“ห้องสมุดเงียบสงัด” ติด Google Trends’s Top 5 อันดับแรกการค้นหา “ห้องสมุด”

“ห้องสมุดเงียบสงัด” ติด Google Trends’s Top 5 อันดับแรกการค้นหา “ห้องสมุด”แล้วมันเกี่ยวอะไรกับห้องสมุด จริงๆ แล้ว เรื่องที่ท่านกำลังจะอ่านต่อไปนี้ เขียนขึ้นมาเพียงเพื่อจะอธิบายวิธีการทำ “SEO” หรือ “Search Engine Optimization” เพื่อเป็นแนวทางการเขียนโพสที่ทำ ซึ่งเป็นวิธีปรับแต่งเนื้อหาในเว็บไซต์ เท่านั้นเอง ทั้งนี้การทำ SEO ก็เพื่อให้มีการเพิ่ม Traffic บนเว็บไซต์ให้มากพอ ซึ่งจะทำให้ Google เชื่อว่าเว็บไซต์นี้มีคุณภาพ และให้ความสำคัญ ขยับอันดับขึ้นไปอยู่ต้นๆ บน Search ของ Google  เนื้อหาที่จะอ่านต่อไปนี้ จะเน้นแสดงให้เห็นถึงแนวทางที่นำมาใช้ในการทำ SEO บนเว็บไซต์ห้องสมุด ซึ่งเป็นมาตรฐาน และทำได้ง่ายที่สุด โดยการใช้ความนิยมของ “คีย์เวิร์ด”(Keywords) หรือ คำที่ผู้คนใช้สืบค้นใน Google มาทำ  แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า คำไหนบ้าง ที่ผู้คนนิยมใช้ในการสืบค้นบน Google เมื่อต้องการรู้เรื่องเกี่ยวกับห้องสมุด คำตอบนี้ได้หาดูได้แบบสาธารณะบนเว็บไซต์ Google Trends (คลิก)  ซึ่งหลายท่านอาจจะยังไม่รู้จัก Google Trends ก็ขอสรุปย่อๆ ว่า มันเป็นเว็บไซต์ที่ใช้สืบค้นแนวโน้มคำที่ผู้คนนิยมใช้กันในการค้นหาเรื่องราวต่างๆ ผ่าน Google นั่นเอง โดย Google ได้เก็บข้อมูลการใช้คำ คีย์เวิร์ด ที่ผู้คนแต่ละภูมิภาคทั่วโลกใช้สืบค้นกันอยู่ ในช่วงเวลาต่างๆ

 

ความสำคัญของการใช้คีย์เวิร์ดยอดนิยม

ประเทศไทยเป็นแชมป์ในเรื่องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือมากที่สุดในโลก หากเราอยากรู้ว่า กระแสสังคมที่คนไทยกำลังนิยม สนใจ ใคร่รู้เรื่องอะไรกันอยู่ สามารถดูได้จากเว็บไซต์ Google Trends นี้ ชนิดวันต่อวันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังสามารถเลือกดูเฉพาะเขต ทวีป ประเทศต่างๆ ได้อีกด้วย และในทุกๆ ปลายปี ก็จะมีการสรุป คำค้นหาประจำปี แบ่งออกเป็นประเภทหมวดหมู่ต่างๆ ตามที่ คนไทยค้นหาอะไรมากที่สุด ใน Google โดยเปิดเผยแบบสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น คีย์เวิร์ด หรือคำค้นหาประจำปี ที่คนไทยค้นหามากที่สุด ปี 2018 (พ.ศ.2561)
1. บุพเพสันนิวาส
2. บอลโลก 2018
3. เมีย 2018
4. เลือดข้นคนจาง
5. สัมปทานหัวใจ
6. เกมเสน่หา
7. หวย 30 ล้าน
8. โอ วรุฒ
9. ลิขิตรัก
10. เด็กใหม่

