วันอัลไซเมอร์โลก 21 กันยายน

องค์การอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer’s Disease International : ADI) ประกาศให้ วันที่ 21 กันยายน เป็น “วันอัลไซเมอร์โลก” ตามชื่อผู้ค้นพบโรคอัลไซเมอร์  ซึ่งเป็นจิตแพทย์ชาวเยอรมันนามว่า อาลอยซ์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญและเข้าใจโรคนี้กันมากขึ้น

โรคอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อม คือ การสูญเสียความจำระยะสั้นร่วมกับความผิดปกติของการเสื่อมของเซลล์สมองทุกส่วน จนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่สามารถแยกถูกผิด มีปัญหาในเรื่องการใช้ภาษา การประสานงานของกล้ามเนื้อเสียไป ความจำเสื่อม ในระยะท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด ส่วนใหญ่เริ่มเป็นตอนอายุ 65 ปีขึ้นไป

เป็นเวลากว่า 111 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2444 ที่มีการค้บพบโรคอัลไซเมอร์ โดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันนามว่า อาลอยซ์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) ซึ่งได้รายงานการรักษาผู้ป่วยหญิงอายุ 55 ปี คนหนึ่งชื่อ ออกุสต์ เด ที่ญาติๆ ของเธอได้ส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโรคจิต เพราะทุกคนได้ ลงความเห็นว่าเธอกำลังเสียสติ เนื่องจากมีอาการความจำเสื่อม และชอบรู้สึกอิจฉาริษยาผู้อื่นอยู่บ่อยๆ นายแพทย์อัลไซเมอร์ได้ทดสอบผู้ป่วยรายนี้ อย่างเช่นได้ถามชื่อเสียงเรียงนามและชื่อสามีของเธอ แต่เธอก็ไม่สามารถตอบได้เลย หลังจากที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนาน 4 ปี เธอก็ถึงแก่กรรม นายแพทย์ อัลไซเมอร์จึงผ่าสมองเพื่อตรวจดูสภาพภายใน พบว่าสมองส่วนที่เรียกว่า hippocampus ซึ่งทำหน้าที่จำนั้น มีปมพังผืดมากกว่าสมองของคนธรรมดา

ต่อมามีรายงานว่า พบผู้ป่วยที่มีอาการเช่นเดียวกันนี้ถึง 11 ราย และโรคนี้จึงเป็นที่รู้จักกันใน ชื่อ “โรคอัลไซเมอร์” (Alzheimer’s Disease) ซึ่งตั้งตามชื่อของนายแพทย์ผู้ทำการค้นพบตั้งแต่นั่นเป็นต้นมา อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) จัดเป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะสมองเสื่อมตามธรรมชาติ หรือตามอายุที่มากขึ้นแต่อย่างใด แต่โรคอัลไซเมอร์นี้ เกิดจากการตายของเซลล์สมอง ซึ่งเซลล์สมองทำหน้าที่ในการเรียนรู้ จดจำ แต่หากเซลล์สมองเหล่านี้เสื่อมโทรมหรือเสียหายไป ก็จะส่งผลให้ความสามารถในการเรียนรู้และจดจำหายไปเช่นกัน เซลล์สมองของคนเราจะมีกลไกการสื่อสารและทำงานผ่านสารเคมี ที่เรียกว่า “สารสื่อประสาท” (Neurotransmitter) ซึ่งสารนี้จะช่วยนำคำสั่งจากสมองไปยังอวัยวะเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการทำงานขึ้น และสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเรียนรู้และจดจำนั่น ก็คือ สารอะเซติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลเมอร์จะมีปริมาณของสารอะเซติลโคลีนลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับคนปกติทั่วไป

