนในชีวิตและสุขภาพของตนเองมากขึ้น ได้บ้าง

ภาพวีดีโอ: London’s Deadly Acid Smog Crisis of 1952 ย้อนรอยอดีต เหตุการณ์สูญเสียครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของยุโรป แค่เพียง 5 วัน ที่หมอกมรณะสีดำอมเหลือง “The Great Smog of London” ที่มาจากการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และกรดไฮโดรคลอริก ของโรงงานถ่านหิน ที่อยู่รอบๆ กรุงลอนดอน มากกว่า 1 พันตันต่อวัน ปกคลุมประชาชนชาวลอนดอน ทำให้เด็ก ผู้ป่วยคนชรา มีอัตราการตายสูงถึงวันละ 900 คน ส่วนใหญ่พบว่าเสียชีวิตอยู่ข้างๆ เตียงของตนเอง ด้วยอาการปอดอักเสบ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1952 (พ.ศ.2495) คนในยุคนั้นก็ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นด้วยซ้ำ จนกระทั่งต่อมาได้มีการวิจัยพบว่า มีผู้ได้รับผลกระทบหลังจากเหตุการณ์นั้นมากกว่า 25,000 คน เสียชีวิต 6,000 คน ในปี ค.ศ.1956 รัฐบาลอังกฤษต้องออกกฎหมายหลายฉบับในการจัดการมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ที่ต้องเสียชีวิตจากผลกระทบจากมลพิษทางอากาศถึงปีละ 400,000 คน ยุโรปได้มีนโยบายแก้ไขปัญหามลพิษมากว่า 60 ปีแล้ว บทเรียนสำคัญก็คือฝุ่นพิษ ไม่ได้ทำให้เราล้มป่วยหรือเสียชีวิตในทันที แต่มันจะค่อยๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างช้าๆ กระทั่งในปี ค.ศ. 2013 สมาชิกสหภาพยุโรปหรืออียู ร่วมลงนามในนโยบาย Clean Air Policy Package เพื่อควบคุมและลดมลภาวะของอากาศที่เข้มข้น มีการกำหนดมาตรฐานสำหรับการวัดคุณภาพอากาศ (Ambient Air Quality Standards) ควบคุมการปล่อยมลพิษจาก ยานพาหนะ เรือ โรงงานอุตสาหกรรม

 

ภาพ: ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ โดยกรมควบคุมมลพิษ
ภาพ: ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ โดยกรมควบคุมมลพิษ เข้าถึงได้จาก http://air4thai.pcd.go.th/webV2/

 

 

ในประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ ได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ ที่เหมาะสมสำหรับการรายงานให้ประชาชน สามารถเข้าใจได้ง่าย โดย กำหนดค่าของความเข้มข้นของสารมลพิษขึ้นมา 1 หน่วย (AQI) ประกอบด้วยความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่ (1). ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5), (2). ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10), (3). ก๊าซโอโซน (O3), (4). ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), (5). ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และ(6). ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)  โดยดัชนีคุณภาพอาการตามปกติบรรยากาศทั่วไปจะเท่ากับ 100 หากสูงเกินกว่า 100 เป็นเวลา 1 ชั่วโมงต่อเนื่อง แสดงว่าเกินกว่ามาตรฐาน เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ, 2563)

ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI)
ภาพ: แถบสี แสดงดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย แบ่งเป็น 5 ระดับ (Air Quality Index : AQI)

 

บทเรียนการแก้ปัญหาฝุ่นมลพิษก็มีให้เห็นแล้วในประเทศต่างๆ และเห็นผลประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน แก้ปัญหาได้จริงๆ เพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้ มันทำได้เลย ด้วยการ “เดินทางแบบไม่ปล่อยมลพิษ ลด ละ เลิก รถยนต์ รถจักรยานยนต์” แม้ว่าจะยังมีคนอีกมากมาย (ปีพ.ศ.2563) ที่รู้สึกเฉยๆ และยอมรับได้กับการที่จะให้ชีวิตตนเอง “อายุขัยสั้นลง”  เพียงเพราะติดกับดักความคิดง่ายๆ ของตนเองว่า “แก้ไม่ได้หรอก เดี๋ยวพอลมพัดผ่านมามันก็ผ่านไป เดือนหน้ามันก็จบแล้ว อย่าตื่นตระหนก” 

 

 