โดยจะสังเกตได้ว่า คำที่คนไทยค้นหามากที่สุด มันได้สะท้อนว่าคนไทยส่วนหนึ่งที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ได้ให้ความสำคัญกับการติดตาม ละครโทรทัศน์อย่างมาก โดยดูได้จากคำค้นหา 10 อันดับนั้น จะเป็นชื่อละครซะ 7 อันดับ ที่เหลือเป็นกระแสข่าวในสังคม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะถูกนำมาใช้กำหนดทิศทางการทำธุรกิจ หรือการตลาด เช่นเดียวกันห้องสมุดในยุคนี้ก็ต้องเรียนรู้อิทธิพลของกระแสสังคม และปรับตัวเองให้สอดคล้องกับความเป็นไปทางสังคมที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ไม่งั้นห้องสมุดก็จะ “ตกเทรนด์” “ไม่เอาท์”

OPAC e-library

ดูละครจบแล้ว ก็ลองมาย้อนดูตัวเราเอง

เอาละ เมื่อเรารู้จัก Google Trends  “ดูละครจบแล้ว ก็ลองมาย้อนดูตัวเราเอง” ปัจจุบันห้องสมุดให้บริการทรัพยากรในรูปแบบที่เป็นหนังสือตัวเล่มจับต้องได้ และที่เป็นไฟล์ดิจิทัล (Digital) ดูได้ผ่านจอมอนิเตอร์ จัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล ต่างๆ ซึ่งบรรณารักษ์ได้จัดหา และจัดทำระบบสืบค้น ติดป้ายให้กับทรัพยากรทุกชนิดที่มีอยู่ เพื่อสะดวกในการสืบค้น หรือค้นหา หากนักศึกษา ม.สยาม ต้องการจะค้นหาหนังสือที่ตนสนใจสักเล่มนึง ก็เปิดอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต มือถือ เข้าเว็บไซต์ห้องสมุด แล้วเลือก OPAC (โปรแกรมระบบสืบค้น-ยืมคืน) ที่ห้องสมุด ม.สยาม ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลทรัพยากรหนังสือ วารสาร ซีดี ดีวีดี ดัชนีวารสาร ต่างๆ ไว้ มากมาย นักศึกษาก็เพียงพิมพ์ชื่อคำสืบค้น หรือคีย์เวิร์ด ที่ตัวเองสนใจเข้าไปในช่องแล้วคลิก Search ระบบก็แสดงรายการทรัยพากรต่างๆ ให้ดูพร้อมข้อมูลเบื้องต้น ว่าเลขหมู่อะไร อยู่ที่ไหน ชั้นหนังสือตรงไหน อย่างไรบ้าง สามารถเดินไปที่ชั้น แล้วหยิบมาอ่าน หรือจะยืมกลับบ้าน ก็แจ้งบรรณารักษ์ให้ช่วยแนะนำก็ได้

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราค้นหาได้เฉพาะภายในห้องสมุดของ ม.สยาม เท่านั้น แต่ถ้าหากเราไปค้นใน Google ด้วยคำสืบค้นอันเดียวกันนี้ ก็จะแสดงเฉพาะรายการที่ปรากฎบนเว็บไซต์ต่างๆ ออกมามากมาย ซึ่งเป็นคนละรูปแบบกับโปรแกรมOPAC  และแน่นอน..  คุณจะไม่มีวันค้นพบหนังสือที่มีอยู่ใน ม.สยาม บน Google แน่ๆ เนื่องจาก OPAC เป็นระบบปิด มันค้นหาและแสดงผลได้เฉพาะภายในโปรแกรมOPACของ ม.สยาม เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากการทำเว็บไซต์เพื่อให้ Google สามารถเข้ามาเก็บข้อมูลไปทำสารบัญในระบบของตนเองได้

google trends

 

ดังนั้นมูลค่าการตลาด หรือคุณค่าของทรัยพากรที่ห้องสมุดจัดเก็บในระบบปิด มันจึงมีความหมายเพียงแค่เฉพาะกลุ่มเล็กๆ อันน้อยนิด ในจักรวาลที่กว้างใหญ่นี้ และคนทั้งโลก ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการจัดเก็บในระบบปิด แบบนี้ หากผู้บริหารยังคิดอยู่ในโลกแคบๆ ของตนเอง อาจจะความไม่รู้เทคโนโลยี หรือความกลัวว่าตัวเองจะเติบโต เดี๋ยวเหนื่อย อะไรก็ตามแต่ ห้องสมุดนั้นๆ ก็จะอยู่อย่างเงียบๆ คนเดียว ไม่มีใครสน (ขออภัยพูดตรงไปตรงมา)