อัลไซน์เมอร์-ความจำเสื่อม

สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์

ปัจจุบันสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ได้มีวิจัยได้พบว่าเกิดจากการสะสมของ amyloid plaques ในเซลล์สมองส่งผลให้สารอะเซติลโคลีนลดลด นอกจากนี้ยังพบว่าพันธุกรรมก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยหากคนในครอบครัวมีประวัติการป่วยเป็นอัลไซเมอร์โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็จะมีมากกว่าคนปกติ หรืออาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่นกัน ซึ่งโรคอัลไซเมอร์จึงเป็นโรคสามารถเกิดได้กับทุกคน และเมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การตรวจพบในระยะเริ่มต้นจะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นควรรีบพบประสาทแพทย์ หรือแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ การรักษามีแบบประคับประคองโรคทางกาย และปัญหา ทางจิต การป้องกันโรคแทรกซ้อน การดูแลบำบัดด้านจิตใจและปัญหาพฤติกรรม ฟื้นฟูสุขภาพกายและจิต สร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เน้นคุณภาพชีวิตโดยให้ผู้ดูแลมีส่วนร่วม ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะ มีเพียงการใช้ยาเพื่อเพิ่มระดับสารสื่อประสาทในสมองที่ช่วยเพิ่มความจำให้ดีขึ้น และลดปัญหาด้านพฤติกรรมที่เกิดจากตัวโรค นอกจากนี้การฝึกบริหารสมองเป็นประจำจะลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค จึงควรหากิจกรรมฝึกความจำให้แก่ผู้สูงอายุให้ได้ใช้สมองในการทำกิจกรรม เช่น การฝึกถามตอบความรู้ทั่วไป เล่นดนตรีไทย วาดภาพ คิดเลข จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ สิ่งสำคัญคือ การดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทั้งตัวโรคและตัวผู้ป่วย และการให้ความรัก เป็นต้น และสำหรับอาการเบื้องต้นของป่วยผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ในขั้นแรกมักมีอาการขี้หลงขี้ลืม เช่น ลืมของ ลืมปิดประตู ลืมปิดเตารีด ลืมชื่อคน ลืมกินยา เป็นต้น ต่อมาเมื่ออาการรุนแรงขึ้นผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียความทรงจำโดยเฉพาะความทรงจำที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ และเริ่มมีปัญหาในด้านการพูด อาจพูดประโยคเดิมซ้ำๆ หรือเรียกสิ่งของที่ใช้ไม่ถูก จนท้ายที่สุดผู้ป่วยจะมีอาการหนักขึ้นโดยจะเกิดความสับสนไม่รู้วันเดือนปี มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางก้าวร้าว หวาดระแวง ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตน เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น ขับถ่ายไม่เป็นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่ง

อัลไซน์เมอร์

ระยะของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

ระยะที่ 1
ระยะนี้เหมือนคนปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องการสูญเสียความจำ หรืออาการของโรคสมองเสื่อม

ระยะที่ 2
ระยะก่อนสมองเสื่อม พบอาการอื่น ได้แก่ เรื่องความจำคือการสูญเสียความจำ คือพยายามจำข้อมูลที่เรียนรู้เมื่อไม่นานมานี้ไม่ได้ และไม่สามารถรับข้อมูลใหม่ๆ ได้ การสูญเสียความจำจะเป็นมากกว่าคนทั่วไป แต่ไม่รุนแรงมากนัก หลังจากนั้นจะมีการเสื่อมถอยของการสนทนา การเลือกใช้คำ การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล มีการศึกษาพบว่าผู้ที่มีอาการดังกล่าวจะใช้เวลา 8 ปีจึงจะมีอาการที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม

ระยะที่ 3
ระยะนี้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีความบกพร่องของความจำ และการเรียนรู้จนสามารถวินิจฉัยอย่างแน่นอนได้ ผู้ป่วยบางส่วนมีปัญหาการใช้ภาษา การบริหารที่ซับซ้อน ปัญหาทางภาษามีลักษณะเด่นคือการใช้คำให้กระชับให้สั้น และพูดหรือใช้ศัพท์ไม่ฉะฉานหรือคล่องเหมือนเดิม ซึ่งทำให้พูดหรือเขียนภาษาได้น้อยลง อาจพบความบกพร่องของการการเคลื่อนไหว ทำให้ผู้ป่วยดูเงอะงะหรือซุ่มซ่าม และการวางแผน

ระยะที่ 4
ระยะนี้เป็นระยะที่เริ่มจะเป็นโรคสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้น หากซักประวัติดีดีก็จะพบว่ามีหลายอาการที่เข้าได้กับโรคสมองเสื่อม

ระยะที่ 5
ระยะนี้ผู้ป่วยเป็นโรคที่มีความรุนแรงปานกลาง พบความเสื่อมของสมองจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง เห็นชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการสูญเสียความจำ ความคิด การพูดปรากฏชัดเจนเนื่องจากไม่สามารถนึกหาคำศัพท์ได้ การเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนจะลดลง ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ได้อย่างปกติ

