วันรัฐธรรมนูญ

10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ  เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับแรกอันเป็นฉบับถาวร ให้แก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งมีพระราชดำรัสในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญดังนี้ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” (ศิริวรรณ คุ้มโห้, 2546, น. 221)

ความหมายรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ (Constitution) คือ กฎหมายหรือกฎเกณฑ์อันสูงสุดที่มีความสำคัญยิ่ง เป็นรากฐานในการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ  รัฐธรรมนูญมีความหมายได้ 2 นัย คืออย่างกว้าง หมายถึง ระบบการปกครองของประเทศทั้งที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และมิได้เป็นลายลักษณ์อักษร คือรวมถึงประเพณีปฏิบัติตลอดจนคำพิพากษาสำคัญๆ ด้วย (อุทัย สินธุสาร, 2531, น. 3735)
รัฐธรรมนูญ (รัดถะทำมะนูน, รัดทำมะนูน) ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง บทกฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบการปกครองประเทศกำหนดรูปแบบและระบอบการปกครองของประเทศ สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของประชาชน อำนาจหน้าที่ขององค์กร และความสัมพันธ์ระหว่างองค์การ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, น.987)

วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ภาพ พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 10 ธันวาคม 2475: https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_4732

ประวัติความเป็นมา

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีบุคคลคณะหนึ่งทั้งทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ตั้งชื่อว่า “คณะราษฎร” ได้รวมกำลังกันเข้ายึดอำนาจการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และอัญเชิญพระองค์เสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารว่า ทรงเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อเป็นจลาจลเดือดร้อนเสียหายแก่บ้านเมือง และอันที่จริงได้ทรงพระราชดำริเรื่องนี้อยู่แล้ว คือ มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามรัฐธรรมนูญ จึงทรงยอมรับที่จะช่วยให้การตั้งรัฐบาลตามรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งรัฐธรรมนูญโดยสะดวก เพราะถ้าพระองค์ไม่ทรงยอมรับรอง นานาประเทศจะไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่ก็จะเป็นความลำบากยุ่งยากยิ่งขึ้น พระราชกิจแรกหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น คือพระราชทานพระราชกำหนดนิรโทษกรรม ซึ่งมีข้อสำคัญว่าการกระทำของคณะราษฎรในครั้งนี้หากจะเป็นการละเมิดกฎหมายใดๆก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย ครั้นถึงวันที่ 27 มิถุนายน จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้ใช้ไปพลางก่อน พร้อมโปรดให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ใช้เวลา 7 เดือน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม (TK Park: สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, 2557)

คณะราษฎรสายทหารบก
ภาพ คณะราษฎรสายทหารบก: http://www.wikiwand.com/th/คณะราษฎร
คณะราษฎรสายทหารเรือ
ภาพ คณะราษฎรสายทหารเรือ: http://www.wikiwand.com/th/คณะราษฎร#/สมาชิกคณะราษฎร

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ภาพอดีต-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล อันเป็นแบบที่ชนะการประกวดการออกแบบอนุสาวรีย์แห่งนี้ การออกแบบได้นำสถาปัตยกรรมแบบไทยมาผสมผสาน ตรงกลางเป็นสมุดไทยที่สื่อถึงรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า นอกจากการเป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงประชาธิปไตยนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้ ยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทย (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2561)

รัฐธรรมนูญในปัจจุบัน(พ.ศ.2561)

นับแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงปี 2560 รวมเวลาผ่านมา 85 ปี มีกฎหมายหลักของประเทศ คือ “รัฐธรรมนูญ” และ “ธรรมนูญ” สำหรับปกครองประเทศ (สมหมาย จันทร์เรือง, 2552) จำนวน 20 ฉบับ และล่าสุดฉบับที่ 20 ได้แก่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งจัดร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในระหว่าง พ.ศ. 2557–2560 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร และมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2560)


ราชบัณฑิตยสถาน.  (2556).  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554.  กรุงเทพฯ: ผู้แต่ง.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  (2560).  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.  เข้าถึงได้จาก
https://th.wikipedia.org/wiki/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พุทธศักราช_2560

ศิริวรรณ คุ้มโห้.  (2546).  วันและประเพณีสำคัญ.  กรุงเทพฯ: เดอะบุคส์.

สมชาย จันทร์เรือง.  (2552).  รัฐธรรมนูญไทยกับการศึกษา.  วารสารนิติศาสตร์, 3(1), 8 – 20.

อุทัย สินธุสาร.  (2531).  สารานุกรมไทยฉบับ ดร.อุทัย สินธุสาร.  กรุงเทพฯ: สุมาลัย สังฆมณีและบุตร.

วิกิพีเดีย. (3 กันยายน 2561). อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย. เข้าถึงได้จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี: https://th.wikipedia.org/wiki/อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

TK Park: สำนักงานอุทยานการเรียนรู้.  (2557).  10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ.  เข้าถึงได้จาก https://www.tkpark.or.th/eng/articles_detail/205/10-ธันวาคม-วันรัฐธรรมนูญ

ม.สยาม+มหาวิทยาลัยสยาม+siam university-logo+ห้องสมุด

วันรัฐธรรมนูญ Constitution Day

อื่นๆ เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม

วันสำคัญ