 

บรรณารักษ์ห้องสมุดยุคนี้ ต้องรู้เรื่อง เว็บไซต์ โซเชียล และBig DATA

บรรณารักษ์ต้องปรับตัวให้ทันสมัย อะไรที่ไม่รู้ก็ต้องรีบหาอ่าน หาองค์ความรู้ใส่ตัว พูดอังกฤษไม่ได้ก็ยังต้องกำเงินไปเรียนกันเลยทีเดียว หมั่นออกไปดูชาวบ้านว่าเขาคิดอะไร เขาพูดเรื่องอะไรกัน ถ้าเราไม่รู้เรื่อง ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เขาพูดให้ได้ ไม่ใช่มีชีวิตแค่เซ็นชื่อไปประชุม ทานเค๊ก จิบกาแฟ แล้วก็กลับบ้าน บอกคนอื่นง่ายๆด้วยการแปะรูปตัวเองไปประชุมมาแล้วนะ จบแค่นั้น โดยไม่พูดถึง ไม่คิดเขียนอะไรสักอย่างกับสิ่งที่ได้พบเจอมา …อนาคตจะมืดมนเลยแบบนี้

เมื่อเรารู้อะไรมากขึ้นแล้ว ก็นำมาประมวลผลในแบบที่สมองเราพอจะนึกคิดเข้าใจได้ ยังไม่ต้อง อัลกอริทึม หรือ Big DATA อะไร อย่าเพิ่ง..! เอาแค่สรุปตัวเองออกมาให้ได้ว่า จะก้าวต่อไปข้างหน้ายังไง ในโลกยุคใหม่นี้ สังเกต ห้องสมุดใกล้ฉัน  เขาทำอะไรกันอยู่ ปีหน้าเราจะเป็นอะไร เราจะอยู่ตรงไหนของห่วงโซ่อาหาร จะอยู่อันดับที่เท่าไหร่ขององค์กร หรือจะคบหาสมาคมกับเครือข่ายห้องสมุดอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งถ้าคิดได้ คำตอบที่รออยู่และเป็นคำตอบเดียวกันหมด นั่นก็คือ “เว็บไซต์ และโซเชี่ยล” ซึ่งถ้าหากเราเพิ่งคิดได้ในตอนนี้ ก็อาจจะล้าหลังไปสักหน่อย เพราะมันเปลี่ยนไปสู่ยุคใหม่นี้ เกินกว่า 10 ปีมาแล้ว หมายความว่า คุณจะต้องเริ่มเรียนรู้เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาล จนเลือกไม่ถูกเหล่านี้ ใหม่หมด…!

