วันสุขภาพจิตโลก

วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม  เกิดขึ้นเพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงประเด็นปัญหาด้านสุขภาพจิตที่มีความสำคัญ โดยริเริ่มจาก สหพันธ์สุขภาพจิตโลก ( World Federation for Mental Health : WFMH) ร่วมกันทำงานกับสมาคมนานาชาติ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย (International  Assosiation for Suiside Prevention : IASP) และองค์กรอื่นๆ ร่วมสนับสนุนโดยองค์กรอนามัยโลก (WHO )

ประวัติความเป็นมา

เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 1992 โดยรองเลขาธิการ (ในขณะนั้น) ริชาร์ด ฮันเตอร์  ( Richard Hunter) ในนามสมาพันธ์ และใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี

ในปี 1994 โดยคำแนะนำของนายยูจีน โบดี้ ( Eugene Brody ) เลขาธิการของสมาพันธ์ จึงได้มีการกำหนดประเด็นหัวข้อขึ้นมาเป็นครั้งแรก คือ “ พัฒนาคุณภาพการบริการด้านสุขภาพจิตพร้อมกันทั่วโลก” ( Improveing the Quality of Mental Health Services throughout the World ) ได้รับการตอบรับอย่างดีใน 27 ประเทศทั่วโลก ภายใน 3 ปี วันสำคัญนี้ กลายเป็นช่วงเวลาที่มีค่ายิ่ง สำหรับหน่วยงานภาครัฐ องค์กร และคณะบุคคลต่างๆ ให้ความสำคัญในการจัดโครงการ เพื่อเป้าหมายในการดูแลงานด้านสุขภาพจิต เพื่อให้ดำเนินการไปได้อย่างดียิ่ง

สุขภาพจิตมีความสำคัญอย่างไร การเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพจิต จะส่งผลต่อมิติของชีวิตทุกด้านเช่น การใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น กับเพื่อนในโรงเรียนหรือเพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน สัมพันธภาพต่อคนรอบข้างไม่ดี และกรณีที่มีสุขภาพกายไม่ดี เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ไม่ทราบว่าจะดูแลสุขภาพจิตอย่างไร

คนในสังคม จำนวนมากที่ป่วยด้านสุขภาพจิต หรือมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่ แต่ไม่ต้องการรับการรักษาสภาวะเจ็บป่วยของตน เพราะ การเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิต สังคมยังมองเป็นตราบาป (Stigma) และ ในวัฒนธรรมของหลายเชื้อชาติ เช่น สังคมในเอเชีย อัฟริกา ลาตินอเมริกัน เมื่อมีปัญหาทางจิตใจ คนในสังคมส่วนมากชอบที่จะใช้วิธีการอื่นๆมากกว่าการรักษากับจิตแพทย์ เช่น การสวดมนต์ อ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธ์ ไปรักษากับพ่อมด หมอผี สังคมไทยเราก็จะไปปรึกษาหมอดู เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ร่างทรง ฯลฯ และเพศชายเป็นเพศที่ถูกปิดกั้นจากการแสวงหาความช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วยทางจิตใจ เพราะค่านิยมของสังคม บรรทัดฐานของสังคมดั้งเดิม ที่วางบทบาทของเพศชายว่า อดทนเข้มแข็ง ผู้ชายจะต้องไม่พูด ไม่แสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึกของตนต่อใคร การขอความช่วยเหลือเป็นการแสดงถึงความอ่อนแอและล้มเหลว

วันสุขภาพจิตเนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ตามคำแนะนำของ National Alliance on Mental Illness (2016) ในการสังเกตตนเอง เด็กๆและคนใกล้ชิด ว่ามีพฤติกรรมที่แสดงว่า คุณหรือคนใกล้ชิดมีปัญหาสุขภาพจิตถึงเวลาที่ต้องได้รับการช่วยเหลือและรักษา จากจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ มีวิธีสังเกตดังนี้

เด็ก

  1. ผลการเรียนต่ำลง
  2. แสดงว่ามีความวิตกกังวลเกินปกติ เช่น ไม่อยากไปเรียนหนังสือ ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเข้านอน
  3. ซุกซนผิดปกติ อยู่ไม่นิ่ง อยู่ไม่สุข (Hyperactive behavior)
  4. ฝันร้ายตอนกลางคืนบ่อยๆ
  5. ก้าวร้าว ไม่เชื้อฟัง ดื้อรั้น
  6. อาละวาด ร้อง ชักดิ้นชักงอ