ระยะที่ 6
ระยะนี้ผู้ที่เป็นโรคนี้มีอาการรุนแรงมากขึ้น สูญเสียความจำมากขึ้น ผู้ป่วยจะพูดประโยคหรือวลีซ้ำ จนกระทั่งไม่สามารถพูดได้เลย แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่สามารถพูดจาตอบโต้เป็นภาษาได้ แต่อาจจะตอบสนองด้วยการแสดงอารมณ์ มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลิภาพต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น ก้าวร้าว มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง อาการแสดงที่พบบ่อยคือการหนีออกจากบ้าน ความรู้สึกผิดปกติ สับสนหรือเห็นภาพหลอนในเวลากลางคืน หงุดหงิดโมโหง่าย และอารมณ์แปรปรวน เช่นร้องไห้ ก้าวร้าวอย่างไม่มีเหตุผล หรือดื้อต่อผู้ดูแล

ระยะที่ 7
ระยะนี้เป็นระยะท้ายของโรคผู้ป่วยไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม สื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ มักจะพูดประโยคหรือวลีซ้ำๆ ระยะนี้จะต้องมีคนดูแลทุกเรื่อง การเคลื่อนไหวร่างการมีปัญหา นั่งเองไม่ได้ รับประทานอาหารเองไม่ได้

อัตราอุบัติการณ์ของโรคอัลไซเมอร์ ในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี
อายุ                            อุบัติการณ์ (ผู้ป่วยใหม่) ต่อพันคน–ปี
65–69                                             3
70–74                                             6
75–79                                             9
80–84                                            23
85–89                                            40
90 ขึ้นไป                                        69

ปัจจุบันอัตราผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานจากสมาคมอัลไซเมอร์ ได้ระบุว่าในทุก 7 วินาทีทั่วโลก มีผู้ป่วยอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น 1 คน ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นทั่วโลกถึงปีละ 4.6 ล้านคนโดยปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยอยู่แล้วเกือบ 30 ล้านคน และคาดว่าภายในปี 2593 หรืออีก 38 ปีข้างหน้า จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าของจำนวนปัจจุบัน หรือมากถึง 100 ล้านคน สำหรับอัตราของผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจนี้ ทำให้หลายฝ่ายหันมาตระหนักและพยายามที่จะทำความเข้าใจกับโรคนี้มากยิ่งขึ้น

คนไทยโรคสมองเสื่อม
สำหรับในประเทศไทย พบความชุกประมาณร้อยละ 3 – 5 โดยความชุกจะพบมากขึ้นตามอายุซึ่งอาจพบสูงถึงร้อยละ 30 ในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 85 ปี ในปี 2558 มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 600,000 คน และคาดว่า ในปี 2573 จำนวนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,117,000 คน ดังนั้นผู้ที่ดูแลผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจ กับโรคนี้พยายามเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และสังเกตอาการของผู้ป่วย รวมทั้งคอยให้กำลังใจ และสนับสนุนผู้ป่วยให้ผู้ป่วย ทำในสิ่งที่สามารถทำได้ ร่วมมือกับแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือการดูแลเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการกระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลตนเอง ให้ได้มากที่สุด ตลอดจนการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนของโรคอัลไซเมอร์ เช่น การสำลักอาหาร หรือการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน

ผู้ใช้บริการท่านใดสนใจเนื้อหาหรือข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความในวารสารเย็บเล่ม (ตามแหล่งที่มา) สามารถติดต่อขอใช้บริการได้ที่แผนกวารสารเลยนะคะ


  • ธนาวุฑฒ์ โสภักดี.  (2555).  น้ำมันปลาสกัด กับภาวะความจำเสื่อม.  วงการแพทย์, 14(369), 29
  • วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  (ม.ป.ป.).  โรคอัลไซเมอร์.  เข้าถึงได้จาก   https://th.wikipedia.org/wiki/โรคอัลไซเมอร์
  • วิชาการ.คอม.  (2555).  วันอัลไซเมอร์โลก.  เข้าถึงได้จาก   http://www.vcharkarn.com/varticle/44116
  • สิรินทร ฉันศิริกาญจน.  (2557).  อัลไซเมอร์ ความจำ….ที่ถูกลบ.  หมอชาวบ้าน, 36(425), 10-18.

วันอัลไซเมอร์โลก World Alzheimer’s Day

แนะนำหนังสือ อื่นๆ ในห้องสมุด ที่เกี่ยวข้อง

ห้องสมุด แนะนำวันสำคัญต่างๆ

แนะนำวารสาร อื่นๆ ในห้องสมุด ที่เกี่ยวข้อง