ขอหยิบยกกรณีศึกษาจากในเมืองหลวงของประเทศต่างๆ ที่เคยเผชิญหน้าต่อสู้กับปัญหาฝุ่นมลพิษ PM2.5 มาแล้วนับสิบๆ ปี เช่น ประเทศจีน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีค่าฝุ่นมลพิษ PM2.5 มากถึง 200-300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และในบางวันก็มีค่า PM2.5 สูงเกิน 500 ไมโครกรัมด้วยซ้ำ ในขณะที่บ้านเรา จังหวัดเชียงใหม่เคยติดอันดับที่ 1 ของโลก 193 US AQI (ดัชนีคุณภาพอากาศ Air Quality Index) จากการจัดอันดับของ (IQAir AirVisual 2018 World Air Quality Report (AirVisual.com) เมื่อเดือนมกราคมปี 62 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาป่า สำหรับกรุงเทพมหานครมีสาเหตุหลักจากฝุ่นควันที่มาจากไอเสียเครื่องยนต์ (Rattanasiri Kittikongnapang, 2562 )

 

จักรยานไฟฟ้า ฝุ่น pm2.5
รูปภาพ: Local Chinese ride their electric bicycles on a street in Shenzhen city, south China’s Guangdong province, on February 16, 2009. เข้าถึงได้จาก https://www.chinadaily.com.cn/opinion/2014-11/15/content_18830370_5.htm

ในปี ค.ศ.2002 มหานครปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน และมหานครเซี่ยงไฮ้ เริ่มใช้วิธีแก้ปัญหาฝุ่นมลพิษด้วยการ ออกมาตรการควบคุมปริมาณรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์ ด้วยการเชิญชวน รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเดินทางแบบไม่ปล่อยมลพิษ ใช้รถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า รับซื้อคืนรถจักรยานยนต์จากประชาชน เร่งสร้างระบบสาธารณูปโภคให้รองรับกับยานยนต์ไฟฟ้าทุกชนิด (Electric Motorcycles, Electric Bicycles) สนับสนุนเงินลงทุนแก่บริษัทผู้ผลิต และผู้จำหน่าย ซึ่งเป็นมาตรการที่สามารถหยุดฝุ่นมลพิษได้จริงๆ เว็บไซต์ Nextbigfuture รายงานว่า ปี ค.ศ.2018 จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กสะสมมากที่สุดในโลกกว่า 200 ล้านคัน (โกศล สถิตธรรมจิตร, 2562)

 

ภาพ: จักรยานไฟฟ้าของบริษัท TAILG Electric Vehicle ที่มาออกบูธงานแสดงสินค้าพลังงานใหม่ ที่เมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู (ภาพจาก China Daily / Zhen Huai)
  • รถจักรยานไฟฟ้า (Electric Bicycle หรือ e-bike)

รถจักรยานไฟฟ้า หรือ Electric Bicycle เป็นจักรยานประเภทหนึ่ง มีคันเหยียบหรือขาปั่น และติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า(Pedal Assistance) ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ลิเธียม-ไอออน แบบชาร์จซ้ำได้ รถจักรยานไฟฟ้า เริ่มเป็นที่นิยม ในปี ค.ศ.1998 เฉพาะในประเทศจีน ก็มียอดขายรถจักรยานไฟฟ้ามากกว่า 120 ล้านคัน ในยุโรปมีการยอดขายรถจักรยานไฟฟ้ามากกว่า 1 ล้าน คัน ในสหรัฐมีผู้ซื้อจักรยานไฟฟ้ามากกว่า 300,000 คัน

 

E-scooter ผิดกฎหมาย ในสหราชอาณาจักร
ภาพ: นักขี่ E-scooter ที่เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายที่ล้าสมัย ถูกเรียกจับ ในสหราชอาณาจักร เนื่องจากกฎหมายังไม่รองรับ และยังห้ามนำมาใช้บนทางเดินเท้าหรือท้องถนน ภาพโดย: Jane Dalton จากเว็บไซต์ Independent.co.uk สิงหาคม ค.ศ.2019
  • สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแบบพกพา

ยานพาหนะไร้มลพิษที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 30-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไปได้ไกล 20-30 กิโลเมตร ชาร์ตไฟฟ้าได้เร็ว ภายใน 3-4 ชั่วโมงต่อครั้ง กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น แต่อาจจะไม่เหมาะกับสภาพถนนในกรุงเทพฯ เนื่องจากมีหลุมบ่อ ไม่ราบเรียบ ขนาดล้อของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็ก ในสหราชอาณาจักรมันยังคงเป็นยานพาหนะที่ห้ามนำขึ้นมาใช้บนถนน หรือทางเดินเท้า เนื่องจากเกรงเรื่องความปลอดภัยของผู้ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และผู้ที่เดินสัญจรบนทางเท้า ในฝรั่งเศสมีรายงานข่าว ชายวัน 25 ได้่ชื่อว่าเป็นคนแรกที่เสียชีวิต จากอุบัติเหตุขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าชนกับรถบรรทุก เทศบาลกรุงปารีสจึงได้ประกาศกฎระเบียบ ห้ามขี่ด้วยความเร็วเกิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง และห้ามจอดบนทางเท้า