ผู้ใหญ่

  1. มีความกลัวหรือความกังวลเกินปกติ
  2. รู้สึกอารมณ์ท้อแท้ ซึมเศร้าอย่างมาก
  3. สับสนทางความคิด มีปัญหาเรื่องสมาธิและการเรียนรู้
  4. มีความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์อย่างมาก เช่น อารมณ์ดีเกินเหตุ
  5. หงุดหงิดง่าย มีความโกรธสะสม โกรธเรื้อรังระยะยาว
  6. หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม การพบปะเพื่อนฝูง หรือกิจกรรมทางสังคม
  7. พฤติกรรมการกินเปลี่ยน หิวบ่อย กินมากเกินไป หรือเบื่ออาหาร
  8. พฤติกรรมการนอนเปลี่ยน เช่น นอนน้อยกว่าปกติ หรือนอนมากกว่าปกติ รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  9. มีปัญหาการยอมรับความเป็นจริง หรือรับความจริงได้ยาก (อาจมีภาพหลอน หูแว่ว ประสาทหลอน)
  10. ดื่มสุรา ใช้ยาและสารเสพติด
  11. มีความคิดฆ่าตัวตาย

ถ้าคุณหรือคนใกล้ชิด มีอาการทั้งหลายที่กล่าวมา ควรปรึกษาจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ใกล้บ้าน เพื่อรักษา เพื่อสุขภาพจิตที่ดีของท่านและคนใกล้ชิด

หากสงสัย ท่านสามารถขอรับการปรึกษาได้ทางสายด่วน 1323 และหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ

ปัญหาสุขภาพจิต เป็นปัญหาที่ทั่วโลกตระหนักและเห็นความสำคัญ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation Mental Health : WFMH ) ได้กำหนดให้เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day: WMHDAY) เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิตและการลงทุนเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ

โดย World Mental Health Day 2015 ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ Dignity in mental health  สร้างศักดิ์ศรี สร้างคุณค่า ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อสร้างความตระหนัก และส่งเสริมให้ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า  รวมถึงมีกระบวนการทางกฎหมายที่สนับสนุนให้เข้าสู่การรักษา ได้รับการช่วยเหลือ ดูแล ตลอดจนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้

การให้ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่านั้น สามารถใช้กลไกทั้งทางกฎหมาย ชุมชน สังคม อาทิเช่น

1. พระราชบัญญัติ สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองปกป้องสิทธิของผู้ป่วยจิตเวช มุ่งเน้นมิติทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู เพราะการดูแลผู้ป่วยไม่ใช่เพียงแค่การรักษาเท่านั้น แต่เมื่อผู้ป่วยหาย หรืออาการดีขึ้นแล้ว ต้องรักษาให้ครอบคลุมไปถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วๆ ไป ในสังคมได้เป็นอย่างดี

2. การส่งเสริมให้ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในชุมชนและสังคม ซึ่งจะมีระบบการส่งเสริมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยในชุมชน ตัวอย่างเช่น การใช้นวัตกรรมในการบริการสุขภาพจิตชุมชน ระบบ“ใกล้บ้านใกล้ใจ” ซึ่งให้ประชาชนและชุมชนสามารถดูแลให้สามารถเข้าถึงบริการ ส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูได้อย่างเหมาะสม ด้วยการลดอคติของชุมชนที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช สร้างแกนนำที่ดูแลผู้ป่วย การสร้างสมรรถนะและศักยภาพของผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน  สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ผู้ป่วยไม่กลับมารักษาซ้ำ สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ สามารถดูแลตนเองและทำกิจวัตรประจำวัน สามารถประกอบอาชีพได้ นอกจากนั้นการสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ป่วยกลับคืนใช้ชีวิตสู่สังคม ด้วยการการพัฒนาฝีมืออาชีพ อาทิเช่น การให้บริการในร้านกาแฟหลังคาแดง ร้านเพื่อนหลังคาแดง ก็ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ

3. การให้บริการทางจิตเวชและสุขภาพจิต ซึ่งผู้รับบริการที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แม้ว่ามนุษย์จะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่คุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างกัน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมการอยู่อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี

มนุษย์เราอาจเจอกับสภาวะปัญหาทางสุขภาพจิตได้ทั้งนั้น แต่เมื่อไหร่ที่พบกับปัญหาดังกล่าว มีกระบวนการทางกฎหมาย กระบวนการรักษา การดูแลทางชุมชน สังคม อย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น ก็จะส่งผลให้ สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

การสร้างสุขภาพจิตที่ดีนั้น สามารถทำได้ดังนี้

[dropcap font=”Arial” color=”#cc0033″]1[/dropcap]รู้จักคุณค่าในตน
เคารพตนเอง รู้จักเมตตาตนเอง ไม่ตำหนิตนเอง ให้อภัยกับความผิดพลาดในอดีตของตน มองเห็นจุดดีในตน