ไมเคิล บรรณารักษ์ ห้องสมุด

สรุปเลยละกัน ห้องสมุด ม.สยาม โดยกลุ่มบรรณารักษ์เล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ได้ซุ่มทำกันมา มากกว่า 2 ปี ตอนนี้มันเพิ่งจะเริ่มเห็นผลลัพธ์อันเกิดจากความเพียรพยายาม ไม่ถอดใจเลิกหนีไปเสียก่อน ทั้งหมดเริ่มต้นจากความมั่ว ความมึนงง ความไม่รู้อะไรเลยเช่นกัน เป็นกันทุกคน ต้องอ่าน เรียนรู้ทำผิดทำถูก ต้องลองทำ ตอนนี้เว็บห้องสมุด ขึ้นเป็นอันดับ 1 เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่มีคนเข้าใช้มากที่สุดของสถาบันนี้ไปแล้ว และกำลังจะก้าวต่อไปอย่างมีประสบการณ์มากขึ้น จากความล้มเหลวมานับไม่ถ้วน ยังไม่พอ อยากแพ้อยากล้มเหลวเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จนเรารู้สึกเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น และเริ่มทำให้เราไม่ได้คิดแค่เพียงจะรักษาอันดับหนึ่งเอาไว้ เท่านั้น แต่มองข้ามช็อตไปถึงขั้นที่ว่า เราจะพาตัวเองให้สามารถหลุดพ้นจาก แรงโน้มถ่วง ขององค์กรเราเอง แล้วผลักดันตัวเองให้ทิ้งระยะห่างออกไปเรื่อยๆ จากคำว่าไม่ได้เรื่อง ขยับไปเจอกับคู่แข่งที่เป็นระดับแชมป์ประเทศไทย แชมป์มหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยรัฐบาล ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีอะไรให้กลัวหรือรู้สึกด้อยพัฒนา เขินอายอะไรสักอย่าง เราผ่านมันมาหมดแล้ว จาก สภาพการทำงานที่ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ มากนัก อาศัยเพียงแค่มีองค์ความรู้ที่ได้มาจากการอ่าน การไปร่วมประชุมฟรี แบบส่วนตัวไม่ใช้งบของสถาบัน เราทำงานง่ายขึ้นมาก บรรณารักษ์สถาบันอื่นๆ เขาจัดกิจกรรมที่ไหน เขามีการวิเคราะห์ประมวลผล Big Data อะไรกัน เขามีการตีพิมพ์บทความทางวิชาการ เราไปหมด แม้เราเองก็ไม่รู้เรื่องหรอก กลัวและอายที่จะไปแสดงความไม่รู้อะไรออกมาให้อับอายแทนองค์กรของตนเอง แต่เราก็ไปแบบส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับสถาบัน คิดเสียว่าไปดูโชว์ จะได้รู้ เมื่อกลับมาเราก็จะมี “เข็มทิศ” รู้เส้นทาง รู้ว่าตัวเองจะก้าวไปทางไหน แล้วลองฝึกใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีมาตรฐาน มาช่วยในการตรวจเช็คงานของเราเองว่า อยู่ลำดับที่เท่าไหร่ อยู่ตรงไหนขององค์กร หรือระดับใดของสถาบันการศึกษา ห้องสมุดม.สยามเอง ก็จะมีเครื่องมือสำหรับตรวจการทำงานของตนเองหลายแบบ ใครแนะนำอะไรมาก็ใช้หมด แต่จะนิยมดูจากเว็บไซต์ semrush.com/ (คลิก) เนื่องจากเข้าถึงได้สาธารณะ และยังทำความเข้าใจกับตารางข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายที่สุด (คลิก)

siam university Rank top 10

อธิบายเรื่องของคำว่า “เข็มทิศ” มันหมายถึงอะไร?

ขอยกตัวอย่าง เรื่อง สรุปแผนการทำ SEO บนเว็บไซต์ห้องสมุด เพื่อทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

  • 1. คุยกันในกลุ่ม แชร์ความรู้ซึ่งกันและกัน และหาข้อสรุป
  • 2. เอาความรู้เรื่องการทำ SEO การหาคีย์เวิร์ดใน Google Trends มาเป็นเข็มทิศนำทาง
  • 3. เริ่มการทดลองใช้ คีย์เวิร์ด เป็นตัวกำหนดการเขียนโพสแต่ละโพส
  • 4. สังเกตผลจากเว็บไซต์ตรวจคุณภาพเว็บต่างๆที่มีให้ใช้ฟรี ติดตามผลเก็บข้อมูลทุกเดือน
  • 5. ย้อนดูสิ่งที่ทำอะไรไปบ้าง แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้ มากำหนดทิศทางข้างหน้าต่อไป

หากสังเกตดู ข้อ 2. ก็ได้พูดถึง “Google Trends มาเป็นเข็มทิศนำทาง” แค่นี้ก็พอจะได้คำตอบ และรู้แล้วว่า ที่ผ่านมาสองปี เว็บไซต์ห้องสมุดนี้ใช้เข็มทิศทำอะไรในการกำหนดคีย์เวิร์ดทำเว็บไซต์ ก็ไม่ขออธิบายอะไรมากในส่วนนี้ ไปหาอ่านเพิ่มเติม เรื่อง google trends ใน Google กันเอาเอง