 

การส่งเสริมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ประเทศไทย

สถานีชาร์ต” รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
พ.ศ.2558 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และภาคเอกชน เปิดตัวโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการผลิตและใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก
ภาพ: มจธ. เปิด “สถานีชาร์ต” รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หนุน ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและลดมลพิษ เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/2sOVop2

ในยุคแรกๆ ของเทคโนโลยีทางด้านรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (ไม่มีขาปั่นเหมือนรถจักรยาน) สามารถขับขี่ได้ภายในระยะทางประมาณ 10-20 กิโลเมตร บนถนนพื้นราบ แต่ปัจจุบัน (ปี ค.ศ.2020) สามารถขับขี่ไปได้ไกล 55-60 กิโลเมตร ในประเทศไทย ภาครัฐหลายหน่วยงานได้มีการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก มีการเปิดสถานีประจุไฟฟ้า (Electric Motorcycle Charging Station) ในกลุ่มผู้ใช้ที่อยู่ในภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่ใช้งานรถจักรยานไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัยพบว่า ผู้ใช้ต้องการให้ปรับปรุงเรื่อง ระยะเวลาในการประจุไฟฟ้าหรือการชาร์ตไฟฟ้า 6-8 ชั่วโมง ให้เร็วกว่าเดิม ส่วนอัตราการประหยัดเชื่อเพลิง อยู่ที่ 10 สตางค์ต่อ 1 กิโลเมตร (รถมอเตอร์ไซด์ทั่วไปจะอยู่ที่ 90 สตางค์ต่อ 1 กิโลเมตร) อีกทั้งยังไม่พึงพอใจในเรื่องความเร็วรถ เมื่อถามว่ามีความสนใจที่จะซื้อรถจักรยานไฟฟ้าไว้ใช้หรือไม่ ผู้ใช้งานมากกว่าครึ่งตอบ ไม่สนใจ ด้วยเหตุผลคือ ชาร์ตนานเกินไป และต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ ทุก 2-3 ปี ไม่คุ้มค่ากับการซื้อมาใช้งาน ดังนั้น นักวิจัยต้องศึกษาหาทางแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกใช้รถพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะปัญหาในเรื่อง ราคา ระยะเวลาการชาร์ตไฟฟ้า และความเร็ว มีผลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้อย่างมาก (Peter Henshaw, Choosing, Using & Maintaining Your Electric Bicycle: The Essential Buyer’s Guide)

EV Sharing สถานี PCX Electric Smart Station
พ.ศ.2562 การเปิดตัวสถานี PCX Electric Smart Station เพื่อทดลองศึกษารูปแบบของ EV Sharing หรือการแบ่งปันการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าภายใน ม.เทคโนฯพระจอมเกล้าธนบุรี ภาพจาก: https://guidebiker.com/honda-เปิดตัว-pcx-ไฟฟ้า-ev-sharing/

 

นโยบายลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมในยานยนต์ จากทั่วโลก

ข้อตกลงปารีส เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ Paris agreement on climate
ข้อตกลงารีสParis agreement on climate

จากข้อตกลงปารีสเรื่องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2016 ส่งผลให้ประเทศในยุโรปมีนโยบายมุ่งไปสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนตํ่า และมีแผนงานเรื่อง การคมนาคมขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จึงได้เตรียมร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาควบคุมยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษไอเสีย ห้ามขายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ อาทิ นอร์เวย์ มีผลบังคับใช้ในปี 2025, เยอรมนี, สวีเดน เริ่มบังคับใช้ในปี 2030, ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ เริ่มในปี 2040 ในประเทศจีนมีแผนงานสนับสนุนยานยนต์สมัยใหม่ อาทิ ไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด, แบตเตอรี่อีวี, เซลล์เชื้อเพลิง (BEV, PHEV, FCEV) ซึ่งรัฐมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนรถดังกล่าวให้ได้ 1 ล้านคันในปี 2020 ส่วนประเทศไทย รัฐบาลคาดหวังว่าจะให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อย่างไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, แบตเตอรี่อีวี (HEV, PHEV, BEV) จำนวน 1.2 ล้านคันภายในปี 2036 (ฐานเศรษฐกิจ, เจาะเทรนด์โลก ห้ามขายรถดีเซล-หนุนยานยนต์สมัยใหม่)