[dropcap font=”Arial” color=”#ffdf42″]2[/dropcap]รู้จักดูแลตนเอง

การดูแลใส่ใจร่างกายก็จะส่งผลต่อจิตใจที่ดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารที่ดี การดื่มน้ำอย่างพอเพียง การออกกำลังกาย (การออกกำลังกายยังช่วยลดความวิตกกังวล ทำให้อารมณ์ดีและลดความซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี) นอนหลับเพียงพอกับความต้องการ มีงานวิจัยพบว่า การอดนอน นอนไม่พอส่งผลกับอารมณ์ซึมเศร้าในเด็กนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
[dropcap font=”Arial” color=”#cc0033″]3[/dropcap]อยู่ใกล้คนดี หรือคบบัณฑิต

การคบคนดี ก็จะได้แนวคิดดีๆ ตัวอย่างดีๆมาใช้ในการดำเนินชีวิต คนที่มีความสุข มีความเข้มแข็ง การผูกสัมพันธ์กับผู้คนในครอบครัว ในสังคม มีสายสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง มิตรภาพที่ดี มักจะส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดี และถ้าคุณชอบคนหาเพื่อนใหม่ ควรค้นหากิจกรรมใหม่ๆที่ชอบจะได้พบปะสมาคมกับผู้คนใหม่ๆ อาจจะเข้าชมรม เข้าเรียนคอร์สต่างๆ เช่น ภาษา เต้นรำ ดนตรี หรืออื่นๆที่ชอบ ก็จะมีมิตรใหม่เพิ่มเติม
[dropcap font=”Arial” color=”#ff9900″]4[/dropcap]รู้จักการให้กับผู้อื่น

ทำความดีให้กับคนอื่น แม้ไม่รู้จัก เมื่อได้ให้สิ่งดี ๆต่อกัน ช่วยเหลือคนอื่นบ้าง สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความสุขในใจ ทำให้สังคม ชุมชนที่เราอยู่ เป็นสังคมที่น่าอยู่ การให้อาจให้ในหลายรูปแบบ เช่น ให้สิ่งของ ให้ความรู้ ให้โอกาส ให้เวลา จิตอาสาช่วยเหลืองานสาธารณะ ฯลฯ ทั้งนี้ตามศักยภาพ ความพอใจและความต้องการของตน และไม่ทำให้ตนเดือดร้อน
[dropcap font=”Arial” color=”#cc0033″]5[/dropcap]รู้จักวิธีรับมือกับความเครียด

ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบความเครียด ชีวิตของคุณก็จะต้องพบกับความเครียดแน่นอน เพราะความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การฝึกวิธี/ทักษะในการจัดการความเครียดไว้บ้างจะดีมาก (กลยุทธ์จัดการความเครียดมีมากมาย หลายวิธี สามารถหาความรู้และฝึกตามได้ในเวบไซต์ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ) ให้ชีวิตมีรอยยิ้มน้อยๆและอารมณ์ขันเสมอ ถ้าคุณยิ้มหัวเราะกับความผิดพลาดของตนเองได้ ชีวิตของคุณจะผ่อนคลายลงไปมาก การหัวเราะเป็นตัวกระตุ้นระบบอิมมูนของร่างกายที่ดี การเล่นกับสัตว์เลี้ยง การเดินเล่นท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ อยู่กับธรรมชาติที่สวยงามบ้าง เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ตามความสนใจ ความชอบ ความเหมาะสมกับตน ก็จะช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี
[dropcap font=”Arial” color=”#ffdf42″]6[/dropcap]รู้จักพักจิตใจ

มีช่วงเวลาที่จิตใจได้พักและผ่อนคลายอย่างลึก หลายวิธีที่ช่วยให้มีความสงบภายในอย่างลึก เช่น การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ การฝึกอยู่กับลมหายใจ มีงานวิจัย พบว่า การทำสมาธิทำให้รู้สึกถึงความสงบภายในและมีความสุข ผู้ฝึกสมาธิจะมีสภาวะอารมณ์ที่มั่นคง มีความแจ่มใสทางใจ ไม่ขุ่นมัว มีสติปัญญา การฝึกสมาธิสามารถไปเรียนรู้การทำสมาธิได้จากครูบา อาจารย์ ตามสำนัก/วัดต่างๆที่เปิดสอน ฝึกอบรมเกี่ยวกับการฝึกสมาธิได้
[dropcap font=”Arial” color=”#cc0033″]7[/dropcap]ตั้งเป้าหมาย/ตั้งความหวังที่ทำได้จริง