how to google trend

เริ่มจาก ค้นหา “คีย์เวิร์ด” ยอดนิยม

คีย์เวิร์ดในที่นี้ก็คือ คำที่อธิบายตัวตนของเว็บไซต์นั้นๆ เช่น ถ้าเป็นห้องสมุด อาจะมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น หอสมุดกลาง สำนักทรัพยากรสารสนเทศ ศูนย์วิทยบริการ เป็นต้น แต่คำที่คนทั่วไปใช้เรียก ก็คือคำว่า “ห้องสมุด” อยู่ดี ดังนั้นเราก็นำคีย์เวิร์ดคำว่า “ห้องสมุด” ไปใส่ในเว็บไซต์ Google Trends(คลิก) จะพบว่า คำว่า “ห้องสมุด” เป็นคำที่ชัดเจนในตัวของมันเองที่สุด  เพราะมีผู้คนใช้คำๆ นี้ ในการค้นหากันทั่วทุกภาค ทุกจังหวัด ของประเทศ  ไม่เชื่อลองค้นหาคำว่า “หอสมุด” ก็จะเข้าใจได้ทันที โดยGoogle Trends จะแสดงภาพแผนที่ประเทศไทย พร้อมสี ความเข้มจาง อธิบายด้วยภาพอย่างเข้าใจได้ไม่ยาก เอาละทีนี้ลองมาดูในส่วนของ “หัวข้อที่เกี่ยวข้อง” และ “คำค้นหาที่เกี่ยวข้อง” ขอให้เก็บรวบรวมคีย์เวิร์ด จาก “คำค้นหาที่เกี่ยวข้อง” คัดลอกมาเก็บไว้ หลังจากที่คุณเริ่มเข้าใจแล้ว แนะว่าควรจะเข้าไปสังเกตดูพฤติกรรมของคีย์เวิร์ดเหล่านี้บ่อยๆ ทุกวันๆ จะเห็นคำที่ผู้คนใช้สืบค้นเกี่ยวกับห้องสมุดในแต่ละวัน ไม่เหมือนกันเลย

คีย์เวิร์ดคำว่า ห้องสมุด เงียบ สงัด มาไง?

เราจะพบว่า ช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 มันมีคีย์เวิร์ดเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดอยู่คำหนึ่ง ไม่ตกเทรนด์ มีความนิ่ง ติดอยู่ในอันดับ top 5 นิ่งที่สุด นั่นก็คือ คำว่า “ห้องสมุด เงียบ สงัด” และคำว่า “ห้องสมุด ใกล้ ฉัน” หากคลิกที่ปุ่ม ดูเพิ่มอีก ก็จะพบคำที่ใช้สืบค้นอื่นๆ เรียบลำดับกันไป ณ เวลาที่ได้เขียนโพสนี้  คำว่า ห้องสมุด เงียบ สงัด มันติดอันดับ Top 10 นิ่งๆ อย่างนี้ต่อเนื่องมาหลายเดือน ไม่ตกเทรนด์ และขึ้นอันดับ 1 ในหลายช่วงเวลาที่มีการสืบค้น หากลองค้นหาความหมายของคำว่าห้องสมุดเงียบสงัดดู ก็พบว่า ห้องสมุดเงียบสงัด (Silent Library) เป็นรายการเกมโชว์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น และทางประเทศไทยได้ซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตในรูปแบบ “รายการออนไลน์” (TV Online Program) จัดอยู่ในประเภทละครและซีรีส์ ผลิดโดยบริษัท GOOD DEAL ENTERTAINMENT จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ได้ทำแค่ผลิตละคร แต่รวมไปถึงมีเดียอื่นๆ เช่น web content, production house, online content เป็นต้น เพื่อป้อนให้กับลูกค้าที่เป็นแบรนด์ชั้นนำ หรือกลุ่มลูกค้าที่มีผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ

Keywordห้องสมุดเงียบสงัด

 