 

สรุปสถานการณ์ การแก้ปัญหา ฝุ่น มลพิษ PM2.5 ล่าสุด (อัพเดทล่าสุด มกราคม 2563)

มาตรการงดใช้รถยนต์ ให้ทำงานอยู่กับบ้านช่วง PM2.5 พุ่ง โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นำแนวคิดของนักวิชาการเกี่ยวกับมาตรการงดใช้รถยนต์ ให้ทำงานอยู่กับบ้านช่วง PM2.5 พุ่ง แต่ก็ไม่มีมาตรการนี้ออกมาแต่อย่างใด
  • 10 ม.ค. 63 กรุงเทพมหานคร ผลคุณภาพอากาศ  อยู่ที่ 52 – 120 มคก./ลบ.ม. เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (http://air4thai.pcd.go.th/)
  • 17 ม.ค. 63 โฆษกประจำสำนักนายกฯ อ้างสถิติพบว่า ปัญหาค่า ฝุ่น มลพิษ PM2.5 ลดลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อย่าได้ตระหนก
  • นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แนะให้ผู้ที่เริ่มมีอาการป่วย ไอ จาม ผื่นขึ้นตามร่างกาย รีบมาพบแพทย์ และได้สนับสนุนหน้ากากอนามัย 4 แสนชิ้น กระจายตามสถานพยาบาลของรัฐ แนะประชาชนหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และเตรียมหารือ เรื่อง “แนวคิดการทำงานที่บ้าน” เพื่อตัดปัญหาการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางด้วยรถยนต์
  • 21 ม.ค. 63 กรมควบคุมมลพิษ เสนอ 12 มาตรการแก้ปัญหา ที่ประชุมครม.สัญจรนราธิวาส มีมติให้ความเห็นชอบ รัฐบาลแจงนอนไม่หลับ จริงใจแก้ปัญหา ถามกลับต้องการไปถึงจุดที่ทุกคนต้องการจริงหรือ
  • อาจารย์ นักวิชาการ กดดัน ให้เกิดการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง กล่าวว่า แม้ว่าทุกวันเราจะยังเห็นการแก้ปัญหาด้วยการ ฉีดน้ำ พ่นละอองน้ำ ทำฝน ดูดฝุ่น ซึ่งประเทศที่เขา แก้ปัญหา ฝุ่น PM2.5 สำเร็จได้ ไม่ทำอย่างที่เรากำลังทำกันอยู่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึง “ความไม่รู้อะไรเลยของประชาชน” ที่ได้รับผลกระทบนี้โดยตรงแต่กลับไม่แสดงออกอะไรเลย หรือ “เฉย” ในขณะที่ผู้ที่มีความรู้ทางสังคม มีทางเลือกมากกว่าในการเข้าถึงข้อมูล และป้องกันสุขภาพของตนเองและลูกหลานได้ (มติชนออนไลน์, 2563)
  • 22 ม.ค. 63 หนีฝุ่นปิด 437 โรงเรียนทั่วกทม. เลื่อนเวลาทำงาน 10 โมง #ปิดโรงเรียน
  • 25 ม.ค. 63 กระแสความไม่พอใจการแก้ปัญหาด้านสุขภาพของรัฐบาล แฮชแท็ก #รัฐบาลเฮงซวย ขึ้นอันดับ 1 ทวิตเตอร์
  • 27 ม.ค. 63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงพร้อมแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เป็นวาระแห่งชาติ  (คลิกอ่าน)  เทียบกับแถลงการณ์เมื่อ 8 ก.พ.62 (คลิกอ่าน)

 

12 มาตรการแก้ไขฝุ่นละออง PM2.5 ของรัฐบาล (พ.ศ.2563) มีดังนี้

ครม.สัญจร นราธิวาส
ภาพ: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2563 (ครม.สัญจร) เห็นชอบ มาตรการแก้ไขฝุ่น PM2.5 ณ ห้องประชุม อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ภาพจาก thairath.co.th เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 63
  1. เพิ่มเขตพื้นที่ห้ามรถบรรทุกเข้ากทม. จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก
  2. ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นใน กทม. ในวันคี่ ช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์
  3. เพิ่มชุดตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน ทั้ง 50 เขต ในกทม.
  4. ให้กรมการขนส่งทางบก+ตำรวจจราจร ตรวจจับ ห้ามใช้ รถโดยสาร รถบรรทุกควันดำ
  5. ตรวจสอบ สั่งปรับปรุง หรือหยุดประกอบกิจการ กับโรงงานที่ก่อฝุ่นละออง
  6. เคร่งครัดกิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้า และการก่อสร้างอื่นๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนด
  7. บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำการเผาในที่โล่ง ทั้งกทม.และปริมณฑล
  8. จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง
  9. ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง กำมะถันไม่เกิน 10 ppm ก่อฝุ่นละอองน้อย (Premium Disel)
  10. ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน และรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน
  11. หนุนให้สถานศึกษาของรัฐและเอกชน จัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง(รถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี)
  12. สร้างความรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง

 

ข้อสังเกตหลังครม.เห็นชอบมาตรการแก้ฝุ่นPM2.5 “แล้วยังไง”

เผาไร่อ้อย ฝุ่นPM2.5

  • ประชาชนยังคาดหวังจะเห็นมาตรการเด็ดขาด เร่งด่วนจากรัฐ
  • เทศกาลตรุษจีน เผากระดาษเงินกระดาษทองน้อยลง แต่ก็เผาได้
  • ไม่มีมาตรการ ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า
  • ไม่มีกลไกติดตามประเมินผลมาตรการนี้
  • ไม่ทันการ ครม.อนุมัติ 21 ม.ค. เริ่มประชุมทำงานอย่างทางการ 23 ม.ค. ทั้งที่พบว่าปัญหาเริ่มรุนแรงขึ้นมาตั้งแต่เดือนธันวาคม
  • มติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ยังให้มีการเผาไร่อ้อยได้ ขัดแย้งกับ มติครม. แก้ฝุ่นPM2.5 เมื่อ 1 ต.ค.62 ที่ห้ามเผา (มติชนออนไลน์, 2563)
  • การเผาหญ้า เผาขยะ ชานเมืองกรุงเทพ การปิ้งย่างอาหารริมถนน ก็ยังดำเนินต่อไป

 


รายการอ้างอิง:

  • กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ. (2563). ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ. เข้าถึงได้จาก http://air4thai.pcd.go.th/webV2/aqi_info.php
  • โกศล สถิตธรรมจิตร. (2562). ฆ่าฝุ่น PM2.5. เข้าถึงได้จาก https://readthecloud.co/china-pm25/
  • ฐานเศรษฐกิจ. (2563). เจาะเทรนด์โลก ห้ามขายรถดีเซล-หนุนยานยนต์สมัยใหม่. เข้าถึงได้จาก https://www.thansettakij.com/content/motor/418290
  • มติชนออนไลน์. (2563). รายงานหน้า2 : นักวิชาการแนะ‘รบ.’ ใช้ยาแรงแก้‘ฝุ่น-ภัยแล้ง. เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_1905225
  • มติชนออนไลน์. (2563). อาจารย์จุฬาฯ จวก รบ.แก้ฝุ่น PM2.5 ด้วยการ “ล้างสมอง ปชช.ให้เชื่อว่า ปัญหานี้ไม่มีจริง” เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1905782
  • รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์. (2559). ข้อตกลงปารีส: สู่แสงสว่างหรือทางตัน ?. เข้าถึงได้จาก http://www.salforest.com/blog/cop21-deal
  • China SignPost (2011). Electric Bikes are China’s Real Electric Vehicle Story. Retrieved from http://www.chinasignpost.com/2011/11/07/electric-bikes-are-chinas-real-electric-vehicle-story/
  • Peter Henshaw. (2016). Choosing, Using & Maintaining Your Electric Bicycle: The Essential Buyer’s Guide. Retrieved from https://books.google.co.th/books?id=QMR3DAAAQBAJ&pg
  • Rattanasiri Kittikongnapang. (2562). ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในสถานการณ์คุณภาพอากาศโลก. เข้าถึงได้จาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/2176/thailand-aqi-rank/
  • Research Unit for Energy Economic & Ecological Management (2562). นวัตกรรมล้ำจับ PM2.5 ช่วยชีวิตคนเชียงใหม่ . เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/pg/3E.ResearchUnit/posts/
  • Sophie Yeo. (2016). Paris agreement on climate change: What happens next?. Retrieved from https://www.carbonbrief.org/paris-agreement-on-climate-change-what-happens-next

การอ้างอิง APA6th edition:

  • ห้องสมุดมารวย@มหาวิทยาลัยสยาม. (2563). วิธีแก้ปัญหา ฝุ่นมลพิษ PM2.5. เข้าถึงได้จาก https://e-library.siam.edu/how-to-solve-the-dust-pollution-pm/

โพสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:

วิธีแก้ปัญหา มลพิษ ฝุ่น PM2.5