การตั้งเป้าหมายในชีวิตในเรื่องต่างๆ ต้องพิจารณาว่า มีความสามารถในการไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่ การตั้งเป้าหมายที่สูงกว่าที่เป็นจริง จะเป็นการสร้างความเครียด ความทุกข์ แก่ตนเอง ชีวิตต้องพบกับความผิดหวังแน่นอน การกำหนดเป้าหมายเป็นหลายระยะ ตั้งแต่ง่ายไปยาก เมื่อไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ ความรู้สึกมีคุณค่า ความภูมิใจ ความเคารพในตนก็จะเกิดขึ้น การก้าวต่อไปก็จะมีกำลังใจและมั่นใจในการก้าวไปสู่ความหวังที่ตั้งไว้ได้
[dropcap font=”Arial” color=”#ff9900″]8[/dropcap]ให้ทำสิ่งที่แตกต่างจากเดิมสักเล็กน้อย

ในแต่ละวันแม้ว่าการทำกิจวัตรประจำวันจะคล้ายเดิม เพราะรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัย แต่การทำสิ่งเดิมๆก็จะทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย จำเจได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มวันใหม่ให้ทำในสิ่งที่ต่างไปจากเดิมเล็กน้อย เช่น เปลี่ยนแปลงตารางงาน กิจวัตรเล็กๆน้อยๆ เช่น การเปลี่ยนเส้นทางในการเดินทางกลับบ้าน เปลี่ยนเส้นทางในการวิ่งจ็อกกิ้ง หรือลงเดินก่อนถึงบ้านสักหนึ่งป้ายรถเมล์ เดินเล่นในสวนสาธารณะอื่นบ้าง ไปกินอาหารที่ร้านใหม่ ฯลฯ เปลี่ยนแปลงสิ่งใดก็ได้ ก็จะรู้สึกว่าวันนี้ไม่เหมือนเมื่อวาน วันนี้เป็นวันที่ต่างออกไป หลักการ คือ เลือกทำในสิ่งที่ชอบและพอใจ
[dropcap font=”Arial” color=”#cc0033″]9[/dropcap]หลีกเลี่ยงสุรายาเสพติด

บางคนอาจใช้สุราเพื่อระบายความเครียด เพื่อรักษาใจให้ลืมความเจ็บปวด ความผิดหวัง แต่ความจริงสุราไม่สามารถทำให้หายได้ แต่กลับซ้ำทำให้ปัญหามีความยุ่งยากและหนักหนาขึ้นไปอีก
[dropcap font=”Arial” color=”#e67e22″]10[/dropcap]รู้จักขอความช่วยเหลือ

เมื่อมีปัญหาที่รบกวนจิตใจ หรือมีปัญหาสุขภาพจิต การขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเป็นสัญญาณแห่งความเข้มแข็ง ไม่ใช่สัญญาณแห่งความอ่อนแอ การดูแลรักษาที่เหมาะสม จะช่วยให้จิตใจได้ฟื้นฟูกลับมาเข้มแข็งและมีชีวิตอย่างมีความสุขร่วมกับคนอื่นต่อไป

 


กวิตา พวงมาลัย.  (ผู้เ รียบเรียง).  (2558).  10 ตุลาคม 2558 วันสุขภาพจิตโลก.  เข้าถึงได้จาก  http://www.prdmh.com/สาระสุขภาพจิต/สาระน่ารู้สุขภาพจิต/276-10…

ทวีศิลป์  วิษณุโยธิน.  (ผู้เ รียบเรียง).  (2556).  วันสุขภาพจิตโลก.   เข้าถึงได้จาก  https://guru.sanook.com/6145/

นันท์นภัส อประสานทอง.  (ผู้เ รียบเรียง).  (2559).  สุขภาพจิตดี ใครๆก็สร้างได้.  เข้าถึงได้จาก   http://www.sorporsor.com/ดูสาระน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต-ทั้งหมด/656-สุขภาพจิตดี-ใครๆก็สร้างได้.html

เพียรดี เปี่ยมมงคล.  (2553).  การพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต.  กรุงเทพฯ: ธรรมสาร.

อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย.  (2556).  การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช.  กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

วันสุขภาพจิตโลก World Mental Health Day

แนะนำหนังสือ อื่นๆ ในห้องสมุด ที่เกี่ยวข้อง

ห้องสมุด แนะนำวันสำคัญต่างๆ

แนะนำวารสาร อื่นๆ ในห้องสมุด ที่เกี่ยวข้อง