ทีนี้ ในเมื่อ คีย์เวิร์ด คำว่า “ห้องสมุด เงียบ สงัด” มันติดเทรนด์ Top 5 Google Trends แบบนิ่งๆ เราก็อย่าได้ลังเลว่า “คำๆ นี้ มันไม่เห็นจะเกี่ยวกับห้องสมุด ที่ต้องเป็นอะไรที่ ค้นคว้า หาหนังสือ  คำนี้มันเป็นแค่ชื่อเรื่องของละครตลก เท่านั้นเอง…จะใช้ได้เหรอ” ซึ่งอยากอธิบายอะไรมากมาย แต่เสียเวลา เพราะเราจะทำเว็บไซต์ให้คนทั้งโลกมาดูห้องสมุดเรา เราไม่ได้เหนื่อยยากเขียนโพสแทบตาย เพียงเพื่ออยากจะเป็นแค่ห้องสมุด เงียบๆ ใน มสยาม ที่มีคนเข้า 2-3 คนต่อวัน สักหน่อย ถ้าคิดอย่างนั้นลาออกไปทำอย่างอื่นดีกว่า เอาละ เราก็ต้องคิดแล้วละว่า คำใกล้เคียงกับคำว่า ห้องสมุด นี้ จะจัดการกับมันอย่างไรดี คำตอบก็คือ “เขียนโพส” นั่นเอง เนื่องจากห้องสมุดทำเว็บด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป CMS/Wordpress มีระบบเขียนโพสสำเร็จรูปให้ใช้งานง่ายๆ ขอไม่พูดถึงว่ามันคืออะไรมากไปกว่านี้ ไปหาอ่านโพสเก่าๆ กันเอาเอง

จากนั้นเราก็วางคีย์เวิร์ดห้องสมุดเงียบสงัดในเนื้อหาที่เราจะเขียน โดยเน้นย้ำคำสำคัญนี้ นอกจากจะใช้ตั้งเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเรื่อง หรือชื่อโพสแล้ว ในบรรทัดแรกของเนื้อหา เราก็ทำตัวหนาให้คีย์เวิร์ดคำนี้ ส่วนเนื้อหาในบรรทัดถัดๆ ไป ก็ทำหัวข้อใหญ่ แล้วกำหนดหัวข้อนั้นๆ ให้อยู่ในรูปแบบ หรือ Paragraph h2 หรือ h3  สำหรับในส่วนของลีลาการเขียนเนื้อหาให้มันน่าอ่าน ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือ หรือเทคนิคของแต่ละท่าน เรื่องราวต่างๆ ควรจะมีการอ้างอิง ทำ link เชื่อมโยงทั้งจากภายนอกเว็บ และภายในเว็บเอง ที่มีความเกี่ยวข้องกัน อาจจะแทรกเนื้อหาดราม่าไว้บ้าง(ผู้คนชอบเรื่องดราม่า) เพื่อเป็นการสื่อสาร หาเรื่องคุยกับผู้อ่าน เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วม และติดตามอ่าน แล้วอยู่กับโพสนี้ให้ได้นานเกิน 2 นาที ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แล้วใครเล่าที่บอกว่าเราทำถูกต้องแล้ว เขียนดีแล้ว นั่นก็คือ Google Bot ซึ่งผู้ทำเว็บมักจะนิยมติดตั้งโค๊ดซ่อนไว้ในส่วนของ footer หรือด้านล่างสุดของเว็บไซต์ แล้วแจ้งเชิญให้ Google Bot ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะเข้ามาอ่านเว็บ เก็บสถิติข้อมูลต่างๆ (Google Bot มาตรวจที่เว็บห้องสมุดทุก 2 สัปดาห์, ส่วนเว็บไซต์หลักของมหาวิทยาลัย จะมาตรวจทุกๆ 12 ชั่วโมง ) โดยมันจะอ่านตารางฐานข้อมูล data base ซึ่งเป็นรูปแบบ text แล้วนำไปอัพเดทเรียบเรียงในระบบสารบัญของ Google ต่อไป

 

ข้อมูลที่ Google Bot เก็บไปนั้น ถ้าหากเราได้เน้นคีย์เวิร์ด, ทำตัวหนา, กำหนดให้เป็นรูปแบบหัวข้อ h2 หรือ h3 เอาไว้ ก็จะช่วยให้ อัลกอริทึม ของ Goolge Bot รู้ว่าโพสที่เราเขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ถ้าเขียนไม่ดี อ่านไม่รู้เรื่องก็อาจถูกมองว่าเป็นโพสที่ไม่มีคุณภาพ อาจโดนแบน นอกจากนี้ มันยังเก็บข้อมูลจำนวนคนเข้ามาอ่านกี่คน อ่านโพสเราใช้เวลานานแค่ไหนอีกด้วย ถ้านานมากมีการคลิกในหน้านั้นๆ ก็แสดงว่าโพสเรามีคุณภาพ(ซะงั้น) ซึ่งวิธีเขียนโพสให้มีคุณภาพ ผมไม่ได้เล่าไว้ละเอียดในที่นี่ แต่ถ้าท่านอ่านมาถึงตรงนี้ ให้สังเกตดูดีๆ ว่า คำว่า ห้องสมุดเงียบสงัดทุกคำ ล้วนเป็นตัวหนาทั้งสิ้น ในโพสนี้มีคำว่า ห้องสมุดเงียบสงัดนับได้ 6 จุด ยังไม่รวมกับที่ใส่ไว้ในรูปภาพประกอบต่างๆ อีกด้วย

ห้องสมุด เงียบ สงัด

เมื่อเขียนโพสเสร็จ แชร์ขึ้นเพจต่างๆ ให้แฟนเพจคลิกเข้ามาอ่านโพสของเราที่เว็บไซต์ นี่คือกระบวนการที่ช่วยให้ผู้คนพบเห็นโพสของเรามากขึ้น ความสำเร็จที่ได้ ไม่ใช่แค่องค์กรห้องสมุดที่หวังจะได้ประโยชน์จาก Traffic ที่มีคนมากมายคลิกเข้ามาอ่านโพสเท่านั้น แต่หมายรวมถึงมหาวิทยาลัยก็ได้ผลประโยชน์จากโพสนี้  ภายใต้โดเมนเนม siam.edu ในการจัดอันดับคุณภาพของมหาวิทยาลัย ด้วยเช่นกัน


บทสรุป อัพเดทล่าสุด ผลการใช้คีย์เวิร์ดเขียนโพสนี้

บรรทัดนี้ เขียนขึ้นหลังจากเผยแพร่เนื้อหาการทำ SEO ด้วย wordpress (ฟรี) หลังจากติดตามการทดสอบ วิธีเขียนโพสด้วยการทำ SEO ไปด้วย เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 62 ผลที่ได้ก็คือ โพสที่ท่านอ่านอยู่นี้ ได้โผล่ขึ้นมาติดหน้าแรกของการค้น Google ด้วยคีย์เวิร์ดคำว่า “ห้องสมุดเงียบสงัด” ในช่วงเวลาสั้นๆ และหลุดไปที่หน้าที่สอง อันดับนี้จะมีการเคลื่อนไหวขึ้น-ลง ตามการเขียนและอัพเดทโพสจากAdminเว็บไซต์ต่างๆ ที่ได้มีการใช้คีย์เวิร์ดคำนี้ หรือคำใกล้เคียงกัน ถือว่ามันได้ผล และเป้าหมายต่อไป ก็คือ คีย์เวิร์ดคำว่า “ห้องสมุด” หากค้นคำว่า ห้องสมุดจะพบว่าโพสจากเว็บไซต์ห้องสมุด มหาวิทยาลัยสยามไม่มีปรากฎติดอยู่ใน 50 หน้าแรกของการสืบค้นด้วย Google

ห้องสมุดเงียบสงัด(อัพเดทล่าสุด 12 ธ.ค. 2562 ขึ้นอันดับ 1 คีย์เวิร์ด “ห้องสมุดเงียบ”)

สำหรับท่านที่หลงมาอ่านโพสนี้จะเข้าใจวิธีการทำงานทางด้านสารสนเทศอีกรูปแบบหนึ่ง และมันไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปที่จะ “ทำไม่ได้” หากท่านเป็นผู้ที่ดูแลงานด้านสารสนเทศของห้องสมุด ยิ่งต้องนำตัวอย่างจากโพสนี้ไปอ้างอิงให้กับหน่วยงานของท่าน เพื่อขอให้มีการสนับสนุนงานพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างถูกต้อง มีหลักการ เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อองค์กร สิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับมือใหม่หัดเขียนโพส มันเป็นงานที่ยากลำบากในตอนต้น และใช้เวลาพิสูจน์ยาวนาน ไม่ได้เห็นผลในทันที แต่เมื่อทำแล้ว ทุกอย่างจะดีขึ้น และมันดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแน่นอน


เรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับ Google เว็บไซต์ ห้องสมุด โซเชียล

“ห้องสมุดเงียบสงัด” ติดเทรนด์ Top 5 Google Trends ค้น หา “ห้องสมุด”